โควิดมอบประสบการณ์ครั้งแรก! รอบ 17 ปี 'อีฟแอนด์บอย' ยอดหด เมกอัพดิ่ง

โควิดมอบประสบการณ์ครั้งแรก! รอบ 17 ปี  'อีฟแอนด์บอย' ยอดหด เมกอัพดิ่ง

ผู้หญิงหย่าหยุดสวย..ประโยคที่ทำให้สาวๆต้องดูแลตัวเอง แต่งเสริมเติมใบหน้าด้วยเครื่องสำอางอยู่เสมอ แต่โควิด ผู้คนทำงานที่บ้าน ลดพบปะผู้คน ส่งผลต่อบิสตี้สโตร์ อ่านบทเรียน "อีฟแอนด์บอย" เจอโจทย์ยากรอบ 17 ปี พลิกเกมสู้อย่างไรเพื่อรอดและโตต่อ

17 ปี เป็นย่างก้าวธุรกิจค้าปลีกจำหน่ายเครื่องสำอางของร้าน “อีฟแอนด์บอย” ที่ขับเคลื่อนโดยแม่ทัพหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง หิรัญ ตันมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีฟแอนด์บอย จำกัด

ตลอดเส้นทางธุรกิจ “อีฟแอนด์บอย” สร้างร้านเพราะเห็นธุรกิจ “โชห่วย” ภูธรของครอบครัวกำลังเผชิญการต่อสู้ครั้งสำคัญบนสังเวียนค้าปลีก นั่นคือการรุกคืบของห้างค้าปลีกสมัยใหม่(Modertrade)หลากแบรนด์ดาหน้าเข้าไทย

เมื่อมองว่าการค้าขายแบบเดิมๆ ร้านที่ทำทุกอย่างทั้งคิดเลขผ่านสมอง สองมือหยิบจัดสินค้า จัดร้าน คงอยู่ยาก ยิ่งกว่านั้น “กำไร” ที่บางสุดๆ อาจทำให้ธุรกิจไปไม่รอด จึงต้องพลิกศาสตร์สู้ ด้วยการเปิดร้านขายสินค้าเครื่องสำอาง นำหอม สารพัดแบรนด์ภายใต้ “อีฟแอนด์บอย”

ทั้งนี้ ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา อีฟแอนด์บอย เติบโตอย่างต่อเนื่อง การขยายสาขาค่อยเป็นค่อยไป ปัจจุบันมีร้านทั้งสิ้น 16 สาขา ในกรุงเทพฯ 12 สาขา และต่างจังหวัด 4 สาขา ส่วนยอดขายสูงสุดเกิดขึ้นปี 2562 มูลค่าสูงถึง 4,600 ล้านบาท ซึ่งปีนั้นบริษัทยังวางแผน 3-5 ปี ในการสานอาณาจักรย่อมๆของอีฟแอนด์บอย ให้มียอดขายทะลุ 10,000 ล้านบาท

ทว่า วิกฤติโควิด-19 ดับฝันเป้าหมาย และยังมอบประสบการณ์ใหม่เป็น “ครั้งแรก” ให้บริษัทต้องรับมือมากมาย

“โควิด-19 ทำให้เจอเหตุการณ์ครั้งแรกทั้ง ยอดขายตก จากที่โตมาตลอด ส่วนสินค้าขายดีอย่างกลุ่มสีสันหรือเมกอัพ ปกติมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 40% ยังเป็นครั้งแรกที่ลดเหลือ 29% ที่สำคัญยังเป็นครั้งแรกที่บริษัทปรับตัวรุกขายสินค้าผ่านออนไลน์” หิรัญ เล่าอย่างออกรส

เจาะลึกด้านยอดขาย 17 ปีที่ผ่านมาอย่าว่าแต่ยอดขายตกไม่เคยเจอ การเติบโตยังเป็นอัตรา 2 หลักต่อเนื่อง อัตรา 1 หลักไม่เคยเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งนี้ช่วงวิกฤติโควิด ทำให้ยอดขายปี 2564 หดตัวมากถึง 30%

++ครั้งแรกเมกอัพทำเงินต่ำกว่า 40%

การค้าขายที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มสีสันหรือ Make up ทำเงินมากสุด อย่างปี 2561 มีสัดส่วนการขายมากถึง 48% ตามด้วยผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(Skincare) 35% และน้ำหอม 6% ที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นๆ

