เดิมพัน... รัฐพันลึก!

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจหนนี้ มีเดิมพันหลายอย่างที่ทำให้แต่ละฝ่ายยอมกันไม่ได้
KEY
POINTS
- การเมืองภาพใหญ่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจในปัจจุบันเหมือนการ “สอบย่อย” โดยมีประชาชนเป็นผู้ให้คะแนน เนื้อหาข้อมูลที่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลนำเสนอ จะถูกนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งต่อไป
-
ฝ่ายค้านถ้าทำได้แค่ “ลึก แต่ไม่ลับ” ก็จะเสียเครดิตเอง เพราะฉายหนังฟอร์มใหญ่เอาไว้มาก
-
บรรดา“กูรู” และ “คอการเมือง” จากหลากหลายวงการ มองว่า ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจหนนี้ มีเดิมพันลึกมากกว่าที่คิด และส่งผลสะเทือนถึงหลายฝ่าย
ในมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักทำโพลชื่อดัง เห็นตรงกันอยู่อย่างหนึ่งว่า ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจหนนี้ มีเดิมพันหลายอย่างที่ทำให้แต่ละฝ่ายยอมกันไม่ได้
รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว จากธรรมศาสตร์ บอกว่า ที่เดิมพันแน่ๆ คือ ตัวนายกฯแพทองธาร ว่ามีศักยภาพในการทำงานจริงหรือไม่ เพื่อลดข้อครหาเรื่อง “ภาวะผู้นำ”
ขณะที่ในการเมืองภาพใหญ่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจในปัจจุบันเหมือนการ “สอบย่อย” โดยมีประชาชนเป็นผู้ให้คะแนน เนื้อหาข้อมูลที่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลนำเสนอ จะถูกนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งต่อไป
นี่คือเดิมพันในมุมมองของนักรัฐศาสตร์
ส่วนเดิมพันในมุมมองของนักทำโพล ให้น้ำหนักไปที่ฝ่ายค้าน เพราะรัฐบาลเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่แล้ว
ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ จากนิด้าโพล บอกว่า ฝ่ายค้านถ้าทำได้แค่ “ลึก แต่ไม่ลับ” ก็จะเสียเครดิตเอง เพราะฉายหนังฟอร์มใหญ่เอาไว้มาก
แต่เมื่อได้ไปสำรวจความเห็นของบรรดา “กูรู” และ “คอการเมือง” จากหลากหลายวงการ ได้มุมมองเพิ่มเติมว่า ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจหนนี้ มีเดิมพันลึกมากกว่าที่คิด และส่งผลสะเทือนถึงหลายฝ่าย
1.เดิมพัน “นายกฯอิ๊งค์” ว่าเป็นของจริง หรืออิงบิดา - ความหมายก็คือ ท่านนายกฯมีความสามารถ มีศักยภาพ มีภาวะผู้นำจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นเหมือนฉายา “รัฐบาลพ่อเลี้ยง” ตามที่สื่อทำเนียบรัฐบาลมอบให้เมื่อตอนปีใหม่
2.เดิมพันพรรคส้ม ว่าเป็น “ส้มซ่า” หรือแค่ “ราคาคุย” - ความหมายก็คือ ครั้งนี้จะได้พิสูจน์ฝีมือว่า พรรคประชาชนทำงานเป็นจริงหรือไม่ เพราะหากอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยที่ยังไม่ได้ทำเอง ยังสร้างความประทับใจไม่ได้ ก็เชื่อว่าหลายคนคงถอดใจ ไม่กล้าลงคะแนนให้ในการเลือกตั้งหนหน้า เพราะบ้านเมืองไม่ใช่สถานที่ทดลองงาน หรือเล่นขายของ
ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่เรื่องถอดๆ ใส่ๆ ชื่ออดีตนายกฯทักษิณในญัตติ พอจะถอดก็แค่ใช้ปากกาสีแดงทำเครื่องหมายกากบาท เหมือนญัตติเป็นสมุดโน้ตของตัวเอง รวมไปถึงการต่อรองเมื่อจำนวนชั่วโมงที่จะได้อภิปราย ทำเอาหลายคนส่ายหัว เพราะแต่ละสิ่งที่พูดและทำ เป็นเหมือนเล่นแบบเด็กๆ
