'อุ๊งอิ๊ง-สรวงศ์' ลมหวนวันวาน 'ทักษิณ-ป๋าเหนาะ' ยังหวานอยู่

'อุ๊งอิ๊ง-สรวงศ์' ลมหวนวันวาน 'ทักษิณ-ป๋าเหนาะ' ยังหวานอยู่

เอ๊ะยังไง? ดูคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของพรรคเพื่อไทย แล้ว คิดว่า จะเป็นการพลิกโฉม เพื่อเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ ที่มีผู้นำรุ่นใหม่ สู้กับพรรคก้าวไกล ที่ยึดครองหัวใจของคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเอาไว้ได้เสียอีก

แต่ไปๆมาๆ ดูท่าว่า สายลมยังคงพัดหวนกลับไปสู่อดีตยุคไทยรักไทย และความสำเร็จสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรอยู่ดีนั่นเอง

ยิ่งคำพูดทิ้งท้ายของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในการแสดงวิสัยทัศน์ หลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ยิ่งเห็นได้ชัดว่า “วันวานยังหวานอยู่

“สุดท้ายนี้จะเป็นสิ่งที่ดิฉันอยากจะบอกกับตัวเองและทุกๆคนว่า เราตายังคงดูดาว เท้ายังคงติดดิน ยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนอย่างเข้มแข็งมั่นคง เพราะพรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน”

อย่าลืม “ตาดูดาว เท้าติดดิน” คือ ชื่อหนังสือที่บันทึกประสบการณ์ความสำเร็จอย่างสูงในเส้นทางชีวิตและการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

ขณะเดียวกัน หันมาดูตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ นอกจาก“อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร จะคว้าเก้าอี้หัวหน้าพรรคมาครองแล้ว

ตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล, นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์,

นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย, นางสาวจิราพร สินธุไพร นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ปัจจุบันอายุ 48 ปี เป็นบุตรชาย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี (สมัยนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์) และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับนางเพ็ชรี อมรวิวัฒน์

ที่สำคัญ ตำแหน่งเลขาธิการพรรค ซึ่งถือว่า จะมีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหัวหน้าพรรค ก็คือ นายสรวงศ์ เทียนทอง บุตรชายคนโต ของ นายเสนาะ เทียนทอง หรือ “ป๋าเหนาะ” ที่หลายคนรู้จักดีนั่นเอง

ช่างบังเอิญ หรือว่า “จงใจ” ทำให้ ทายาทสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร มาประกบคู่เป็น “ผู้นำรุ่นใหม่” ของพรรคเพื่อไทย กับ ทายาท “ป๋าเหนาะ” นักปั้น “นายกรัฐมนตรี” ถึง 3 คน คือ บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และ ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย   

สำหรับ “สรวงศ์” ถือว่า “ดีกรี”การศึกษา และประสบการณ์ทางการเมือง ไม่ธรรมดา  

“สรวงศ์” หรือ “บอย” เป็นบุตรคนโตของ “ป๋าเหนาะ” กับนางอุไรวรรณ เทียนทองสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศจากJohnson Wales University ประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนประสบการณ์การเมือง เป็นส.ส.จังหวัดสระแก้วครั้งแรก ในการเลือกตั้งส.ส.ปี2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย ปี 2550 ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.สมัยที่สองสังกัดพรรคพลังประชาชน และปี 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 สังกัดพรรคเพื่อไทย

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ปี 2556 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แทนนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว

เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร แทน นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ปี 2562 ลงสมัครเลือกตั้งส.ส.จังหวัดสระแก้ว สังกัดเพื่อไทยอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งและการเลือกตั้งปี 2566 ได้เป็นส.ส.จังหวัดสระแก้ว

ขณะที่ “ป๋าเหนาะ” ชื่อชั้นยังอยู่ในความทรงจำของหลายคน โดยเฉพาะแวดวงการเมือง ยุครุ่งเรืองของพรรคไทยรักไทย และพลังประชาชน รวมทั้ง ความบาดหมางเสมือน “ลิ้นกับฟัน” กับ “ทักษิณ ชินวัตร”  ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร”

“ป๋าเหนาะ” จบการศึกษาปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุมสมรสครั้งแรกกับ จิตรา โตศักดิ์สิทธิ์ มีบุตร 3 คน ได้แก่ พันตำรวจเอกสุรศักดิ์ เทียนทอง รับราชการตำรวจ, สุรเกียรติ เทียนทอง ประธานบริษัท เคเอเค อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป, สุรชาติ เทียนทอง อดีตส.ส.กทม. เขต 11 อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ ไทยเบฟเวอเรจ (เบียร์ช้าง)

ต่อมา “ป๋าเหนาะ” สมรสครั้งที่สอง กับ นางอุไรวรรณ เทียนทอง มีบุตร-ธิดา 2 คน คือสรวงศ์ เทียนทอง และ สิริวัลย์ เทียนทอง

นอกจากนี้ “ป๋าเหนาะ” มีน้องชายคนสุดท้องคือ นายพิเชษฐ์ เทียนทอง ที่มีบุตรคือ ฐานิสร์ เทียนทอง อดีตรมช.มหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์และตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว อดีตรมว.ศึกษาธิการ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในทางการเมือง “ป๋าเหนาะ” เริ่มเข้าสู่การเมืองครั้งแรกกับพรรคชาติไทย เมื่อปี 2518 และลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก เมื่อปี 2519 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ปราจีนบุรี และสระแก้ว (เมื่อสระแก้ว แยกออกมาเป็นจังหวัดใหม่) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี2531 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี2535 ต่อมาเริ่มมีบทบาทในพรรคมากขึ้น ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติไทย ขณะที่ นายบรรหาร ศิลปอาชาเป็นหัวหน้าพรรค และต่อมานายบรรหารได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2538 ขณะ “ป๋าเหนาะ” ได้นั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

“ป๋าเหนาะ” ลาออกจากพรรคชาติไทย ปี 2539 หลังจากนายบรรหาร ยุบสภา แล้วเข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคความหวังใหม่ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ปลุกปั้นจนพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และตัวเองได้นั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ในการเลือกตั้งครั้งต่อมา “ป๋าเหนาะ” ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และสนับสนุนให้นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย และไม่รับตำแหน่งทางการเมือง โดยให้นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยาเป็นรัฐมนตรีในโควตากลุ่มวังน้ำเย็นแทน

ในระยะหลัง “ป๋าเหนาะ” ถูกลดความสำคัญในพรรค จนกระทั่งในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2548 “ป๋าเหนาะ” ได้วิพากษ์วิจารณ์ “ทักษิณ” อย่างรุนแรง

“ป๋าเหนาะ” ลาออกจากไทยรักไทยเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2549 หลังจาก ทักษิณ ประกาศยุบสภา และได้ขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อปราศรัยหลายครั้ง จากนั้น “ป๋าเหนาะ” ได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า พรรคประชาราช โดยในช่วงแรกของการตั้งพรรค “ป๋าเหนาะ” นั่งเป็นหัวหน้าพรรคเอง ส่งผู้สมัครส.ส.ครั้งแรกได้ 5 ที่นั่ง และในการจัดตั้งรัฐบาล “ป๋าเหนาะ” นำพรรคประชาราชเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน จนช่วยให้ นางอุไรวรรณ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่อมาภายหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ “ป๋าเหนาะ” และพรรคประชาราช ไม่ได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงอยู่ในฐานะฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเพื่อไทย จนกระทั่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาในปี  2554

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2554 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่ง เดินทางไปเชิญ “ป๋าเหนาะ” เข้าร่วมพรรคเพื่อไทยโดย “ป๋าเหนาะ” ตอบรับ และลงสมัครส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 4 หลังจัดตั้งรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายฐานิสร์ เทียนทอง หลานชาย ได้รับตำแหน่งรมช.มหาดไทย

ในการเลือกตั้งส.ส.ปี 2557 “ป๋าเหนาะ” สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 7

ต่อมาเลือกตั้งส.ส.ปี 2562 “ป๋าเหนาะ” สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 5 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคมีส.ส.มากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

และเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ในวันเกิดครบรอบ 89 ปี “ป๋าเหนาะ” ประกาศวางมือทางการเมือง

กลับมาที่ “อุ๊งอิ๊ง” ในการแสดงวิสัยทัศน์ มีบางช่วงบางตอน พยายามย้อนให้เห็นภาพว่า “เพื่อไทย” มีรากฐานอันแข็งแรงมาจากยุคตั้งต้นอันรุ่งเรือง ซึ่งก็คือ “ไทยรักไทย” และเป็นสิ่งที่ประชาชนจับต้องได้

เริ่มจากกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงการส่งต่อภารกิจ แต่เป็นการเชื่อมความเชื่อมั่นความศรัทธาของทุกคนเข้าด้วยกันอีกครั้ง เราผ่านอะไรมามาก เป็นพรรคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และเป็นพรรคที่ถูกกระทำมากที่สุดเช่นกัน ตนเติบโตมาในแวดวงการเมือง ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ขอบคุณคุณพ่อนายทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้ได้เห็นถึงความตั้งใจ และอุดมการณ์ของท่าน ได้เรียนรู้ใกล้ชิดและเป็นแรงบัลดาลใจของตนในการดำรงชีวิต

“ดิฉันรู้ดีว่าภารกิจนี้ยิ่งใหญ่และสำคัญ โดยเฉพาะบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทุกวันนี้ดิฉันมั่นใจเรามีบุคลากรที่มีความสามารถมีประสบการณ์มาตั้งแต่ไทยรักไทยจนถึงปัจจุบัน เราจะพัฒนาพรรคอย่างไม่หยุดยั้ง จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ต้องถอดบทเรียนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทำให้ดีขึ้นเพื่อนำพรรคเพื่อไทยกลับไปยืนในใจพี่น้องประชาชนในฐานะพรรคการเมืองอันดับหนึ่งอีกครั้งอย่างยั่งยืน”

ส่วนทิศทางการพัฒนาพรรคต่อไป มี 4 ข้อ คือ 1. การเปลี่ยนผ่านข้อมูลทั้งหมดไปสู่ระบบดิจิทัลเพื่อให้พรรคมีฐานข้อมูลในการพัฒนา 2.สร้างองค์กรแนวราบ เพิ่มการมีส่วนร่วมของบุคลากร 3.เราจะทำให้องค์กรพรรคเพื่อไทย เป็นองค์กรแห่งความเรียนรู้มีศูนย์ข้อมูลศูนย์วิจัย เพื่อพัฒนานโยบายได้ทันท่วงที ฝึกอบรมสมาชิกทุกระดับ ทั้งยุวสมาชิกและสมาชิกทั่วไปเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนในทุกมิติ และ 4.ที่สำคัญเราต้องสร้างเครือข่ายครอบครัวเพื่อไทยให้แข็งแรง ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อรับฟังเสียงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จึงนับว่าน่าจับตามอง ศักยภาพของ “อุ๊งอิ๊ง-สรวงศ์” ในการนำทัพ “เพื่อไทย” สู้ศึกเลือกตั้งสมัยหน้า ว่า จะฟื้นศรัทธา สู้กระแส “พรรคตระบัดสัตย์” ที่คู่แข่งพยายามใช้โจมตีได้หรือไม่ ยิ่งกว่านั้น การเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคที่ส่วนใหญ่เป็น “คนรุ่นใหม่” จะดึงดูดฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” ที่ไม่เลือกพรรคก้าวไกล ได้มากน้อยแค่ไหน

 

เหนืออื่นใด “อุ๊งอิ๊ง-สรวงศ์” ไม่เพียงทำให้หวนนึกถึง “ทักษิณ-ป๋าเหนาะ” ในยุครุ่งเรืองของวันวาน กลับมายังหวานอยู่ในวันนี้ หากแต่ยังนึกถึง “ป๋าเหนาะ” ในฐานะมือปั้น “นายกรัฐมนตรี” ด้วย “รุ่นลูก” จะทำได้ดีเท่ากับรุ่นพ่อหรือไม่ อีกไม่นานเกินรอก็คงได้รู้!