สทร. ธนาธร และอุยกูร์

สทร. ธนาธร และอุยกูร์

ทักษิณ เล่นบท “สทร.” แทนที่จะกลับมาเลี้ยงหลาน สิ่งที่ทำ กลายเป็นตรงกันข้าม ขณะที่ ธนาธร ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าเป็นผู้นำหลังม่าน ของพรรคประชาชนเช่นกัน

สงครามวาทกรรมว่าด้วยการใส่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ในญัตติไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ที่ถูกจับตาว่าจะเปลี่ยนเป็น สทร.หรือไม่ ก่อนจะจบลงที่การใช้คำว่า “คนในครอบครัว” แทนนั้น เปรียบเหมือนอาหารเรียกน้ำย่อยก่อนถึงเมนคอร์ส คือ “ศึกซักฟอก” ได้เป็นอย่างดี

เพราะงานนี้ทำให้คนสนใจ และรอฟังกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า ตอนอภิปรายจริงฝ่ายค้านจะใช้ลีลาหลบหลีกอย่างไร และรัฐบาลจะตั้งทีมองครักษ์คอยหักเหลี่ยมกลางสภากันคึกคักจริงจังขนาดไหน

แต่จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นดาบสองคมของฝ่ายค้านเหมือนกัน หากใช้คำว่า สทร. ซึ่งมีความหมายเป็นที่รู้กันดีในแวดวงการเมือง และสังคมไทย คือ “แส่ทุกเรื่อง” หรือแรงหน่อยก็ “เสือกทุกเรื่อง”

วลีและตัวย่อนี้ ไม่ได้มีใครไปต่อว่าคุณทักษิณ แต่เป็นคำที่คุณทักษิณหยิบขึ้นมา “นิยาม” บทบาทของตนเอง ในวันที่กลับประเทศไทยในรอบ 17 ปี และพรรคที่ตนเองก่อตั้ง มีลูกสาวเป็นหัวหน้า ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และต่อมาลูกสาวคนเล็ก ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

คุณทักษิณก็เลยต้องเล่นบท “สทร.” หรือ แส่ทุกเรื่อง แทนที่จะจำกัดบทบาทตามที่เคยประกาศว่า “จะกลับบ้าน (หมายถึงกลับประเทศไทย) มาเลี้ยงหลาน และทำตัวให้เป็นข่าวน้อยๆ เพื่อจะได้อยู่อย่างสุขสงบ

แต่สิ่งที่คุณทักษิณทำ กลายเป็นตรงกันข้าม และนิยามตัวเองว่า “สทร.” ด้วยเหตุผลที่เคยประกาศบนเวทีปราศรัย และคุยกับคนใกล้ชิด ดังนี้

1.กลับมาหนนี้ ไม่ได้ต้องการมีอำนาจ แต่ห่วงบ้านเมือง

2.มองเห็นบ้านเมืองเละเทะหลายอย่าง โดยเฉพาะความถดถอยทางเศรษฐกิจ ความเสื่อมของสังคม และปัญหาของระบบราชการ

3.มองเห็นปัญหาของประเทศที่ขีดแข่งขันลดลง ศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านต่ำมาก และไม่สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งเอไอ

4.ตนเองมีประสบการณ์ เคยเป็นนายกฯที่ประสบความสำเร็จ เป็นอดีตผู้นำระดับอินเตอร์ ระดับภูมิภาค จึงต้องการใช้ประสบการณ์และศักยภาพของตนเพื่อแก้ปัญหาให้บ้านเมือง

5.ยิ่งพรรคการเมืองที่ตนเองก่อตั้งเป็นรัฐบาล และลูกสาวก็เป็นนายกฯ จึงอยู่เฉยไม่ได้ ต้องสนับสนุนเต็มกำลังเท่าที่ทำได้ และเท่าที่มี

6.ในทางการเมือง การเคลื่อนไหวของคุณทักษิณ คือการล่อเป้าฝ่ายตรงข้าม ไม่ให้ไปโจมตีนายกฯ ซึ่งเป็นลูกสาว แต่ให้หันมาโจมตีตนแทน เรียกว่า รับคมหอกคมดาบแทนลูก

7.ต้องการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานอภัยลดโทษ

8.ต้องการสร้างผลงานให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลต่อไปอีก หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า และลูกสาวอาจจะได้นั่งนายกฯต่ออีก 1 สมัย

9.ต้องการสร้างการยอมรับ เพื่อพาน้องสาวกลับบ้านอีกคน

10.ต้องการฝากผลงานส่งท้าย เพื่อจารึกชื่อในฐานะ “รัฐบุรุษ” หรืออดีตผู้นำที่ประชาชนจดจำ

ทั้ง 10 ข้อนี้ เท่าที่ผมสดับตรับฟังจาก “คนกลางๆ” ที่ไม่ได้เกลียดหรือรักคุณทักษิณมากเป็นพิเศษ ก็พอจะรับรู้และเข้าใจถึงเจตนาและความจำเป็นของอดีตนายกฯอยู่พอสมควร

ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของฝ่ายค้านคือทำอย่างไรให้ผู้คนในสังคม (นอกจากกลุ่มที่ต่อต้านคุณทักษิณอยู่แล้ว) เชื่อให้ได้ว่า บทบาทของอดีตนายกฯ มีมากกว่าเจตจำนง 10 ข้อที่ตัวเองพร่ำบอก

โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องการวางแผนกับกลุ่มทุนขนาดยักษ์ทั้งในและต่างประเทศ ต้องถูกหยิบยกมา และกล้าฉายภาพให้ประชาชนเห็นอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรม และมีหลักฐานรองรับชัดเจน ไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ

แต่ปัญหาคือ ฝ่ายค้านอย่าง “พรรคประชาชน” วันนี้ มีความแตกต่างอะไรจากพรรคเพื่อไทยในบริบทเดียวกันนี้บ้าง

โดยเฉพาะบทบาทของ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าเป็น “ผู้นำหลังม่าน ผู้นำตัวจริง” ของพรรคประชาชนเช่นกัน

การอภิปรายของฝ่ายค้านที่มุ่งฟาดไปที่คุณทักษิณ จึงอาจโดนย้อนเกล็ดย้อนศรได้เหมือนกัน กับความเคลื่อนไหวเดินเกมการเมืองของคุณธนาธร ซึ่งมีข่าวว่ามีบทบาทต่อการตัดสินใจ และการทำงานของพรรคประชาชนอย่างมาก รวมถึงการบริหารจัดการต่างๆ ภายในพรรคประชาชน และการเลือกตัวบุคคลในการดำรงตำแหน่งต่างๆ ด้วย

เท่าที่ทราบ ทางคีย์แมนพรรคเพื่อไทยอ้างว่ามีข้อมูลเหล่านี้อยู่เช่นกัน และพร้อมเปิดข้อมูลตอบโต้ทันทีหากมีการพาดพิงอดีตนายกฯทักษิณ

ตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุด และเพิ่งเกิดไม่นาน คือการตัดสินใจเปลี่ยนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน จากการยื่นซักฟอกรัฐมนตรี 10 คน เหลือนายกฯแพทองธารเพียงคนเดียว ก็มีข่าวว่า “ผู้นำจิตวิญญาณของพรรค” มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และอาจมีบทบาทสูงในการเดินเกมเจรจาหลังม่านด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นเรื่องราวประเภทนี้ เราอาจได้เห็นแค่ “น้ำจิ้ม” หรือ “หนังตัวอย่าง” โดยไม่ได้มีโอกาสได้ซัด “เมนคอร์ส” หรือ “หนังยาวตลอดเรื่อง” อย่างที่หลายฝ่ายวาดหวัง

ผมกลับคิดว่า “ประเด็นอุยกูร์” กำลังน่ากลัวและมีน้ำหนักทำให้สภาเดือดมากกว่า เพราะกำลังบานปลายกลายเป็นประเด็นร้อนแรงมาก ถือว่าเข้าทางฝ่ายค้านพอดี และเป็นการ “ล็อกเป้า” นายกฯแพทองธาร ซึ่งปฏิเสธความรับผิดชอบแบบเต็มๆ ไม่ได้เลย

เหตุผลคือ...

