'ก้าวไกล' ปลุกยุทธศาสตร์ ไม่เอา 'ทักษิณ-รัฐประหาร'

'ก้าวไกล' ปลุกยุทธศาสตร์ ไม่เอา 'ทักษิณ-รัฐประหาร'

จากท่าที เป็นรอง ของพรรคก้าวไกล ถ้อยทีถ้อยอาศัยพรรคเพื่อไทย เพื่อหวังที่จะจูงมือกันตั้งรัฐบาล จนสาย “ฮาร์ดคอร์” อุดมการณ์เข้มชักไม่ปลื้ม ไม่เห็นด้วย วันนี้ “ก้าวไกล” ไม่อย่างนั้นอีกต่อไป “ก้าวไกล” พร้อมที่จะเดินด้วยลำแข้งตัวเอง พร้อมเสนอทางออกของประเทศด้วยตัวเอง

ขณะการเลือกตั้ง66 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เดินทางมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายอย่างพอเหมาะพอดี สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา จึงนับว่าน่าสนใจ  

ยิ่งถ้าจับสัญญาณจาก กรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีอย่างหนัก กรณีให้สัมภาษณ์ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อไม่นานมานี้ และให้สัมภาษณ์ นางสุริวิภา กุลตังวัฒนา หรือ “หนูแหม่ม” เมื่อปี 2552 เกี่ยวกับการเดินทางกลับมางานศพบิดาในช่วงเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ไม่ตรงกัน จนดูเหมือน “กุเรื่อง” ขึ้นมา เพื่อให้ร้าย “รัฐประหาร” และ จงใจให้มีผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะมาถึงหรือไม่?

เรื่องนี้ “นักร้อง” จมูกไว อย่าง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และ “พี่ศรี” ศรีสุวรรณ จรรยา ก็หยิบยกมาเป็นประเด็นยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สอบ ทันทีทันควัน

เพราะอาจผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2561 มาตรา 73 (5) และต้องการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว

 

แน่นอน, อีกด้านหนึ่ง ย่อมสะท้อนให้เห็นถึง “ความกลัว” ในกระแสนิยมของ “พิธา” และพรรคก้าวไกล ที่โพลบางสำนักเริ่มให้ราคา และถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งไม่แน่ พรรคก้าวไกลนี่เอง จะเป็นคนดับฝัน ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ ถล่มทลายของพรรคเพื่อไทย   

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยพรรคก้าวไกล มีนโยบายที่ท้าทายการเปลี่ยนแปลงอย่างสูง และ “พลิกฝ่ามือ” หลายเรื่อง ย่อมสร้างความหวาดหวั่นให้กับฝ่าย “อนุรักษนิยม” ไม่น้อยเช่นกัน

แล้วก็ไม่แปลก ที่จะได้เห็น “วิวาทะ” ระหว่าง “ติ่ง” เพื่อไทย กับ “ติ่ง” ก้าวไกล ออกมาตอบโต้กัน อย่างไม่นับถือเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกต่อไป ในโลกโซเชียล

อย่าง เพจเฟซบุ๊ก Lakkana Punwichai ของ นางสาวลักขณา ปันวิชัย หรือ “คำ ผกา” หรือ แขก พิธีกรชื่อดัง โพสต์ข้อความ (25 เม.ย. 66) ระบุว่า

คนที่สนับสนุนเพื่อไทย เขารู้เหมือนคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลนั่นแหละค่ะว่า การรัฐประหารมีปัญหา กองทัพมีปัญหา ความสัมพันธ์ของสถาบันทางเมืองสำคัญๆ บิดเบี้ยวจากหลักการ ปชต. แต่เขาเลือกพรรคเพื่อไทยด้วยเห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่หลอกลวงเรา ว่าเรื่องไหนทำได้เลย เรื่องไหนยังทำไม่ได้

และเหตุที่เราไม่เลือกก้าวไกล เพราะเรารู้ทันว่า เขาปลุกเร้าคนให้เชื่อว่า เขาจะมา ‘ล้มล้างต้นตอปัญหา’ ที่เพื่อไทยไม่กล้าแตะ ทั้งๆ ที่เขาก็รู้ว่า มันทำไม่ได้ เช่นกัน

เป็นไปไม่ได้ที่จะออกกฎหมายห้ามรัฐประหาร ในแง่กฎหมาย เหมือนออกกฎหมายฆ่าคน เรามีกฎหมายก็จริง แต่คนจะฆ่า มันก็ฆ่า เช่นกัน คนทำ รปห. ทำเสร็จยึดอำนาจได้ก็แค่นิรโทษกรรมตัวเอง

สิ่งที่ทำได้คือ พยายามพูดเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้ ปชช. หวงแหนประชาธิปไตย!

