หัวรถจักรไอน้ำสมัยปี 2492 ‘ประวัติศาสตร์รถไฟ’ ใช้งานถึงปัจจุบัน

หัวรถจักรไอน้ำสมัยปี 2492 ‘ประวัติศาสตร์รถไฟ’ ใช้งานถึงปัจจุบัน

เปิดประวัติหัวรถจักร “การรถไฟแห่งประเทศไทย” จากกระแสท่อนแรป “รถไฟสมัย ร.5 ใช้มาแล้ว 124 ปี” พบปัจจุบันเปิดให้ประชาชนใช้บริการขบวนเก่าแก่สุดจากปี 2492

จากท่อนแรปของ “มิลลิ ดนุภา” (MILLI) ศิลปินไทยที่ได้มีโอกาสไปแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ระดับโลกอย่าง Coachella ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีท่อนหนึ่งกล่าวถึง “รถไฟสมัย ร.5 ใช้มาแล้ว 124 ปี” เป็นที่มาของการค้นหาข้อมูลรถไฟไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่ามีอายุถึง 124 ปีหรือไม่

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงข้อมูลหัวรถจักรที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยระบุว่า รถไฟที่ใช้งานรับส่งผู้โดยสารในปัจจุบันนั้น มีหัวรถจักรที่เก่าแก่ คือ หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Davenport รุ่น 500 แรงม้า ที่นำเข้ามาในใช้งานในปี 2507 อายุราว 60 ปี แต่ปัจจุบันไม่ได้นำมาใช้งานขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก เพียงแต่นำมาสับเปลี่ยนตู้โดยสารตามสถานีใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเท่านั้น

ส่วนหัวรถจักรที่มีการใช้งานขนส่งหลักในขณะนี้ คือ รถไฟหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Alsthom AD24C ที่เริ่มนำเข้ามาใช้งานปี 2517 และหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า รุ่น General Electric UM12C นำเข้ามาในช่วงปี 2507-2509  ซึ่งยังมีการใช้งานอยู่ทั้งสิ้น 45 คัน ดังนั้นอายุของหัวรถจักรที่การรถไฟฯ นำมาให้บริการนั้นส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 48 – 58 ปี 

หัวรถจักรไอน้ำสมัยปี 2492 ‘ประวัติศาสตร์รถไฟ’ ใช้งานถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังมีหัวรถจักรไอน้ำที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดและยังสามารถใช้งานได้ในปัจจุบันแต่จะนำมาให้บริการ 6 วันสำคัญ คือ “หัวรถจักรไอน้ำ แปซิฟิก หมายเลข 850” มีการนำเข้ามาเมื่อปี 2492 – 2493 อายุราว 73 ปี เป็นรถจักรไอน้ำรุ่นสุดท้ายที่สั่งนำเข้ามาเพื่อใช้ทดแทนรถจักรที่เสียหายจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการดัดแปลงมาใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทนฟืน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนไม้ฟืน ปัจจุบันการรถไฟฯ เก็บรักษาและซ่อมบำรุงไว้ที่โรงรถจักรธนบุรี เพื่อนำมาใช้ลากจูงขบวนรถที่จัดเดินในโอกาสพิเศษในวันสำคัญปีละ 6 ครั้ง

โดยโอกาสพิเศษที่จะนำหัวรถจักรไอน้ำแปซิฟิกมาให้บริการนั้น ประกอบด้วย

1. วันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี วันสถาปนากิจการรถไฟ เส้นทางกรุงเทพฯ-อยุธยา

2. วันที่ 3 มิถุนายน ของทุกปี วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณพระบรมราชินี เส้นทางกรุงเทพฯ-นครปฐม

3. วันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปี วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เส้นทางกรุงเทพฯ-อยุธยา

4. วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี วันแม่แห่งชาติ เส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา

5. วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี วันปิยมหาราช เส้นทางกรุงเทพฯ-อยุธยา

6. วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ เส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา

หัวรถจักรไอน้ำสมัยปี 2492 ‘ประวัติศาสตร์รถไฟ’ ใช้งานถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ รูปโฉมบริการของการรถไฟฯ เรียกได้ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะถูกปรับเปลี่ยนอย่างมาก เพราะขณะนี้การรถไฟฯ ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านจากหัวรถจักรที่ใช้งานมานาน กำลังทยอยรับมอบหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 50 คัน ที่ได้ลงนามจัดหากับกิจการร่วมค้าเอสเอฟอาร์ ร่วมทุนระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยรถจักรดังกล่าว ผลิตโดยบริษัท CRRC QISHUYAN CO., LTD. ผู้ผลิตรถจักรชั้นนำจากประเทศจีน

ซึ่งรถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าว สามารถรลากจูงขบวนรถโดยสารได้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลากจูงขบวนรถสินค้าที่ความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (Automatic Train Protection – ATP) มีเครื่องยนต์รถจักรผลิตจากประเทศเยอรมนี ปล่อยควันไอเสียต่ำ และยังได้ติดตั้งระบบกล้อง CCTV บันทึกเหตุการณ์ด้านหน้ารถจักรและเครื่องพ่วงเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินรถ

นอกจากนี้ การรถไฟฯ กำลังจะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีขนส่งทางรางอย่างรถไฟความเร็วสูง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย - จีน และกำลังเดินหน้าความร่วมมือกับภาคเอกชนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)