1.ประเด็นอุยกูร์ เป็นประเด็นระหว่างประเทศที่สะท้อนจุดยืนไทยในเวทีนานาชาติ

 - ทั้งจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน

 - จุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศ

 - จุดยืนด้านการเคารพกติการะหว่างประเทศที่สำคัญ

 - จุดยืนการรับฟังเสียงเตือนจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐและอียู

 - จุดยืนท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ หรือ “ภูมิรัฐศาสตร์โลก”

2.จุดยืนเหล่านี้ มีเพียง “นายกฯ” คนเดียวเท่านั้นที่ตอบได้

 - มอบหมายรองฯภูมิธรรม หรือ รมว.ต่างประเทศ ตอบแทนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องจุดยืนประเทศ

 - ถ้ามอบหมายให้ตอบแทน จะเป็นเพียงงานธุรการ ซึ่งฝ่ายค้านจะแย้งและโจมตีกลับได้

 - คนไปเยือนจีน และจับมือกับ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง คือ นายกฯแพทองธาร

 - คนที่ โทรศัพท์คุยกับ โดนัลด์ ทรัมป์ หลังชนะเลือกตั้ง และรับตำแหน่ง รวมถึงนายกฯไทยรับตำแหน่ง คือนายกฯแพทองธาร ไม่ใช่ “บิ๊กอ้วน” หรือ “บิ๊ก” คนอื่นใดในรัฐบาล ฉะนั้นจึงมีความชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้นายกฯต้องตอบ

3.โอกาสที่นายกฯจะตอบแล้วได้แต้มจากฝั่งคนรุ่นใหม่ นักประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน ฝ่ายเสรีนิยม และฝ่ายที่นิยมตะวันตก “แทบไม่มีเลย” เพราะนายกฯจะได้คะแนนจากฝั่งอนุรักษนิยมเท่านั้น แต่กลุ่มอนุรักษนิยมพวกนี้ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ก็ไม่ใช่แฟนคลับเพื่อไทย

ในทางการเมือง พรรคเพื่อไทยและนายกฯแพทองธาร จึงเสียมากกว่าได้

4.ประเด็นความมั่นคงมีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอุยกูร์ เพราะประเทศไทยเคยมีประสบการณ์มาแล้ว จากการส่งอุยกูร์ให้จีน 100 กว่าชีวิตเมื่อปี 58 หรือ 10 ปีก่อน และ เกิดเหตุลอบวางระเบิดศาลพระพรหมตามมา

 เหตุระเบิดเกิดจากกลุ่มอุยกูร์หัวรุนแรง เป้าหมายคือทำร้ายนักท่องเที่ยวจีนในดินแดนไทย จึงเลือกศาลพระพรหม (ไม่สนว่าเป็นศาสนสถาน หรือเทวรูปศักดิ์สิทธิ์) ช่วงนั้นการท่องเที่ยวไทยเสียหายยับเยิน

ฝ่ายค้านสามารถหยิบเหตุการณ์นี้มาพูดได้ เทียบเคียงได้ เพราะขณะนี้ไทยยังไม่พ้นโซนอันตราย

ความต่างก็คือการส่งตัวอุยกูร์ครั้งก่อน สังคมไทยไม่ได้รับรู้เหมือนครั้งนี้ แม้แต่เกิดระเบิดศาลพระพรหมแล้วก็ยังไม่รู้ เรื่องมาแดงภายหลัง ทำให้กระแสต้านไม่มากนัก แต่ครั้งนี้ คนไทยรับรู้กระบวนการส่งกลับอุยกูร์ ฉะนั้นหากเกิดการก่อวินาศกรรมใหญ่ขึ้น รัฐบาลจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ ม็อบนอกสภาอาจจุดติดขึ้นมาก็ได้

5.ปัญหาอุยกูร์จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับความอ่อนด้อยและไร้ประสิทธิภาพในงานความมั่นคงเรื่องอื่นๆ เช่น ปัญหาชายแดนใต้ ปัญหาชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมา

ประเด็นเหล่านี้น่าจะเป็น “เป้าจริง” ของฝ่ายค้าน และลดเครดิตความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลได้มากกว่าเรื่อง “สทร.” ซึ่งรู้ๆ กันอยู่มานานแล้ว และแทบจะยอมรับกันโดยดุษณี!