เข้าใจเหตุผลที่ทรัมป์ขึ้นภาษีกับทั่วโลก (ภาค2)

บทความหัวข้อนี้ของผมสัปดาห์ที่แล้วมีคอมเมนต์จากแฟนคอลัมน์ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ ที่ชอบคือเข้าใจเหตุผลว่าทำไมทรัมป์ขึ้นภาษีกับทุกประเทศ
ที่ไม่ชอบคือ การขึ้นภาษีของทรัมป์เป็นนโยบายที่ไม่ดี จึงไม่ควรเสียเวลาอธิบาย อย่างที่ผมเขียนไว้สัปดาห์ที่แล้ว การตัดสินใจทุกอย่างมีเหตุผล แต่เหตุผลจะดีหรือไม่เป็นอีกเรื่อง
วันนี้จึงขอเขียนเรื่องนี้ต่อ โดยวิเคราะห์การขึ้นภาษีของทรัมป์ในเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยเฉพาะความคิดที่จะเปลี่ยนระเบียบการค้าโลกของทีมเศรษฐกิจทรัมป์ที่จะใช้ภาษีเป็นเครื่องมือ เป็นสิ่งที่ควรต้องรู้ถ้าจะไปเจรจา นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การตัดสินใจของทรัมป์ที่ขึ้นภาษีกับทุกประเทศ เท่าที่ปะติดปะต่อจากเอกสารและคําสัมภาษณ์ของทีมเศรษฐกิจทรัมป์ อย่างที่เขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ทำให้เชื่อได้ว่าการขึ้นภาษี น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะเปลี่ยนระเบียบการค้าโลกให้เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐมากขึ้น เพื่อแก้สองปัญหาที่เป็นประเด็นชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ คือการขาดดุลการค้าและหนี้สาธารณะ
พร้อมกับรักษาไว้ซึ่งสถานะความเป็นหนึ่งของเศรษฐกิจสหรัฐและเงินดอลลาร์ โดยใช้เครื่องมือทั้งภาษี กลไกตลาด และอำนาจการเมืองที่สหรัฐมี นี่น่าจะเป็นเป้าหมายเบื้องหลังความวุ่นวายที่เกิดขึ้น
แนวคิดนี้ฟังเผินๆ อาจดูเพ้อฝัน แต่ในทางปฏิบัติ การตอบโจทย์ว่าจะต้องทําอะไรบ้างเพื่อให้เป้าหมายเหล่านี้เกิดขึ้น ปัจจุบันไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอยอีกต่อไป
แต่มีคำตอบจากบุคคลระดับมันสมองของทรัมป์ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และเป็นทีมงานเศรษฐกิจทรัมป์ขณะนี้ เช่น สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีการคลัง ที่เคยบริหารธุรกิจเฮดจ์ฟันด์และอยู่ในภาคการเงินมาก่อน
อีกคน คือ สตีเฟน มิแรน อดีตนักยุทธศาสตร์อาวุโสบริษัท ฮัดสัน เบย์ แคปิตอล แมเนจเมนท์ (Hudson Bay CapitalManagement) ที่เป็นธุรกิจเฮดจ์ฟันด์เช่นกันและปัจจุบันเป็นประธานสภาที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านเศรษฐกิจ
ที่ปลายปีที่แล้วเขียนบทความ “คู่มือผู้ใช้สำหรับการปรับโครงสร้างระบบการค้าโลก" (A User's Guide to Restructuring the Global Trading System)
ซึ่งหลายเรื่องที่รัฐบาลทรัมป์ทําขณะนี้ก็สอดคล้องกับแนวคิดในเอกสารฉบับนี้ จึงประมาทไม่ได้ วันนี้จะขอปะติดปะต่อความคิดดังกล่าวมาแชร์กัน
ในทางเศรษฐศาสตร์ การขาดดุลการค้าเป็นผลจากการใช้จ่ายที่เกินตัวของระบบเศรษฐกิจ ที่ต้องแก้ด้วยการลดการใช้จ่าย โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือขึ้นภาษี และหรือลดค่าเงินเพื่อให้สินค้านำเข้าราคาแพงขึ้น ประชาชนลดซื้อสินค้านําเข้า
ขณะเดียวกัน ภาษีนําเข้าที่แพงก็อาจทำให้ผู้ผลิตในต่างประเทศย้ายโรงงานมาผลิตในประเทศผู้นำเข้าแทนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้
สำหรับปัญหาหนี้สาธารณะก็เช่นกัน หนี้ที่สูงสะท้อนการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เกินรายได้ที่มี ซึ่งต้องแก้ด้วยการลดการใช้จ่ายหรือขึ้นภาษี
เห็นได้ว่าทั้งสองปัญหาแนวทางแก้ไขจะคล้ายกัน และที่รัฐบาลทรัมป์เลือกทําเท่าที่เห็นขณะนี้คือ ลดการใช้จ่ายภาครัฐ เช่นโครงการ DOGE ที่ปิดหน่วยงานราชการเพื่อลดการใช้จ่าย ขึ้นภาษีนําเข้าสินค้ากับทุกประเทศอย่างที่ได้ประกาศไป
แต่ที่ยังไม่เห็นและอาจกําลังจะตามมาคือ “การอ่อนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ”
ในความเห็นของทีมเศรษฐกิจทรัมป์ สาเหตุสำคัญที่ทําให้สหรัฐขาดดุลการค้าต่อเนื่อง ก็เพราะเงินดอลลาร์แข็งค่าเกินไป จากที่ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินที่ทั่วโลกต้องการถือทั้งเพื่อใช้จ่าย ลงทุน และถือเป็นทุนสำรองทางการ
ประเมินว่าเงินดอลลาร์มีค่าสูงกว่าที่ควรเป็นถึงร้อยละ 25 ถ้าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ร้อยละ 20 ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐก็จะทุเลามาก