3.เดิมพัน “ลุงป้อม พปชร.” ไปต่อ หรือ รอจบเห่ - จังหวะก้าวของ “ลุงป้อม” มองข้ามไม่ได้ เพราะจะเป็นการอภิปรายครั้งแรกและน่าจะเป็นครั้งเดียวในฐานะฝ่ายค้าน ตั้งแต่เข้าสู่การเมืองมาในรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2551-2554 จนถึงปัจจุบัน
และครั้งนี้คือเดิมพันครั้งสำคัญ หากสร้างโมเมนตัมให้กระแสเทมาที่ตัวเองไม่ได้ ก็คงต้องปิดฉากการเมืองแบบช้ำๆ ไปจริงๆ
4.เดิมพัน “อดีตนายกฯทักษิณ” ว่าจะสิ้นมนต์ หรือยังโดนใจคนไทย - การอภิปรายของฝ่ายค้านที่จะพุ่งเป้าไปที่คุณทักษิณด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ จะเป็นดั่งปรอทวัดความรู้สึกว่า ผู้คนในสังคมนี้ยังจะให้โอกาสอดีตนายกฯได้เฟี้ยวต่อไป เพราะหวังเศรษฐกิจฟื้น หวังคืนชีพฝ่ายอนุรักษนิยม สกัดส้มซ่า หรือจะถูกสังคมส่ายหน้าว่าพอได้แล้ว
5.เดิมพัน “เพื่อไทย” ว่าเป็นพรรคเก๋า-เบอร์ใหญ่ หรือใกล้อวสาน - ครั้งนี้ก็คงจะได้เห็นกันชัดขึ้น
6.เดิมพัน “พรรคร่วมฯ” ว่าจะขัดขากันอ่วม หรือรวมกันเราอยู่ - แต่ที่ทุกคนทุกพรรครู้กันแก่ใจ ก็คือหลังอภิปราย มีปรับ ครม.แน่
7.เดิมพันอนาคตรัฐบาล จะอยู่อีกนาน หรือนับถอยหลัง - ข้อนี้จะเห็นภาพชัดเจนจากผลของข้อ 5 กับข้อ 6
8.เดิมพันไทยสร้างไทย ยังไปต่อไหว หรือโดน “งูเห่าตัวใหญ่” ยึดพรรค - แม้ไทยสร้างไทยจะเป็นพรรคเล็ก แต่สถานะของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ถือว่าไม่เล็ก และมีบารมีทางการเมืองไม่น้อย ศึกอภิปรายหนนี้ และการโหวตลงมติ จะสะท้อนความจริงว่า พรรคเล็กในการเมืองไทยจะยังมีที่ยืนอยู่ได้หรือไม่ อุดมการณ์ทางการเมืองมีจริงไหม หรือว่าแพ้กล้วยอยู่ร่ำไป
9.ต้องไม่ลืม เดิมพัน “ผู้กองธรรมนัส” มาตามนัด หรือโดนผัดไปก่อน - เพราะงานนี้ผู้กองออกตัว สร้างผลงานสุดแรง หาเสียงเติมให้รัฐบาล ให้นายกฯแพทองธารมากกว่า 10 เสียงแล้ว เป็นเสียงที่ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาลด้วย ทำขนาดนี้ยังไม่โบนัสด้วยเก้าอี้อีกหรือ
นี่คือสารพัดเดิมพัน ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล และองคาพยพต่างๆ ของการเมืองไทย ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมีคนไทยและประเทศไทย เป็นเดิมพันสูงสุด
ที่พูดแบบนี้ไม่ได้เว่อร์เกินจริง เพราะความอยู่รอดของรัฐบาลชุดนี้ กลายเป็นความอยู่รอดของสิ่งที่เรียกกันว่า “รัฐพันลึก” หรือ “รัฐเชิงลึก” ภาษาอังกฤษคือ Deep State ตามความเข้าใจของการเมืองแบบไทยๆ เพราะถ้ารัฐบาลไปต่อไม่ไหว เลือกตั้งครั้งต่อไป “ส้มซ๋า” มาแน่ๆ
ด้วยเหตุนี้ ปราการด่านสุดท้ายอย่าง “สว.สีน้ำเงิน” จึงล้มไม่ได้ เพราะนั่นก็คือเดิมพันของ “รัฐพันลึก” เช่นเดียวกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมามีความคืบหน้า ซึ่งเป็นก้าวย่างค่อนข้างสำคัญของ “คดีโพยฮั้ว สว.” คุณผู้อ่านคงได้ติดตามข่าวสารกันอยู่แล้ว
แต่ขณะนี้กลับเกิดคำถามว่า บทบาทของ กกต.กับดีเอสไอ แท้จริงแล้วทั้งสองหน่วยงาน “ช่วยกันทำ” หรือ “ต่างคนต่างทำ” กันแน่
ผมขอย้อนไทม์ไลน์ให้ดูคร่าวๆ
17 มี.ค. - ดีเอสไอส่งข้อมูลหลักฐาน “โพยฮั้ว สว.” ให้ กกต. พร้อมความเห็น “มีมูลผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.”