การปฏิรูปกองทัพเรื่องใหญ่ ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ ในรัฐบาลสมัยเดียว มันต้องค่อยๆทำให้รัฐบาลเลือกตั้งเข้มแข้งขึ้นเรื่อยๆ

ที่พูดๆ กันว่า จะทำให้สำเร็จในเร็ววัน มันไม่ได้แน่ การเมืองการเลือกตั้งต้องเข้มแข็งและต่อเนื่อง เพราะมันเรื่องใหญ่ ใครที่อ้างว่า ทำได้ในเร็ววัน คือ โกหก หลอกลวง!!

การเมืองไม่ใช่เรื่องความเท่ แต่เป็นเรื่องชีวิต!

แขกเคารพพรรคเพื่อไทย แม้จะมีข้อบกพร่องหลายอย่าง แต่เขาไม่เอาชีวิตของประชาชนมาทำให้เป็นเรื่องเล่นๆ หลอกเอาคะแนนไปวันๆ โดยไม่รับผิดชอบ”

ในทวิตเตอร์ “เดอะอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย ทวิตข้อความระบุว่า

“ประชาชนต้องการพรรคการเมือง...ที่มี วุฒิภาวะ

มีความสามารถที่จะทำงานกับผู้อื่นๆได้ มีความสามารถที่จะทำงานเป็น ทำได้จริงมีปสภ.ที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหาและชีวิตประชาชนได้ในวันนี้

มิใช่ความสามารถที่ไกลเกินเอื้อม

"ไม่ใช่ฝันถึงดวงดาว แต่ไปได้ไกลแค่ต้นมะพร้าว"

ฝากคิด ฝากพิจารณา”

จากนั้น “เจี๊ยบ” อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีตผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ไม่ยอมปล่อยผ่าน ทวิตโต้ ว่า “ใครน้าาาา  ”

เท่านั้น ไม่พอ “ติ่งรุ่นใหญ่” อย่าง จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw, ผู้ก่อตั้งประชาไท, ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“ถ้าไม่อยากเห็นพรรคเพื่อไทยร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคห่วยแตกทั้งหลายต้องรวมพลังกันเทคะแนนให้ก้าวไกล”

จนทำเอา “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ, ผู้ก่อตั้งกลุ่ม CARE, หนึ่งในกลุ่มคนเดือนตุลา, หนึ่งในผู้ผลักดันโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ทนไม่ไหว ต้องโพสต์เพจเฟซบุ๊ก โต้

“ถ้าชอบนโยบายเพื่อไทย อยากให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็เทคะแนนให้เพื่อไทย ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน”

นี่ไม่รวม “ติ่ง” ตัวยง ตัวเล็กตัวน้อยอีกมากมาย ที่นำเอาประเด็น “วิวาทะ” ดังกล่าวไปขยายผล และแต่งเติม ตีไข่ใส่สี จนแทบไม่ต้องสงสัยว่า “ขั้วประชาธิปไตย” ก็มีแฟนใครแฟนมันอย่างชัดเจน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่พรรคเพื่อไทย “เหลิงกระแส” เคยประกาศ “ยุทธศาสตร์” ทิ้งเพื่อนพรรคพี่พรรคน้องฝ่ายเดียวกันมาแล้ว โดยเสนอให้ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทย พรรคเดียว เพื่อ “แลนด์สไลด์” ได้ที่นั่งส.ส.มากพอที่จะ “ปิดสวิตช์” ส.ว.250 เสียง และปิดประตู “สืบทอดอำนาจเผด็จการ”

เหตุผลเพราะ พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคเดียวที่มีโอกาส “ชนะเลือกตั้ง” มากที่สุด ในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน

ไม่เช่นนั้น ไม่มีทางที่ฝ่ายประชาธิปไตย จะตั้งรัฐบาล หรือเอาชนะฝ่ายเผด็จการได้ อะไรทำนองนั้น

มาวันนี้พรรคก้าวไกลเอาบ้าง ประกาศ “ยุทธศาสตร์” ก้าวข้ามวังวนอดีตซ้ำซากของ“การรัฐประหาร” และ “ระบอบทักษิณ” วนเวียนกันอยู่ในรอบ 40 ปี หรือ ปลุกกระแส “กา “ก้าวไกล” ไทยไม่เหมือนเดิม”

โดยคนที่เป็นตัวแทน ออกมาปลุกกระแสก็คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก (25 เม.ย.2566) ระบุบางช่วงบานตอนว่า

