'รัฐบาล'ปรับโหมดฟื้นเศรษฐกิจ 'ประยุทธ์'สั่ง รมต.แถลงผลงาน พ.ค.นี้

'รัฐบาล'ปรับโหมดฟื้นเศรษฐกิจ 'ประยุทธ์'สั่ง รมต.แถลงผลงาน พ.ค.นี้

นายกฯ สั่งจัดเวทีระดมความเห็นนักธุรกิจ-ประชาชน พ.ค.นี้ ฟังข้อเสนอฟื้นฟูประเทศ พร้อมให้ รมต.เศรษฐกิจแถลงผลงาน “สุพัฒนพงษ์” ชี้ไทยเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ “โควิด-สงคราม” เงินกู้เหลือ 7.4 หมื่นล้าน “คลัง” ชี้มีเงินพอกระตุ้นเศรษฐกิจ ส.อ.ท.เสนอกู้เพิ่ม

การควบคุมโรคโควิด-19 กำลังเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในวันที่ 22 เม.ย.2565 จะมีข้อเสนอคลายมาตรการควบคุมโรค รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้หลังจากนี้เป็นช่วงการฟื้นฟูประเทศและจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคธุรกิจ ประชาชนและเยาวชนในเดือน พ.ค.2565

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า รัฐบาลจะรวบรวมเอาความเห็นมาจัดทำนโยบายรัฐบาลในระยะต่อไป โดยจะจัดในเดือน พ.ค.2565 และจะเสนอนายกรัฐมนตรีหลายรูปแบบ เช่น จัดเวทีสาธารณะ 1 ครั้ง จากนั้นมีเวทีย่อยในแต่ละประเด็นที่จะรวบรวมความเห็นให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ หรือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในลักษณะเวทีสาธารณะภายนอก ร่วมกับการเชิญตัวแทนกลุ่มต่างๆเข้ามาหารือกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันไม่ปกติจึงต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่มีทั้งโควิด-19 และราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจที่เกิดขึ้นพร้อมกัน

“ทุกประเทศเจอแบบเดียวกันหมด เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ หากอยากกลับไปอยู่สถานการณ์ปกติก็เป็นความหวังของทุกคน รัฐบาลก็หวังให้ประชาชนได้กลับไปสู่ปกติ เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นานพอสมควรแล้ว"

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแถลงผลการทำงานในกลางเดือน พ.ค.2565 เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่ารัฐบาลดำเนินการอะไรไปแล้ว ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะเจอทั้งโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลใดเจอแบบนี้ โดย 10 มาตรการที่รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนหากมีเหตุการณ์มากขึ้นก็มีมาตรการเพิ่มได้และไทยจะไม่ประมาท

สศช.ใช้เงินกู้ตามสถานการณ์

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปัจจุบันเงินวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาฟื้นฟู เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด พ.ศ.2564 คงเหลือ 74,000 ล้านบาท แต่ได้กันวงเงินกู้สำหรับคำขอใช้เงินกู้ไว้ให้กับหน่วยงานที่มีการขอใช้วงเงินไว้ 2 ส่วนแล้วประมาณ 26,000 ล้านบาท ได้แก่ วงเงินกู้สำหรับเศรษฐกิจฐานราก 10,000 ล้านบาท และวงเงินที่กันไว้สำหรับจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 16,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้เหลือวงเงิน 58,000 ล้านบาท ซึ่งการใช้เงินกู้ที่เหลือต้องดูตามความเหมาะสมของสถานการณ์

สำหรับงบกลางฯรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนในงบประมาณปี 2565 สำนักงบประมาณเปิดเผยว่าคงเหลือยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องมีการกันวงเงินไว้ใช้รองรับภัยพิบัติ หรือเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่อาจจะเกิดขึ้นประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี

เผยเงินกู้เหลือ7.4หมื่นล้าน

รายงานข่าวระบุว่า วงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่ ครม.อนุมัติโครงการต่างๆแล้วคงเหลือ 7.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสศช.ได้นำรายงานให้ ครม.รับทราบล่าสุดมีรายละเอียดคือได้มีการอนุมัติวงเงินในโครงการไปแล้วรวม 67 โครงการ วงเงินรวม 3.13 แสนล้านบาท ดังนี้

1.แผนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข วงเงินรวม 1.502 แสนล้านบาท อนุมุติไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาทเศษ คงเหลือ 20.8 ล้านบาท

2.แผนงานเยียวยา และดูแลค่าครองชีพประชาชนในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1.85 แสนล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 1.6 แสนล้านบาทเศษ คงเหลือวงเงิน 2.51 หมื่นล้านบาท

3.แผนงานเพื่อรักษาระดับการจ้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งโครงการเพื่อการกระตุ้นการใช้จ่ายและอุปโภคบริโภคในระบบ วงเงิน 1.64 แสนล้านบาท มีการอนุมัติโครงการไปแล้ว 1.15 แสนล้านบาทเศษ โดยมีวงเงินคงเหลือประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท

“คลัง”ยืนยันมีเงินฟื้นเศรษฐกิจ

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมองทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวอย่างน้อย 4% ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากมองว่าโควิด-19 จะเริ่มฟื้นตัว โดยภาคท่องเที่ยวจะดีขึ้นจากคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยจะมากกว่าปีก่อน แต่ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะสูงกว่าปกติโดยคาดว่าปีนี้เงินเฟ้อเฉลี่ยแตะ 5% จากที่หลายปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ

สำหรับเม็ดเงินสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ยังเหลือเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ใช้ไปแล้ว 313,000 ล้านบาท ทำให้เหลือเงินอีก 200,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ใช้ไปแล้ว 950,000 ล้านบาท ซึ่งจะยังมีเงินเหลืออยู่ที่จะสามารถใช้ในการดูแลเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โควิด-19

ชี้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยถือว่ายังแข็งแกร่งแม้อัตราเงินเฟ้อจะสูง แต่เชื่อจะปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราการว่างคาดว่าจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นโดยปัจจุบันทุนสำรองของไทยอยู่ที่ 242 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเกือบ 3 เท่า ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ก็ถือว่าฐานะการเงินของไทยมั่นคง ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสมดุล ขณะที่ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ก็อยู่ระดับต่ำ 3%

ส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60% ของจีดีพี ถือว่ายังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดให้รักษาระดับหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ของจีดีพี และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ของรัฐจะเป็นหนี้ระยะยาวอายุมากกว่า 1 ปี และเป็นหนี้สกุลเงินบาท 98% ต่างประเทศไม่ถึง 2% ของหนี้สาธารณะ

นายพิสิทธิ์ กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาท ในปีนี้คาดเฉลี่ย 33.1 บาทต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยปีที่แล้ว 3.4% แต่หากเทียบดัชนีค่าเงินเทียบกับ 15 ประเทศคู้ค่า คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงประมาณ 1.9% 

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าหลักมาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายมาจากดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลปี 2564 ขาดดุล 10.6 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากไทยมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก ขณะที่ดุลบริการติดลบ 50%

มั่นใจการท่องเที่ยวฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เชื่อว่ารายได้จากภาคท่องเที่ยวบริการจะช่วยหนุนเรื่องของค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นได้

สำหรับมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยงบประมาณปัจจุบันปี 65 มีการตั้งกรอบงบประมาณขาดดุล 7 แสนล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท เป็นการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องอยู่ที่ 69,5000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ปี 2565 มองว่าน่าจะเป็นที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% แม้ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะสูงขึ้นโดยในปีนี้อาจจะไปแตะ 5%

หนี้สาธารณะไม่เกิน70%

สำหรับนโยบายการคลังในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็ยังดำเนินนโยบายการคลังที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง และต้องยอมรับภาพที่จะเห็นหนี้สาธารณะต่อจีดีพีคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2565 ตัวเลขจะขึ้นไปอยู่ที่ 62.7% และมองไปข้างหน้าระดับหนี้สาธารณะก็น่าจะสูงขึ้นตามทิศทางการขาดดุลงบประมาณในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่คาดว่าจะไม่เกิน 70% ของจีดีพี

สำหรับทิศทางการดูแลเศรษฐกิจ ต้องพยายามรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งต้องเร่งผลักดันการลงทุน สนับสนุน SME , สตาร์ทอัพ เป็นต้น การเอื้ออำนวยส่งออกและนำเข้า และการพัฒนาดิจิทัล ผ่านโครงการต่างของรัฐ

ส.อ.ท.ชงกู้เพิ่ม1ล้านล้าน

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาล และพร้อมนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคด้านกฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่ทันสมัย และเป็นต้นทุนในการดำเนินการของธุรกิจตามข้อเสนอเรื่อง Regulatory guillotine ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการจัดทำข้อเสนอไปถึงรัฐบาลหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

รวมทั้งต้องการเสนอให้รัฐบาลเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการควบคุมโควิด-19 เหมือนหลายประเทศใช้มาตรการผ่อนคลายนี้แล้ว เพราะการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจะทำให้มีเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาซื้อขายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก เพราะเป็นเม็ดเงินที่ต่างชาตินำเข้ามาใช้จ่ายโดยตรง

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท เพื่อมาใช้ในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับความเห็นของอดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้ว่าการกู้เงินในขณะนี้ต้นทุนการเงินไม่มาก สามารถนำมาใช้จ่ายให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้

แนะเร่งยกเลิกเทสต์แอนด์โก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นการดีที่ทางรัฐบาลจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งจากเอกชนและประชาชนด้วย เพราะขณะนี้เราก็เจอปัญหาอยู่หลายส่วนด้วยกัน ประกอบกับความเดือดร้อนของหลายฝ่ายก็ยังมีอยู่ ซึ่งงทางภาคเอกชนจะอาศัยเวทีนี้เสนอเพิ่มเติมถึง “แนวทางแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูประเทศ” ร่วมกัน

ที่ผ่านมาทาง หอการค้าฯ ได้พบปะหารือกับผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่ได้มีการลงพื้นที่ ทั้งจังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดค้าชายแดน รวมถึงนักธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศที่ได้มีการพูดคุยกัน ก็อยากให้เศรษฐกิจของเรากลับมาฟื้นตัวโดยเร็วจะได้มีความสามารถในการแข่งขันสู้กับประเทศอื่นได้

สำหรับเรื่องสำคัญในช่วงนี้คือการ ประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ควรเริ่ม เดือน พ.ค. ได้เลย และทำให้เกิด Ease of Travelling มาประเทศไทย โดยการยกเลิก Test&go และ Thailand pass รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการและประชาชนในช่วงนี้ทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 5 และเราเที่ยวด้วยกัน