ในอดีตสหรัฐเคยใช้การอ่อนค่าเงินดอลลาร์เป็นเครื่องมือแก้การขาดดุลการค้า เช่น Plaza Accord ปี 2528 ที่สหรัฐขอความร่วมมือประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ช่วยทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าโดยขายสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ที่ถืออยู่
ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เงินเยนแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 40 เงินมาร์คเยอรมันแข็งค่ากว่าร้อยละ 40 เช่นกัน
แต่ปัจจุบันในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น การขอความร่วมมือประเทศต่างๆ ให้อ่อนค่าเงินดอลลาร์คงจะไม่ง่าย สหรัฐจึงต้องหาวิธีอื่น
ซึ่งคําตอบที่ทีมงานทรัมป์เลือกก็คือขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับทุกประเทศ และใช้ภาษีเป็นเครื่องมือต่อรองให้ประเทศคู่ค้าลดการเเข็งค่าของเงินดอลลาร์ เพื่อแลกกับประโยชน์ต่างๆ ที่สหรัฐจะให้ที่อาจรวมไปถึงการดูแลความปลอดภัยให้กับประเทศนั้น นี่คือสิ่งที่ตลาดการเงินพูดกันขณะนี้
ที่ต้องเข้าใจการขึ้นภาษีสินค้านําเข้า ถ้าสามารถลดการขาดดุลการค้าได้ น่าจะทําให้เงินดอลลาร์เเข็งค่ามากกว่าอ่อนค่า
แต่ปัจจัยที่ใหญ่กว่าการค้าและมีอิทธิพลต่อค่าเงินดอลลาร์มากกว่าดุลการค้าคือ การไหลเข้าออกของเงินทุนหรือเงินลงทุนระหว่างประเทศ คือเงินที่เข้ามาซื้อหรือลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ เช่น เงินสด หุ้น ตราสารหนี้เอกชนและพันธบัตรรัฐบาล
ที่ผ่านมา การเข้ามาซื้อหรือลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์โดยนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงการถือสินทรัพย์เงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองทางการของประเทศต่างๆ
สิ่งเหล่านี้สร้างความต้องการเงินดอลลาร์ที่สูงต่อเนื่อง เงินดอลลาร์สหรัฐจึงแข็งค่า แม้สหรัฐจะขาดดุลการค้าในปริมาณที่สูง
หลังสหรัฐประกาศอัตราภาษีนำเข้าอย่างที่ทําไป ประเทศส่วนใหญ่ก็ต้องการเจรจากับสหรัฐเพื่อลดอัตราภาษีและลดผลกระทบ
นี่คือความได้เปรียบที่สหรัฐสร้างขึ้นและต้องการใช้ความได้เปรียบนี้ต่อรองให้ประเทศคู่ค้าให้ความร่วมมือที่จะอ่อนค่าเงินดอลลาร์เพื่อแลกกับประโยชน์ต่างๆ ที่สหรัฐจะให้ เช่น
(1) อัตราภาษีที่ตํ่ากว่าอัตราที่ระบุในเอกสาร ซึ่งของประเทศไทยคือร้อยละ 36
(2) ลดการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ห้ามนําเข้าเนื้อสัตว์
(3) ให้คํามั่นสัญญาว่าจะซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐมากขึ้น เช่น เครื่องบิน
(4) ขายสินทรัพย์เงินดอลลาร์ที่ถือไว้ส่วนหนึ่งและใช้เงินดอลลาร์ที่ได้จากการขายซื้อสกุลเงินของตัวเอง เพื่ออ่อนค่าเงินดอลลาร์
(5) ช่วยสหรัฐปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐจากสั้นเป็นยาว โดยขายตั๋วเงินและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นที่ประเทศถืออยู่และลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวหรือยาวมากๆ แทน
นี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นและประเทศที่ร่วมมือและพร้อมทําตามเงื่อนไขเหล่านี้ สหรัฐก็จะถือเป็นมิตรค้าขายกันได้ และอาจได้รับการดูแลคุ้มครองเรื่องความมั่นคงเป็นสิ่งตอบแทน
สําหรับประเทศที่ไม่ร่วมมือก็จะไม่ได้ประโยชน์จากสหรัฐ และหรืออาจถูกตอบโต้มากขึ้นถ้าถูกมองว่าเป็นศัตรู เช่น ถูกสหรัฐขึ้นภาษีน้ำเข้าในอัตราที่สูงขึ้น หรือถูกเก็บภาษีจากผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือตราสารอื่น เป็นต้น
นี่น่าจะเป็นหน้าตาคร่าวๆ ของระเบียบการค้าโลกใหม่ที่มีสหรัฐเป็นจุดศูนย์กลาง เป็นผู้กําหนดเงื่อนไขสำหรับประเทศที่จะค้าขายกับสหรัฐ
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ตลาดการเงินกําลังวิเคราะห์และพูดกันขณะนี้ ยังไม่เกิดขึ้นจริงเพราะยังไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลสหรัฐ
ดังนั้น คงต้องตามดูว่าสิ่งที่จะออกตามมาในอีก 90 วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวอย่างไรกับสิ่งที่จะออกมา.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล