ลุ้น 1 พ.ค. “พลังงาน” ตรึงดีเซลได้แค่ไหน? “ธุรกิจขนส่งสินค้า” ขึ้นแน่ 15-20%

ลุ้น 1 พ.ค. “พลังงาน” ตรึงดีเซลได้แค่ไหน? “ธุรกิจขนส่งสินค้า” ขึ้นแน่ 15-20%

ลุ้น 1 พ.ค. นี้ “พลังงาน” ศึกษาใช้ 3 มาตรการ “ปรับขึ้นขั้นบันได-ต่อลดภาษี-อิงราคาอาเซียน” พยุง “ดีเซล” ไม่ให้กระทบประชาชนทันที ห่วง “กองทุนน้ำมัน” แบกภาระลิตรละกว่า 10 บาท ติดลบกว่า 5 หมื่นล้าน ด้าน “รถบรรทุก” จ่อขึ้นค่าขนส่ง 15-20%

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือทั้งกระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมมาตการตรึงราคาดีเซล ที่เบื้องต้นจะปล่อยให้ราคาที่เคยอุ้มไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ขยับขึ้นตามกลไกตลาดโลกในวันที่ 1 พ.ค.2565

อีกทั้งการลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาท รวม 3 เดือน โดยจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 20 พ.ค.2565 ซึ่งปัจจุบันราคาดีเซลที่ขายหน้าปั๊มอยู่ที่ลิตรละ 29.94 บาท โดย “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” อุดหนุนลิตรละกว่า 10 บาท ซึ่ง นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ภายในเดือน เม.ย.2565 จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการกู้เงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายหลังวันที่ 30 เม.ย.2565 รัฐบาลจะปล่อยราคาดีเซลเกินลิตรละ 30 บาท และจะพยุงราคา 50% ในส่วนที่เกิน 30 บาท แต่หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังสูงขึ้นต่อเนื่องจะทำให้การช่วยเหลือในสัดส่วน 50% ดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ หากคำนวนราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังสูงอยู่จะส่งผลให้วันที่ 1 พ.ค.2565 ราคาขายดีเซลหน้าปั๊มจะอยู่ที่ลิตรละราว 40 บาท หากรัฐช่วย 50% จะอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท ซึ่งรัฐบาลยังมีความกังวลว่าราคายังสูงเกินไป และอาจส่งผลกระทบกับประชาชน รวมไปถึงการบวกขึ้นของค่าขนส่ง และความกังวลในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ จึงออกเป็นแนวทางเบื้องต้น คือ

1. ปรับขึ้นราคาทีละสเต็ป โดยปรับราคาเป็น 32 บาทต่อลิตร

2. ขยายเวลาส่วนลดภาษีดีเซล โดยการลดภาษี (ก.พ.-พ.ค.2565) รัฐเสียรายได้ 17,000 ล้านบาท

3. อิงราคาดีเซลอาเซียน เช่น เวียดนาม ปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ลิตรละ 35-36 บาท

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 1 พ.ค.นี้ ผู้ประกอบการขนส่งจะมีการปรับขึ้นค่าขนส่ง 15-20% หลังรัฐบาลยกเลิกมาตรการตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท และจะทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นแบบขั้นบันไดแทน

ทั้งนี้ ราคาดีเซลที่เพิ่มขึ้นลิตรละ 1 บาท จะส่งผลให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 3% และส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าของผู้ผลิตต้องปรับราคาขึ้นตามไปด้วยอย่างน้อย 20% ขณะที่จุดคุ้มทุนของค่าขนส่งราคาน้ำมันดีเซลควรอยู่ที่ลิตรละ 25 บาท

“ผู้ประกอบการขนส่งเตรียมปรับค่าขนส่งทั่วประเทศขึ้นขั้นต่ำ 15% หรืออาจมากกว่า 20% ตามกลไกตลาดเพื่อให้สะท้อนต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างแท้จริง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป และจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง และหากผู้ผลิตไม่ยอมรับการปรับขึ้นค่าขนส่ง ผู้ประกอบการรถบรรทุกอาจจะใช้มาตรการหยุดวิ่งรถบรรทุกบางส่วนก็เป็นได้” นายอภิชาต กล่าว

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถบรรทุกได้แบกภาระต้นทุนราคาน้ำมันไว้สูงมาก โดยอั้นไม่ขึ้นค่าขนส่งตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือเพิ่มเติม ผู้ประกอบการก็มีความจำเป็นต้องปรับราคาค่าขนส่งขึ้น เพื่อความอยู่รอด จึง อยากให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำมันแพง ประกอบด้วย

1. การปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลในภาคขนส่งลงเหลือลิตรละ 20 สตางค์ (เท่ากับน้ำมันที่ใช้กับเครื่องบิน)

2. ให้ยกเลิกการนำไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมในดีเซลชั่วคราว (คาดจะสามารถช่วยลดลงลิตรละ 1.50-2 บาท)

3. ยกเลิกการคำนวณค่าขนส่งน้ำมันของไทยที่เทียบกับราคาตลาดสิงคโปร์ที่รวมอยู่ในต้นทุน

รายงานข่าวระบุว่า ณ วันที่ 21 เม.ย.2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 11.31 บาท จากราคาจริงลิตรละ 41.25 บาท ขณะที่ประมาณการฐานะกองทุน ณ วันที่ 17 เม.ย.2565 ติดลบ 50,614 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้เงินอุดหนุนในบัญชีน้ำมันติดลบ 19,332 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 31,282 ล้านบาท