“...การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ มีความพยายามจะนำพาสังคมไทยกลับไปหาอดีต ชวนเรากลับไปเห็นภาพวันชื่นคืนสุขในอดีต และชวนให้ประชาชนเชื่อว่าอดีตอันหอมหวนนั้นจะกลับมาได้อีกในอนาคต ฝ่ายหนึ่ง พาเรากลับไปยังสังคมไทยยุค2520 อีกฝ่ายหนึ่ง พาเรากลับไปยังสังคมไทยยุค 2540

ช่วงทศวรรษ 2520 การเมืองไทยถูกขนานนามว่า เป็นยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” มีรัฐธรรมนูญ 2521 เป็นกลไก อนุญาตให้มีการเลือกตั้งได้ แต่เมื่อเลือกมาแล้วต้องให้ทหารเป็นนายกฯ และให้กองทัพกับระบบราชการคุมรัฐบาล พรรคการเมืองทำหน้าที่รวบรวมไพร่พลส่งลงสมัคร ส.ส. การเลือกตั้งชนะกันได้โดยมีปัจจัยหนุนเสริมสำคัญ นั่นก็คือ อิทธิพลกลไกรัฐในพื้นที่ และเงิน เมื่อเลือกตั้งแล้ว แต่ละพรรคก็มารวมกันเป็นรัฐบาลผสม สนับสนุนให้ทหารนายพลเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ให้การสนับสนุน

เมื่อเป็นรัฐบาลผสม แต่ละพรรคก็ต่อรองกดดันนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพนโยบายต่างๆดำเนินการโดยระบบราชการ/เทคโนแครต วิธีคิดทางเศรษฐกิจมุ่งเน้นไปที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มทุนธนาคาร ส่งส่วยให้กลุ่มทุนเหล่านี้ ปล่อยให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่เหล่านี้ผูกขาดและขูดรีดค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันนักการเมืองกับระบบราชการก็ร่วมมือกันทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อหาเงินทุนไปทำการเมืองต่อ

ช่วงทศวรรษ 2540 กระแสปฏิรูปการเมืองเบ่งบาน รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นความหวังของสังคมไทย มุ่งหมายให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ พร้อมกับมีระบบตรวจสอบรัฐบาล และประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน พรรคไทยรักไทยถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม2541 ได้รวบรวม ส.ส.จากพรรคอื่นๆเข้ามา มุ่งขายนโยบายที่ทันสมัย กระแสคนอยากเปลี่ยนรัฐบาลแบบเดิมๆ ทำให้พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายในปี 2544 เมื่อเป็นรัฐบาลก็สามารถส่งมอบนโยบายที่ดีให้กับประชาชนได้ 

ต่อมา พรรคไทยรักไทยได้ควบรวมพรรคการเมืองอื่นๆเข้ามา และประกอบกับผลงานของรัฐบาล ทำให้การเลือกตั้งในปี 2548 ชนะอย่างถล่มทลายมากกว่าเดิม ก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

จนวันนี้ ผ่านมา 17 ปี เรายังคงอยู่ในวิกฤตการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ปีนี้ 2566 สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เปลี่ยนไปมาก ประชาชนคนส่วนใหญ่เยาวชนคนรุ่นใหม่ มีความคิดที่ก้าวหน้าแหลมคมมากกว่าเดิม การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จะต้องไม่นำพาเรากลับไปอดีต ทั้งแบบทศวรรษ 2520 และทศวรรษ2540 เราต้องไม่ปล่อยให้พวกเขา พาเรากลับไปทศวรรษที่ 2520 ที่นโยบายเศรษฐกิจนำไปสู่การส่งส่วยให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ปล่อยให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ขูดรีดค่าเช่าทางเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกัน เราต้องไม่ยอมให้พวกเขาพาเรากลับไปทศวรรษที่ 2540 ที่นโยบายเศรษฐกิจ คิดแต่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจ ขยายเค้กก้อนใหญ่ ให้ทุนได้เติบโต แล้วค่อยแบ่งปันให้คนเล็กคนน้อย ผ่านบางนโยบายที่ช่วยประชาชนฐานรากที่ทุกข์เข็ญ

แต่เราต้องมองไปสู่อนาคต สร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน ถ้วนหน้า ครบวงจร ยั่งยืน ให้แก่ประชาชน ให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตที่ดีตั้งแต่เกิดจนตาย ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคเท่าเทียม สนับสนุนทุนใหญ่ไปสู้ในตลาดโลก เปิดทางให้ทุนขนาดกลางและเล็กเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน

เราต้องไม่ปล่อยให้พวกเขา พาเราย้อนกลับไปทศวรรษที่ 2520 ที่มีพรรคจำนวนมากหรือ “สหพรรค” ไม่มีการแบ่งอุดมการณ์ เฉดความคิด ขอแต่ตั้งพรรคมามากๆเพื่อรวบรวม ส.ส.ไปขอแบ่ง รมต. เช่นเดียวกัน เราต้องไม่ยอมให้พวกเขาพาเรากลับไปทศวรรษที่ 2540 ที่มีพรรคขนาดใหญ่พรรคเดียวครอบงำ เอา ส.ส.ทุกคนรวมเข้ามาโดยไม่คิดถึงอุดมการณ์ ความคิด คิดแต่เพียงจำนวนให้มาก เพื่อเอาชนะเลือกตั้งเด็ดขาด เมื่อเกิดวิกฤตการเมือง เกิดรัฐประหาร ส.ส.ที่รวมเข้ามา ก็ย้ายข้างไปซบทหารแล้ววันหนึ่ง ก็กลับมาใหม่ วนเวียนแบบนี้ซ้ำซาก

แต่เราต้องมองไปสู่อนาคต มีพรรคการเมืองของมวลชน ประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าของมีจุดยืนอุดมการณ์ชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่กั๊ก ไม่กลัว ไม่เกรง ไม่กังวล มั่นคงในจุดยืนคิดอย่างไร พูดอย่างนั้น พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น คัดเลือกผู้สมัครจากอุดมการณ์ความคิด มิใช่ ดูว่าใครมีโอกาสได้เป็น ส.ส. หรือมีทรัพยากร เงินทองให้พรรค

เราต้องไม่ปล่อยให้พวกเขาพาเราย้อนกลับไปทศวรรษที่ 2520 ที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งพากันสวามิภักดิกับชนชั้นนำจารีตประเพณี ทุนผูกขาด และกองทัพ รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เพื่อให้ชนชั้นนำจารีตประเพณี คุ้มกะลาหัว และให้หลักประกันว่าบรรดานักการเมืองยังมีพื้นที่อำนาจการเมืองและเศรษฐกิจอยู่บ้าง

เช่นเดียวกัน เราต้องไม่ยอมให้พวกเขาพาเราย้อนกลับไปทศวรรษที่ 2540 ที่นักการเมืองมีเสียงข้างมากมหาศาล เพื่อใช้เจรจาต่อรองกับชนชั้นนำจารีตประเพณี อาสาตนเป็นผู้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง โดยรับประกันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจนไปกระทบกับชนชั้นนำจารีตประเพณี เพื่อให้แต่ละชนชั้นอยู่ในที่ทางของตนเองดังเดิม แช่แข็งอยู่ที่เดิมอย่างมีความสุข แต่เมื่อความนิยมมากมายมหาศาล ก็ทำให้ชนชั้นนำจารีตประเพณีกังวล ไม่ไว้วางใจ จนไม่อนุญาตให้อยู่ในอำนาจ

แต่เราต้องมองไปสู่อนาคต เราต้องต่อสู้เพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ ประชาชนผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ประชาชน 99% เปลี่ยนโครงสร้างทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ปฏิรูปกองทัพ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร เอาคนเข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษ ปฏิรูประบบราชการ กระจายอำนาจ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อจัดวางสัมพันธภาพทางอำนาจของทุกสถาบันกันใหม่ สร้างระบบสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าครบวงจร ปฏิรูปที่ดิน ปฏิวัติการศึกษา...”

เห็นได้ชัดว่า สาระสำคัญดังกล่าว พรรคก้าวไกล โดย “ปิยบุตร” พยายามชี้ให้เห็น“ปัญหา” ที่เป็นสาเหตุของการทำให้การเมืองไม่พัฒนา และไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เพียงอยู่ที่ การสืบทอดอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม เท่านั้น หากแต่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด(2540) อย่าง คนใน “ระบอบทักษิณ” ก็ไม่ได้ทำให้หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ได้  

นั่นชัดเจนว่า “ก้าวไกล” เสนอตัวเป็น “ทางเลือก” เพื่อการเปลี่ยนแปลง ไปสู่ “อนาคตใหม่” ปลุกกระแสให้ประชาชน เลือกที่จะ “ทิ้ง”ทั้งการสืบทอดอำนาจ “รัฐประหาร” และสืบทอดอำนาจ “ระบอบทักษิณ” ที่เห็นอยู่แล้วว่า อนาคตก็หนีไม่พ้นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

แล้วมาดูกันว่า “ยุทธศาสตร์” นี้จะได้ผลหรือไม่ “ก้าวไกล” จะแย่งคะแนนเสียงจาก “เพื่อไทย” ตามการวิเคราะห์จากฐานความนิยมกลุ่มเดียวกัน หรือ จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ได้รับเลือกตั้งจนพลิกความคาดหมาย อีกไม่ช้าไม่นานก็คงได้รู้กัน!