18 มี.ค. - กกต.แต่งตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน” เป็นทีมผสม กกต.กับดีเอสไอ โดยมีรองเลขาธิการ กกต.เป็นประธาน
19 มี.ค. - ประธาน กกต.แจกแจง คำร้อง “ฮั้ว สว.” อยู่ในชั้น “ความปรากฏต่อ กกต.” จึงตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ขึ้นมาตามที่เป็นข่าว
19 มึ.ค. - ดีเอสไอออก ข้อบังคับของ กคพ. ว่าด้วยแนวทางการสอบสวนบุคคลที่เป็นพยานสำคัญในคดีพิเศษ พ.ศ. 2568 รองรับการดำเนินคดี “ฮั้ว สว.” ในส่วนของ “ฟอกเงิน” ซึ่งรับเป็นคดีพิเศษ และเตรียมเรียกสอบพยานจำนวนมาก
20 มี.ค. - ประธาน กกต.ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ยืนยันคำร้อง “ฮั้ว สว.” ยังไม่ชัดเจน ต้องใช้เวลาสืบสวน รวบรวมหลักฐาน เพราะพยานมีมาก
21 มี.ค. - ดีเอสไอประชุมร่วมอัยการ เตรียมเรียกพยานคดี “ฟอกเงินฮั้ว สว.” เข้าให้ปากคำ (มีข้อบังคับ กคพ.รองรับ)
ทั้งหมดคือไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์ ดูเหมือนคดีคืบหน้า แม้แยกกันเดิน แต่ก็มี “จุดร่วม” เพื่อ “รวมกันตี”
ทว่าเงื่อนแง่ที่เป็นข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวของ 2 หน่วยงานนี้ “ช่วยกันทำ” หรือ “ต่างคนต่างทำ” และความคืบหน้าของกรณี “โพยฮั้ว สว.” เริ่มนับ 1-2-3 แล้ว หรือยังซอยเท้านับ 0 อยู่กันแน่ มีดังนี้
1.ดีเอสไอพยายามชงข้อมูลว่า ข้อกล่าวหา “โพยฮั้ว สว.” มีมูลความผิดแล้ว และ กกต.สามารถชี้มูล ส่งศาลฎีกาฯได้เลย
แต่ กกต.บอกว่า ข้อกล่าวหา “โพยฮั้ว สว.” ยังไม่ถึงขั้นมีมูล อยู่ในขั้น “ความปรากฏต่อ กกต.” เท่านั้น ยังต้องรอการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน
2.ดีเอสไอจับมืออัยการ ลุยสอบ “ฟอกเงิน” ซึ่งรับเป็นคดีพิเศษแล้ว โดยอ้างความผิดมูลฐาน “อั้งยี่” แต่ความผิดฐานอั้งยี่ การจะเป็นอั้งยี่ได้ ต้องรวมกลุ่มคนเพื่อกระทำความผิด และหากขยายต่อเป็น “ซ่องโจร” ก็ต้องรวมตัวกันเพื่อกระทำความผิดตามที่บัญญัติใน “ภาค 2” ของประมวลกฎหมายอาญา คือ “ภาคความผิด” เช่น ปล้น ชิงทรัพย์ ฉ้อโกง ข่มขืน โทรมหญิง ฆ่า ทำร้าย ฯลฯ
แต่การ “ทำโพยเลือก สว.” ไม่ได้เป็นความผิดด้วยตัวมันเองตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สว. ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต. ฉะนั้นการที่ดีเอสไอจะเดินต่อในคดี “อั้งยี่” รวมถึง “ซ่องโจร” ต้องรอให้ กกต.ชี้มูลว่า “การทำโพยเลือก สว.” เป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สว. มาตรา 77(1) ก่อนหรือไม่ (ความผิดฐานสัญญาว่าจะให้… เข้าข่ายฮั้ว)
3.ดีเอสไอพยายามตีกรอบเวลาการทำงาน ตามข้อกล่าวหา “อั้งยี่ - ฟอกเงิน” ให้จบภายใน 90 วัน ซึ่งเมื่อส่งเรื่องให้ กกต. จะได้ทันการสอย สว. ภายใน 1 ปี คือส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาก่อนครบกรอบเวลา 1 ปีนั่นเอง
