พิเคราะห์ 'พิธา-ก้าวไกล' กระแสพุ่ง จุดยืน 'มีเราไม่มีลุง'

พิเคราะห์ 'พิธา-ก้าวไกล' กระแสพุ่ง จุดยืน 'มีเราไม่มีลุง'

คนไทยต้องการเปลี่ยนแปลง แม้ “ทางเลือก” มีไม่มากนัก น่าจะเป็นบทสรุปภาพรวมการเลือกตั้ง 2566 ได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งตั้งความหวังทุกอย่างจะดีขึ้น อย่างน้อยก็ไม่เหมือนเดิม อย่างในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่า จะดีขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม

สัญญาณบ่งบอกอย่างไม่ต้องสงสัยก็คือ กระแสความนิยมพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่นำทุกพรรคมาตลอด นับแต่เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง และทิ้งห่างในช่วงโค้งสุดท้ายซึ่งทั้งสองพรรค คือ ขั้วฝ่ายประชาธิปไตย ที่ถ้าจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ก็เท่ากับ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้น กระแสที่พุ่งแรง ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ผลโพล(ผลสำรวจ) ประชาชนอยากได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” และพรรคก้าวไกล ที่คนไทยต้องการเลือกส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” ก็ยิ่งสะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างแจ้งชัด  

ทั้งนี้ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "ข่าวใหญ่" (4 พ.ค.66) มีบางตอนที่พูดเกี่ยวกับ กระแสที่ “พิธา” เอาชนะ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ “ก้าวไกล” กระแสแรงจนหายใจรดต้นคอ“เพื่อไทย” เอาไว้อย่างน่าสนใจ

“จตุพร” พยายามชี้ให้เห็น ข้อผิดพลาดของพรรคเพื่อไทยในเรื่องของ “จุดยืน” ทางการเมือง ที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะ กรณีไม่ยืนยันว่า จะจับมือกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชาชารัฐ และพรรคพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ จนปล่อยให้ความไม่เชื่อมั่นของประชาชนฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดกระทั่งทุกวันนี้

ต่างจากพรรคก้าวไกล ที่มีความมั่นคงใน “จุดยืน” ทางการเมือง ที่จะไม่จับมือร่วมรัฐบาลกับ “ฝ่ายเผด็จการ” โดยเฉพาะกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กระทั่ง ล่าสุด การแสดงจุดยืน “มีลุงไม่มีเรา” หรือ “มีเราไม่มีลุง” จนกระแสพุ่งแรงอย่างพลิกความคาดหมาย    

“พรรคเพื่อไทยควรคิดทบทวนความนิยมของพรรคก้าวไกล ช้าๆ แล้วต้องถามตัวเองว่าทำไมแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล จึงขยับมาแซงนำแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยได้ รวมทั้งโพลเสียงปาร์ตี้ลิสต์ และ ส.ส.เขตยังเบียดขึ้นนำอีก และบางโพลจ่อคอหอยพรรคเพื่อไทยไปทุกขณะ ทั้งๆที่ ความจริงแล้ว พรรคก้าวไกลไม่มีอะไรมากมายเลย

สาระหลักที่คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยถดถอยลง เกิดจากกรณีเดียวเท่านั้น คือ จะจับมือหรือไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตนได้เริ่มต้นตั้งคำถามนี้มาร่วมเดือนแล้วเวลานั้นถามทุกวัน แต่ไม่มีคำตอบชัดเจนจากพรรคเพื่อไทย

แม้บางครั้งแกนนำพรรคเพื่อไทยทนไม่ไหว บางคนยอมตอบ แต่ตอบลักษณะไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนกลายเป็นกระแสลุกลาม อีกทั้งสื่อมวลชนตั้งคำถามให้เกิดความกระจ่างแจ้ง แต่พรรคเพื่อไทยยังบ่ายเบี่ยงตอบไม่ชัดเจนเหมือนเดิม

ตลอดจน เห็นว่า การอธิบายเรื่องนี้ระหว่างพรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเพื่อไทยนั้น คนเชื่อพรรคก้าวไกลที่ประกาศไม่จับมือกับ พปชร. และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนนำมาถึงโหมปลุกวลี “มีลุงไม่มีเรา หรือ มีเราไม่มีลุง” ส่วนไทยสร้างไทยก็ประกาศชัดไม่แตกต่างจากพรรคก้าวไกล จนสังคมไม่สงสัยในจุดยืนทางการเมือง แล้วทำไมคนจึงไม่เชื่อพรรคเพื่อไทยเลย สังคมยังสงสัยในจุดยืนอยู่เหมือนเดิม...”

