'เกรียงไกร เธียรนุกุล' ว่าที่ประธานคนใหม่ นำ ส.อ.ท.ฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ

'เกรียงไกร เธียรนุกุล' ว่าที่ประธานคนใหม่  นำ ส.อ.ท.ฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ

ในวันที่ 28 มี.ค. นี้ จะเป็นการประชุมสามัญประจำปี 2565 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมทั้งจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการ ส.อ.ท. วาระปี 2565-2567

โดยมีตัวเก็งประธาน ส.อ.ท. คนใหม่แทน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ที่ครบวาระ คือ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. ประธานสายงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม รับผิดชอบดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์

นายเกรียงไกร เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางการทำงานของ ส.อ.ท. จะเป็นการทำงานสานต่อในเรื่องที่กำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญอันดับแรกในการช่วยให้สมาชิกทั้งหมด 45 กลุ่มอุตสาหกรรม สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เกิดการยกระดับการผลิตด้วยระบบดิจิทัลและออโตเมชั่น เพิ่มปริมาณและคุณภาพในการผลิต รวมทั้งการฝึกทักษะบุคคลากรด้วยการ Upskill และ Reskill ให้สามารถสร้างคุณภาพของสินค้าและบริการที่สูงขึ้น

พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและหาสินค้าใหม่ที่ไทยได้เปรียบและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจบีซีจี ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 

“งานเหล่านี้เป็นงานที่ผมทำอยู่แล้วในฐานะรองประธาน ส.อ.ท. ซึ่งผมต้องการสานต่อเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป”

เร่งแก้ปัญหาใหญ่ปี 2022

ช่วงปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้ผ่านความท้าทายมาหลายระดับ ทั้งดิสรัปชั่นด้านความรู้และการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งความท้าทายจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับทำให้เศรษฐกิจทั้งโลก ทั้งการค้าขาย การท่องเที่ยวที่หยุดลง ขณะที่เครื่องยนต์ที่ยังผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ยังเดินหน้าอยู่ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ คือภาคอุตสาหกรรม ที่ยังขับเคลื่อนได้ ดูได้จากตัวเลขการส่งออกในปี 64 ที่ขยายตัวถึง 17.1 %

ทว่าไม่นานนี้ที่ปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครนได้ปะทุขึ้น สิ่งที่กังวลคือราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซ ที่มีราคาผันผวน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า แม้ว่าการส่งออกไทยกับรัสเซียจะมีสัดส่วนเพียง 0.38 % หรือมูลค่า 33,00 ล้านบาท 

แต่ผลกระทบทางอ้อมมีมากกว่า คือ ราคาพลังงาน วัตถุดิบ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียมราคาพุ่งกระฉูด โดยราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขึ้นมาถึง 200 ดอลลาร์ต่อตัน และมีโอกาสเพิ่มถึง 1,100-1,200 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตได้รับผลกระทบอย่างหลีกไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง

นอกจากนี้ มาตราแซงชั่นจากสหรัฐและพันธมิตรเกิดการขาดซัพพลายเชน ทั้งปุ๋ยเคมี ที่รัสเซีย ยูเครน เบรารุส เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่โลก แม้ประเทศไทยจะไม่ได้นำเข้าโดยตรงแต่เมื่อปุ๋ยหายไปจากตลาดโลกราคาก็ปรับขึ้น ซึ่งจะกระทบกับภาคเกษตรและอาหารของไทย