แต่ประธาน กกต.กลับบอกว่า ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะข้อกล่าวหาเรื่อง “ฮั้ว” มีผู้เกี่ยวข้องมาก มีพยานมาก และต้องให้ความเป็นธรรมทุกขั้นตอน เรียกแล้วไม่มา ก็ต้องเลื่อน ก็์ยิ่งช้า ฯลฯ แม้จะย้ำว่าจะเร่งดำเนินการ แต่จะทัน 1 ปีหรือไม่ ไม่มีคำยืนยัน
4.เงื่อนแง่ทางกฎหมายทั้งหมดนี้ ผมได้พูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของ กกต.ซึ่งมีบทบาทในคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนด้วย ผู้บริหารรายนี้ยอมรับว่า ยังไม่มีคำตอบในประเด็นข้อกฎหมายเหล่านี้เลยว่าจะดำเนินการกันอย่างไร และยังไม่ได้หารือกับดีเอสไอในเชิงลึก (แปลว่าต่างคนต่างทำมาตลอดหรือไม่)
5.กกต.ยืนยันว่าไม่ได้ละเลยการตรวจสอบกระบวนการได้มาซึ่ง สว. และอ้างข้อมูลว่า ได้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาไปแล้ว 10 กรณี
สังคมฟังแล้วเข้าใจว่าจะมีการ “สอย สว.” อย่างน้อย 10 คนเร็วๆ นี้ หรือเบาที่สุดก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
แต่ปรากฏว่าเราได้ตรวจสอบข้อมูลกับ “ผู้บริหารระดับสูงของ กกต.” ได้รับการยืนยันว่า 10 กรณีที่ส่งศาลฎีกา ไม่มี สว.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันนี้เลย มีแต่พวก “ตัวประกอบ”
เหตุผลคือ พยานหลักฐานไม่ซับซ้อน จึงส่งเรื่องให้ศาลได้ก่อน ส่วน สว.ที่มีคำร้องถูกกล่าวหา ต้องตรวจสอบพยานหลักฐานจำนวนมาก มีความซับซ้อน จึงต้องใช้เวลา
ที่สำคัญผู้บริหารระดับสูงของ กกต.รายนี้ บอกชัดว่า การเอาผิดในข้อหา “ฮั้ว สว.” โดยแจกใบแดงเป็นกลุ่ม สว.จำนวนมาก น่าจะเกิดขึ้นยาก เพราะการแจกใบแดงโดยศาล ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แน่นอน ฉะนั้นน่าจะต้องทำเป็นรายเคสมากกว่า
ข้อสังเกตก็คือ หากเอาผิดเป็น “รายเคส” จะเข้าข่ายการเป็น “อั้งยี่” ซึ่งหมายถึงการรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลเพื่อเตรียมกระทำความผิดอาญา หรือไม่
หรือหากดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับ “สว.กลุ่มใหญ่” ฐานรวมตัวเป็นอั้งยี่เพื่อให้ได้มาซึ่ง สว.โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการใช้เงิน (เพราะตั้งข้อหาฟอกเงินเป็นฐานความผิดเอาไว้) โดยยื่นฟ้องต่ออัยการและศาลไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ
แต่ในฝั่งคดีเลือกตั้ง คดีการได้มาซึ่ง สว. ฝ่าย กกต.ไม่ได้ชี้ว่าผิด หรือเป็นโมฆะ จะกลายเป็นข้อต่อสู้ของบรรดา สว.ที่ถูกดีเอสไอฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยหรือเปล่า
หรือว่าทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนกันด้วยเหตุผลทางการเมือง โดยแต่ละฝ่ายก็มี “กลุ่มการเมืองต่างสี” หนุนหลัง และสุดท้ายก็ทำทีเป็นฟาดฟัน เพื่อต่อรองกัน…แค่นั้นเอง
เพราะสุดท้าย “รัฐพันลึก” ไม่ยอมเสีย “วุฒิสภา” ในฐานะปราการด่านสุดท้ายของพวกเขาไปแน่นอน!