โรคละตินอเมริกา ทำเมืองไทยตกอยู่ในสภาวะ ต้มกบ

นโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย เป็นหนึ่งในโรคละตินอเมริกา ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเข้ามาระบาดในเมืองไทยเมื่อปี 2544
โรคนี้ร้ายแรงมากเนื่องจากมันทำลายฐานความคิดของคนไทยส่วนใหญ่ให้หวังได้ของแจกจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง หากผู้กำอำนาจรัฐมักง่าย จงใจใช้ทรัพยากรของรัฐซื้อความนิยมและฉ้อฉลจนต้องใช้ทุนสำรองของชาติเพื่อหวังคงอยู่ในอำนาจต่อไป การสูญสิ้นทุนสำรองจะเป็นเสมือน “ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำควายหลังหัก”
เมื่อสังคมตกอยู่ในภาวะควายหลังหัก อาการหลักมักได้แก่เศรษฐกิจล้มละลาย เกิดความวุ่นวายด้านการเมือง และเศรษฐกิจกับการพัฒนากลับมาตั้งตัวให้แข็งแกร่งอีกไม่ได้ส่งผลให้สังคมตกอยู่ในภาวะล้มลุกคลุกคลาน
อาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาเป็นตัวอย่างที่ถูกอ้างถึงเสมอ เวเนซุเอลาน่าสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากมีน้ำมันปิโตรเลียมปริมาณมหาศาล แต่น้ำมันกลายเป็น “อุจจาระของปีศาจ” ตามคำเตือนของอดีตรัฐมนตรีผู้มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของเวเนซุเอลา
โดยทั่วไปประเทศในละตินอเมริกาประกาศว่าจะใช้ระบอบประชาธิปไตยในแนวของสหรัฐอเมริกาบริหารจัดการและพัฒนาประเทศ หลังได้รับเอกราชจากสเปนเมื่อราว 200 ปี
ระบอบนี้มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกของประชาชนเป็นทั้งประมุขของประเทศและหัวหน้ารัฐบาล ประเทศเหล่านี้จึงไม่มีกษัตริย์เป็นประมุขเช่นสเปนและอังกฤษ
แม้ภาครัฐจะแยกอำนาจการบริหารและการพัฒนาบ้านเมืองออกเป็น 3 ฝ่ายเช่นเดียวกันได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่ประชาธิปไตยในละตินอเมริกาต่างกับที่ใช้อยู่ในสหรัฐ
กล่าวคือ มักมีความฉ้อฉลส่งผลให้เกิดการควบรวมอำนาจของทั้ง 3 ฝ่ายไว้ภายใต้ฝ่ายบริหารที่มาจากทั้งการทำรัฐประหารและการใช้วิธีที่ผิดจรรยาบรรณของประชาธิปไตย
แม้ในขณะนี้ประเทศในละตินอเมริการวมทั้งอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาจะไม่มีรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารอีกต่อไป
แต่หลายประเทศยังมีรัฐบาลแนวเผด็จการเนื่องจากความฉ้อฉล ส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและการทำงานของ 3 ฝ่ายยังก้าวไม่พ้นความฉ้อฉลของคนกำอำนาจรัฐ
ความฉ้อฉลที่ส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยไม่เป็นไปตามอุดมการณ์นี้เป็นโรคละตินอเมริกาที่ระบาดเข้ามาในเมืองไทยก่อนนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายแม้จะไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดนักก็ตาม
กล่าวคือ ระบาดมาถึงเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 หลังรับเชื้อโรคร้ายนั้นมา การบริหารจัดการและการพัฒนาประเทศของไทยก็เป็นไปในแนวละตินอเมริกาโดยมีความฉ้อฉลเป็นต้นตอก่อปัญหาสารพัด
การทำรัฐประหารกับการเลือกตั้งผลัดเปลี่ยนกันเข้ากำอำนาจรัฐ ฝ่ายทำรัฐประหารมักอ้างว่าผู้กำอำนาจรัฐที่มาจากการเลือกตั้งฉ้อฉลเป็นเหตุผลที่ตนต้องยึดอำนาจ อย่างไรก็ดี ผลที่ตามมามักไม่ต่างกัน
นั่นคือ ความฉ้อฉลยังคงเดิมแม้รูปแบบอาจต่างกันไปบ้างก็ตาม
ในปัจจุบันนี้ เมืองไทยมีโรคละตินอเมริกาทั้งคู่ระบาดอยู่พร้อมกัน ผู้กำอำนาจรัฐยึดหลักการแจกสารพัดอย่างรวมทั้งเงินสดเพื่อเข้าสู่อำนาจและคงอำนาจไว้
ประเทศจึงได้หัวหน้าฝ่ายบริหารซึ่งใกล้ไร้เดียงสาในการบริหารจัดการและพัฒนาประเทศ ซ้ำร้ายยังเป็นคล้ายตัวตลกบนเวทีโลกอีกด้วย
ฝ่ายนิติบัญญัติที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเพราะการแสวงหาผลประโยชน์มากกว่าความแตกต่างทางวิธีที่จะใช้บริหารจัดการและพัฒนาประเทศ
ฝ่ายตุลาการที่มีปรากฏการณ์จำพวกปล่อยให้คดีหมดอายุความที่ทำให้เกิดความประทับใจว่าเพราะผู้ต้องคดีมีความร่ำรวย
การนำถุงขนมซุกเงินสดเข้าไปในห้องพิจารณาคดี และมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ถูกไล่ออกและจองจำนำไปสู่การฆ่าตัวเอง
ณ วันนี้ ไทยยังมีทุนสำรองกองใหญ่อยู่ในครอบครอง โรคประชานิยมแบบเลวร้ายจึงจะยังไม่ทำให้ประเทศล้มละลายในเร็ววัน
ส่วนโรคความฉ้อฉลของชนชั้นผู้บริหารจัดการและพัฒนาประเทศกำลังทำให้คนรุ่นหลังสิ้นหวัง เพราะไร้ตัวอย่างของคนดีที่พวกเขาศรัทธารวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีที่อ้างว่าตนเป็นคน “เจนวาย” ที่ควรดูเป็นตัวอย่าง
โรคตัวหลังนี้มีผลทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะต้มกบ ซึ่งจะตายเร็วขึ้นหากความฉ้อฉลนำไปสู่การผลาญทุนสำรองของชาติจนหมดสิ้น.