โควิดมอบประสบการณ์ครั้งแรก! รอบ 17 ปี  'อีฟแอนด์บอย' ยอดหด เมกอัพดิ่ง ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคในการซื้อเครื่องสำอางกลุ่มสีสัน หากเจอของใหม่ถูกใจ จะซื้อเพิ่มทันที แม้ของเดิมที่มีจะยังใช้ไม่หมด เทียบกับสกินแคร์ใช้หมดค่อยซื้อ หากส่องไลฟ์สไตล์การชอปปิงเมกอัพที่ร้านอีฟแอนด์บอยพบสถิติสาวๆซื้อเฉลี่ย 6 ครั้งต่อปี ส่วนเคาท์เตอร์แบรนด์ช้อปเฉลี่ย 2 ครั้งต่อปี

หนึ่งในสินค้าที่พลิกตลาดเมกอัพคือ “คิ้วเปลี่ยนโลก” เมื่อสาวๆยกให้คิ้วคือมงกุฎของใบหน้า มีคิ้วแล้ว ทุกอย่างก็จะดูคิ้วๆน่ารัก สวยสดใส่ขึ้น

“สาวๆไม่ทาลิปสติกไดได้ แต่ไม่มีคิ้วไม่ได้ คิ้วเปลี่ยนโลกเมกอัพจริงๆ” หิรัญ ฉาย Insight ผู้บริโภครักสวยรักงาม

อย่างไรก็ตาม เมกอัพที่เคยทำเงินให้อีฟแอนด์บอยเป็นกอบเป็นกำ แต่จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้การขายสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น เพราะการทำงานที่บ้าน อยู่บ้านมากขึ้น ไม่ต้องแต่งเสริมเติมสวย หน้าตาไม่ต้องแต่งแต้มสีสัน แต่สกินแคร์ต้องดูแลให้ผ่องแผ้วมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปี 2564 เมกอัพมีสัดส่วนยอดขาย 29% โดยสกินแคร์ทำเงินแซงหน้าเป็น 38% ส่วนที่น่าสนใจเพิ่มคือ “น้ำหอม” สัดส่วนขายเพิ่มเป็น 14% จากเดิม 6% เนื่องจากผู้บริโภคใช้น้ำหอมเพื่อความรู้สึกผ่อนคลาย เติมสุขให้ตนเอง

“เป็นครั้งแรกที่เมกอัพมีสัดส่วนยอดขายต่ำกว่า 40% ส่วนน้ำหอมผู้บริโภคใช้เพื่อผ่อนคลายในชีวิตประจำวัน จึงเห็นการใช้เทียนหอม อโรมา น้ำหอมสำหรับภายในบ้าน ผมเองยังซื้อน้ำหอมมากขึ้นกว่าเดิมเลย”

อีกสินค้าที่ฮิตฮอตคือ “ครีมกันแดด” เพราะซัมเมอร์นี้ยอดขายเติบโต 4-5 เท่า ไม่เพียงอากาศร้อนเป็นใจ แต่ผู้บริโภค นักเดินทางเริ่มกลับมาท่องเที่ยว ไปทะเลกันคึกคัก เทียบปีก่อน แทบไม่ไปเยือนจุดหมายใดๆเลย

++คิกออฟออนไลน์เพราะโควิด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าไวรัสร้ายพลิกโลกการค้าขาย พฤติกรรมผู้บริโภคจริงๆ เพราะรัฐสกัดการแพร่ระบาดเชื้อโรค จึงงัดมาตรการ “ล็อกดาวน์” มาใช้กับหลากธุรกิจ “ค้าปลีก” โดนหนักไม่น้อย การปิดร้านทำให้ช่องทางขาย ทำเงินถูกปิดตายชั่วขณะ แต่องค์กรธุรกิจมี “รายจ่าย” ที่วิ่งทุกวัน ทั้งค่าพนักงาน ต้นทุนคงที่ต่างๆ หากไม่แก้เกมจะลำบาก เงินทองร่อยหรอ กำไรสะสมถูกนำมาใช้

โควิดมอบประสบการณ์ครั้งแรก! รอบ 17 ปี  'อีฟแอนด์บอย' ยอดหด เมกอัพดิ่ง ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภค หันไปชอปปิงออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม จึงเป็นเวลาที่ “อีฟแอนด์บอย” จะคิกออฟสู่ช่องทางอีคอมเมิร์ซ โดยเปิดบ้านกับ “ลาซาด้า” ก่อนขยายมาสร้างหน้าร้านออนไลน์ของตัวเอง

ทั้งนี้ การขายออนไลน์ผลตอบรับดี การจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงลูกค้า(Traffic)ทำให้มียอดคนเข้าใช้งานจำนวนมาก ยิ่งเมกะเซลล์ต่างๆ ลูกค้าเข้าขาชอปแตะ 1 ล้านราย ส่วนยอดซื้อต่อบิลออนไลน์เฉลี่ยสูงถึง 2,000 เทียบหน้าร้านซื้อต่อบิลเพียง 1,000 บาทเท่านั้น

ปี 2564 อีฟแอนด์บอยมียอดขายเครื่องสำอางผ่านออนไลน์เติบโต 425 ล้านบาท ปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายแตะ 500 ล้านบาท

++ปี 65 เดินหน้าตามแผน

สำหรับแผนดำเนินธุรกิจปี 2565 บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 240 เพื่อเปิดร้านอีฟแอนด์บอย 3 สาขา ประเดิมแห่งใหม่ที่เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เนื้อที่ 600 ตารางเมตร(ตร.ม.) และจะเปิดที่ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ส่วนอีกสาขายังไม่เปิดเผย

ทั้งนี้ โมเดลร้านมีทั้งสิ้น 3 ขนาด ได้แก่ ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตั้งแต่ 300 ตร.ม. 600 ตร.ม. และ 1,800 ตร.ม. ส่วนสินค้าที่วางจำหน่ายมีตั้งแต่ 10,000 รายการ(SKU) ไปจนถึง 40,000 SKU โดยปี 2565 บริษัทยังนำสินค้าแบรนด์ใหม่เพิ่ม 40% มาเติมพอร์ตสร้างความหลากหลาย จากปัจจุบันมีสินค้านับ “พันแบรนด์” ตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

โควิดมอบประสบการณ์ครั้งแรก! รอบ 17 ปี  'อีฟแอนด์บอย' ยอดหด เมกอัพดิ่ง หิรัญ เล่าว่า เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย แบรนด์เครื่องสำอางเร่งกลับมากระตุ้นยอดขาย สร้างการเติบโตเชิงรุก หนึ่งในกลยุทธ์คือมอบภารกิจให้กับร้านค้าพันธมิตรเป็นอีกแรงผลักสำคัญ ขณะที่ภาพรวมตลาดค้าปลีกเครื่องสำอางก็เปลี่ยน เพราะร้านเดี่ยวเริ่มแก้เกมหันไปขยายช่องทางใหม่ๆ พึ่งพาพันธมิตรมากขึ้น ส่วนร้านมัลติแบรนด์ที่เคยเปิดแข่งกัน เริ่มปิดร้าน ลดสาขา เพราะแบกรับผลกระทบโรคระบาดไม่ไหว

++ไม่ทิ้งภารกิจยอดขาย “หมื่นล้าน”

วิกฤติมาเยือนอาจทำให้เป้าหมายยอดขาย “หมื่นล้านบาท” ต้องสะดุดชั่วขณะ ทว่า “หิรัญ” ยังคงวิสัยทัศน์สร้างการเติบโตดังกล่าวไว้ และมอง 3 ปีข้างหน้าเช่นเดิม เพียงแต่อาจขยับออกไปเล็กน้อย เพราะเดิมบริษัทสตาร์ทแผนจากปี 2562 โดยด่านแรกคือการฟื้นยอดขายปี 2565 ให้กลับไประดับ 4,600 ล้านบาท เท่ากับปี 2561 อีกครั้ง โดยมียอดขายออนไลน์เติมมาไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท หรือรวมปีนี้มูลค่าจะทะลุ 5,000 ล้านบาทได้

“ก่อนโควิด อีฟแอนด์บอยโตเยอะมาก ปี 2561-2562 เติบโตราว 20% การเกิดดควิด เป็นครั้งแรกที่เราเผชิญวิกฤติ ยอดขายหดตัว เป็นบทเรียนที่ดีมากให้เราและทีมงาน ทำให้เรารู้..ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะต้องเตรียมพร้อมเสมอ และปรับตัวทุกอย่างให้เร็วสุด เพื่ออยู่รอด อย่างไรก็ตาม ด้านยอดขายหากแตะหมื่นล้าน อีฟแอนด์บอย ยังคงห่างคู่แข่งราวเท่าตัว”

สำหรับภาพรวมไตรมาส 1 ตลาดเครื่องสำอางเริ่มฟื้นตัวเร็วมาก ไม่แค่ไทย แต่ประเทศที่โควิดคลี่คลาย สาวๆกลับมาช้อปเพื่อสวยล้างแค้นมากขึ้น ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และไทย

ส่วนแนวโน้มต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลาดเครื่องสำอางถือว่าโชคดี เพราะผู้ประกอบการเลือกที่จะอัดโปรโมชั่นอย่างหนัก จัดดีลดีเด็ดดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายทำให้ได้ “ราคาคุ้มค่า”