‘AI’ และมหาสมุทรแห่งโอกาส

การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าผู้นำองค์กรไม่กล้าเป็นต้นแบบ
เกริ่นไว้ในฉบับที่แล้วถึงการนำ AI มาใช้ในองค์กรที่ต้องคิดให้ออกถึงองค์ประกอบหลัก 2 ข้อนั่นคือ ต้องเริ่มจากการปรับกระบวนการทำงานใหม่ทั้งระบบ
ไม่ใช่เพียงเอา AI มาใช้บางส่วนหรือบางแผนกซึ่งจะทำให้เราเรียนรู้ได้แค่ผิวเผิน กับอีกข้อหนึ่งคือ การมองเห็นปัญหาให้ตรงจุดก่อนจะใช้ AI แก้
เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงต้องเจอกับอุปสรรค นี่คือ ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้ว่า “จะใช้ AI ไปแก้ปัญหาอะไร”
ต่อกันในข้อที่สามนั่นคือ ต้องกล้าตัดสินใจ และเดินหน้าอย่างไม่ลังเล เพราะการเปลี่ยนผ่านที่แท้จริงนั้นไม่มีคำว่าครึ่งๆ กลางๆ แน่นอนว่าการปรับลดขั้นตอนการทำงาน หรือใช้ AI แทนบางบทบาท อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจในหมู่พนักงาน แต่เราสามารถเปลี่ยนแรงต้านให้กลายเป็นความร่วมมือได้
แทนที่จะปล่อยให้คนรู้สึกว่ากำลังถูกแทนที่ เราสามารถให้พวกเขาเปลี่ยนไปทำงานที่มีคุณค่ามากขึ้น หรือมีผลกระทบต่อองค์กรมากกว่า เช่น จากงานธุรการที่เคยทำไปวันๆ ไปสู่การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ หรือการให้บริการลูกค้าที่ลึกซึ้งขึ้น
เมื่อพนักงานเห็นว่าพวกเขายังมีคุณค่าในระบบใหม่ และได้พัฒนาตัวเองไปพร้อมเทคโนโลยี ความเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงก็จะเพิ่มขึ้น
เปรียบเหมือนการ “คลอดลูก” ที่แน่นอนว่าอาจมีความไม่สบาย เจ็บปวด และต้องใช้แรงกายแรงใจมากมาย แต่เมื่อผ่านพ้นไปแล้ว เราจะเห็นผลลัพธ์ใหม่ที่คุ้มค่ามากกว่าอะไรที่เคยผ่านมาทั้งหมด
ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกสบายใจเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง แต่หากมองให้ลึก การเปลี่ยนแปลงคือ การแก้ปัญหาระยะยาว คือ การวางรากฐานที่แข็งแรงให้กับอนาคต และแม้จะมี “กำแพง” ที่มองไม่เห็นอยู่ตรงหน้า ก็ต้องพร้อมจะปีนข้ามไป
ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม แต่ภาครัฐก็ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียที่ได้แสดงให้เห็นภาพที่ชัดเจนของการกล้าปรับตัวทั้งระบบ
โดยการออกนโยบาย “Malaysia AI Roadmap” ที่ระบุกรอบการขับเคลื่อนประเทศด้วย AI ไม่ใช่แค่ในภาคอุตสาหกรรม แต่รวมถึงการศึกษา การบริหารภาครัฐ และภาคบริการ โดยมีการตั้งหน่วยงานกลางเพื่อประสานความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการรื้อโครงสร้างเดิม และสร้างระบบนิเวศใหม่ให้พร้อมสำหรับอนาคต
แน่นอนว่าอีกหลายๆ ประเทศต่างก็เตรียมการปรับตัวในการประยุกต์ใช้ AI โดยมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อนำมาบริหาร และขับเคลื่อนประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
การเปลี่ยนแปลงแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าผู้นำองค์กรไม่กล้าเป็นต้นแบบ เพราะ “ผู้นำที่ดี” ไม่ใช่เป็นเพียงคนที่สั่งการได้เก่ง แต่คือ ตัวอย่างของความกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ ก่อนใคร กล้าล้มเหลว และกล้ายอมรับว่าตัวเองยังต้องเรียนรู้
องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการใช้ AI ล้วนมีผู้นำที่ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และกล้าท้าทายวิธีคิดเดิมๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือหัวหน้าทีมเล็กๆ หากคุณไม่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนก็อย่าหวังว่าคนอื่นจะตามไป
ผู้นำองค์กรจึงต้องกล้า กล้ารับฟัง กล้าเผชิญ และกล้าตัดสินใจ เพราะการนำ AI มาใช้ คือ การเข้าสู่มหาสมุทรแห่งโอกาส ที่แม้จะมีคลื่นลม แต่ก็นำพาเราไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า
ไม่เหมือนเรือเดินสมุทรเมื่อจอดอยู่ในท่าเทียบเรือ แม้จะดูสวย มั่นคง และปลอดภัย แต่ไม่มีวันสง่างามเท่ากับเรือที่โลดแล่นอยู่กลางมหาสมุทร
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์