แน่นอน, แม้ประเด็นของ “จตุพร” มองเรื่อง “จุดยืน” ทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน ของพรรคเพื่อไทย มีผลต่อคะแนนนิยม แต่อีกด้านหนึ่ง ปัญหาจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับ ฝ่ายอำนาจปัจจุบัน ก็สะท้อนให้เห็น“การเปลี่ยนแปลง” จะเกิดขึ้นหรือไม่ด้วย

 

เพราะฉะนั้น กระแสที่ก้าวไกล “พุ่งแรง” ย่อมสะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ขณะที่ประชาชนยังคลางแคลงใจว่า พรรคเพื่อไทย อาจยังคงเป็นส่วนผสมของ“ฝ่ายอำนาจปัจจุบัน” หรือ ได้รัฐบาลที่เหมือนเดิม  กรณีเชื่อว่าจะจับมือกับ “พลังประชารัฐ” ตั้งรัฐบาล

ส่วนปรากฏการณ์ที่ทำเอาฝ่ายอนุรักษนิยม “อึ้งทึ่งเสียว” ขึ้นมาทันควัน ก็คือ ผลสำรวจของ “นิด้าโพล”

โดยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รายงานผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ศึกเลือกตั้ง2566 ครั้งที่ 3’

เริ่มจาก ถามว่า บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็น นายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งครั้งนี้ (เอาแค่ 5 อันดับแรก)พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 35.44 ระบุ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 29.20 ระบุ แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง พรรคเพื่อไทยอันดับ 3 ร้อยละ 14.84 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ4 ร้อยละ 6.76 ระบุ เศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย อันดับ 5 ร้อยละ 3 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

ต่อมา ถามว่า พรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) แบบแบ่งเขต (เอาแค่ 5 อันดับแรก) พบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 38.32 ระบุ พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 33.96 ระบุ พรรคก้าวไกลอันดับ 3 ร้อยละ 12.08 ระบุ พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 4.28 ระบุ พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 2.92 ระบุ พรรคภูมิใจไทย

ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์) (เอาแค่ 5 อันดับ)พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.92 ระบุ พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 35.36 ระบุ พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 12.84 ระบุ พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 3.32 ระบุ พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 2.36 ระบุ พรรคภูมิใจไทย

อันสะท้อนให้เห็นว่า กรณี “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ที่ประชาชนนิยม “พิธา” ทิ้งห่าง“อุ๊งอิ๊ง” อย่างมาก ขณะที่ ความต้องการเลือกส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จี้ติดพรรคเพื่อไทย อย่างชนิดหายใจรดต้นคอกันเลยทีเดียว  

นอกจากนี้ กระแสพรรคก้าวไกลที่พุ่งแรง ยังมีส่วนอยู่ไม่น้อย ที่ทำให้พรรคเพื่อไทย ได้ที่นั่งส.ส.ลดลง เนื่องจากฐานความนิยมอยู่ในฝ่ายเดียวกัน

เมื่อดูจากผลสำรวจ ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ครั้งที่ 7 ก็สะท้อนชัดเช่นกัน

กรณีผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส.พบว่า พรรคเพื่อไทยจะได้จำนวนส.ส.139 ที่นั่ง แบ่งเป็นส.ส.เขต 111 บัญชีรายชื่อ 28 ที่นั่ง ต่ำสุด 114 ที่นั่ง สูงสุด 164 ที่นั่ง

