แก้อาหารสัตว์แพงไม่คืบ ดันไข่-หมูขึ้นราคา จี้ “จุรินทร์” เร่งเคลียร์ปัญหา

แก้อาหารสัตว์แพงไม่คืบ ดันไข่-หมูขึ้นราคา  จี้ “จุรินทร์” เร่งเคลียร์ปัญหา

ผู้บริโภครับสภาพ ไข่-หมู พาเหรดปรับราคาถ้วนหน้า หลังกระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อืด “วัดใจ” “จุรินทร์”ทุบโต๊ะปลดล็อคปัญหา

ราคาสินค้าของไทยเตรียมทยอยปรับราคาขึ้นจากต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นทั้งราคาน้ำมัน อาหารสัตว์ ล่าสุดไข่คละ หน้าฟาร์มปรับขึ้นราคาอี10 สต. เป็นฟองละ 3.50 บาท ส่วนหมูเป็น ขยับขึ้นด้วยอีกกิโลละ 2-4 บาท  เนื่องจากทนแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ที่พุ่งสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โลก

จากการตรวจสอบราคาอาหารสัตว์ล่าสุดจากเว็บไซต์สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ล่าสุด เดือนมี.ค.65 ข้าวโพด กก.ละ 12.70 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ.65 ที่กก.ละ 11.11 บาท, กากถั่วเหลือง กก.ละ 21.31 บาท เพิ่มจาก 19.78 บาท รำสด  กก.ลพ 11.42 บาท เพิ่มจาก 10.74 บาท ปลายข้าว กก.ละ 12.41 บาท เพิ่มจาก 11.85 บาท มันเส้น กก.ละ 8.19 บาท เพิ่มจาก 7.85 บาท ขณะที่ราคาข้าวโพดที่ตลาดล่วงหน้าในสหรัฐ ส่งมอบเดือนพ.ค.65 อยู่ที่บุช เชลละ 8 เหรียญฯ (กก.ละ 10 บาทกว่า) สูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

ทั้งนี้เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ผลผลิตของทั้ง 2 ประเทศลดลง และทำให้ความต้องการธัญพืชของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า การเพาะปลูกข้าวโพดรอบต่อไปของยูเครนอาจลดลงเกือบ 40% จากปีที่แล้ว ขณะที่เกษตรกรในสหรัฐฯ เตรียมปลูกถั่วเหลืองมากกว่าข้าวโพดเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน เพราะราคาปุ๋ยที่สูงเป็นประวัติการณ์ กระตุ้นให้ผู้ปลูกเลิกใช้เมล็ดพืช ที่ต้องใช้ต้นทุนทางด้านปุ๋ยสูง 

แก้อาหารสัตว์แพงไม่คืบ ดันไข่-หมูขึ้นราคา  จี้ “จุรินทร์” เร่งเคลียร์ปัญหา

ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นปัญหาเร่งด่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีมติเบื้องต้นยกเลิกใช้มาตรการ 3 ต่อ1  หรือมาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน  เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเข้าข้าวสาลีได้อย่างเสรี ภายใต้เงื่อนไข ต้องนำเข้าได้ถึงวันที่ 31 ก.ค. 65 เท่านั้น แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีการยกเลิก เนื่องจากยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างสมาคมที่นำเข้าวัตถุดิบและสมาคมชาวพืชไร่ กลายเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่ข้อยุติ จนเวลาล่วงเลยมาหลายสัปดาห์

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ที่มีอำนาจในการที่จะตัดสินใจขั้นเด็ดขาดในการแก้ปัญหาก็ยังยื้อเวลา โดยให้เหตุผลว่า   การแก้ปัญหาวัตุดิบอาหารสัตว์ ทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์ร่วมกันไม่เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งสมาคมผู้ปลูกพืชไร่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ และผู้บริโภค  

ทั้งนี้เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงหมูได้ทำหนังสือด่วนถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้เร่งเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา พิจารณาเห็นชอบตามมติจากการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ในการผ่อนคลายอากรขาเข้าเป็น 0% สำหรับการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามกรอบ ดับบลิวทีโอ แต่จนถึงขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่เร่งเสนอให้ครม.พิจารณาแต่อย่างใด

ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่ก็ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งพิจารณาแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบ และอาหารสัตว์โดยเร็ว โดยกลุ่มผู้ใช้ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้ยื่นข้อเสนอการแก้ปัญหาไป 3 ข้อ  โดยอยากให้กระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาโดยเร็ว เพราะกลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ หมู ไม่อยากขึ้นราคาขายซ้ำเติมค่าครองชีพคนไทยอีกแล้ว แต่ถ้าไม่ขึ้นราคา เราก็อยู่ไม่ได้

ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังเป็นปัญหาที่หาข้อยุติไม่ได้ เพราะสมาคมที่เกี่ยวข้องยังคงยึดประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ไม่ยอมพบกันครึ่งทางเพื่อให้ปัญหายุติ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ซึ่งมีข้อมูลอยู่แล้ว น่าจะตัดสินใจเด็ดขาดเพื่อแก้ปัญหานี้ให้เสร็จสิ้น  แต่ก็ไม่กล้า”ฟันธง” ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า หากตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อฐานเสียงทางการเมือง และอาจมีม็อบออกมากดดันรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้เวลาที่รัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระ ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ จึงทำให้การแก้ปัญหาราคาอาหารสัตว์คาราคาซังมาจนทุกวันนี้

คงต้อง”วัดใจ”คนชื่อ”จุรินทร์”จะเคลียร์ปัญหานี้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ ขณะนี้ผู้บริโภคต้องเป็นผู้แบกภาระราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้ามหาชนอย่าง”ไก่ ไข่ หมู”