รองลงมา คือ ภูมิใจไทยได้ ส.ส. 112 ที่นั่ง แบ่งเป็นส.ส.เขต 96 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 16 ที่นั่ง ต่ำสุด 87 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 137 ที่นั่ง อันดับ 3 ก้าวไกล ได้จำนวน 63 ที่นั่งส.ส.เขต 40 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 23 ที่นั่ง ต่ำสุด 38 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 88 ที่นั่งอันดับ 4 พลังประชารัฐ ได้ 61 ที่นั่ง ส.ส.เขต 53 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 8 ที่นั่ง ต่ำสุด 36 ที่นั่งและจำนวนสูงสุด 86 ที่นั่ง

อันดับ 5 ประชาธิปัตย์ ได้จำนวน 49 ที่นั่ง ส.ส.เขต 44 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 ที่นั่งจำนวนต่ำสุด 24 ที่นั่ง และจำนวน สูงสุด 74 ที่นั่ง อันดับ 6 รวมไทยสร้างชาติ ได้จำนวน46 ที่นั่ง ส.ส.เขต 35 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 11 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 21 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 71 ที่นั่ง...

จากผลสำรวจ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ชี้ว่า ภาพรวม ไม่มีพรรคใดจะได้ส.ส.แลนด์สไลด์แม้แต่ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่พรรคเพื่อไทยเคยได้สูงสุด ผลการศึกษาครั้งนี้กลายเป็นว่าพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นตัวแบ่ง โดยสามารถช่วงชิงเก้าอี้ภาคอีสานได้ถึง 20 ที่นั่งจากเพื่อไทยเดิม

การที่พรรคก้าวไกล มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น เป็นเพราะนโยบายโดนใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่นิยมก้าวไกลจะแรงกว่าคนรุ่นใหม่ที่นิยมเพื่อไทย คะแนนคนรุ่นใหม่เทไปพรรคก้าวไกลถึงร้อยละ 60 และคนรุ่นใหม่ที่เคยเลือกเพื่อไทยก็เปลี่ยนมาเลือกก้าวไกลจากนโยบายและคำพูดที่โดนใจ

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ แรกทีเดียว หลายคนเชื่อว่า “ก้าวไกล” จะมีปัญหากับนโยบายแก้ไข ป.อาญา ม.112 ซึ่งเกี่ยวกับ เรื่องหมิ่นสถาบันฯ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความจงรักภักดี

แต่อย่างไรก็ตาม “ก้าวไกล” ก็ยังมีฐานเสียงอันเหนียวแน่นของ “คนรุ่นใหม่” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเปลี่ยนแปลงประเทศ

 

กระนั้น “ก้าวไกล” ก็รู้ว่า นโยบายแก้ไขม.112 ไม่ใช่จุดขายกับคนทั่วไป เพียงแต่ต้องมีเพื่อรองรับฐานเสียงคนรุ่นใหม่กลุ่มใหญ่ ที่สนับสนุน “ก้าวไกล” ต่อเนื่องมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่

 

ดังนั้นการ “อธิบาย” เรื่องแก้ไข ม.112 จึงมุ่งสร้างสรรค์มากกว่า ทำลาย หรือ “ล้มล้าง” ทำให้เรื่องนี้มีผลกระทบต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่น้อยลง และพยายาม “บดบัง” ด้วยนโยบายที่ท้าทายต่อความนิยมของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น และเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล   

จึงไม่แปลก ที่จะเห็นการปลุกกระแสตั้งรัฐบาล “ไม่เอาทั้งระบอบทักษิณ” และ “ระบอบประยุทธ์(รัฐประหาร)” ข้อเสนอจาก “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล การปลุกกระแส “มีเราไม่มีลุง” หรือ “มีลุงไม่มีเรา” และ “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม”

และก็ได้ผล ปรากฏว่า พรรคก้าวไกล ไต่อันดับไปอยู่ในความนิยมของประชาชน ไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่ บางกลุ่มที่เคยสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น หากแต่ยังขยายผลไปสู่วงกว้าง ทั้งที่นโยบายก็ไม่ได้สร้าง “เซอร์ไพรส์” อะไรใหม่

สิ่งที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด จนถึงวันเลือกตั้ง ก็คือ กระแส “ก้าวไกล” จะสร้างปรากฏการณ์ เพียงพอที่จะ “เปลี่ยนแปลง” รัฐบาล ได้หรือไม่ เท่านั้นเอง