จับตา “สุดารัตน์-สมคิด-อนุทิน” จุดประกาย “ผู้นำ” เหนือขัดแย้ง

จับตา “สุดารัตน์-สมคิด-อนุทิน” จุดประกาย “ผู้นำ” เหนือขัดแย้ง

ถ้าพูดถึงความเข้าใจปัญหาประชาชน เข้าใจการเมือง ถือว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว จุดเริ่มทำงานการเมืองอย่างจริงจังของทั้งสองคน เริ่มจากจุดเดียวกันคือ พรรคไทยรักไทย

ไม่แปลกที่การตัดสินใจทำงานการเมืองกับพรรคสร้างอนาคตไทย “สมคิด” มองว่าปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน เป็นเรื่องใหญ่ ขณะที่เรื่อง “การเมือง” เป็นความขัดแย้ง ดังนั้น จึงชู “เศรษฐกิจนำการเมือง” และหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ซึ่งการเมืองไทยกำลังติด “หล่ม”อยู่ในเวลานี้

 

ยิ่งกว่านั้น ที่ฮือฮาไม่น้อย กรณีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “สมคิด” นำทีมคณะผู้บริหารพรรค อาทิ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการ พรรคสร้างอนาคตไทย, นายวัชระ กรรณิการ์ รองเลขาธิการ พรรคสร้างอนาคตไทย , นายสุพล ฟองงาม ประธานภาคอีสาน พบตัวแทนกลุ่มเกษตรกรและชาวบ้าน จากอำเภอวารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

โดย ชาวเกษตรกรได้สะท้อนปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าคือน้ำท่วม ราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ปัญหาหนี้สิน ที่ไม่เคยถูกแก้ไขอย่างจริงจัง ขอให้ทีมพรรคสร้างอนาคตไทยช่วยแก้ปัญหา เพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

“สมคิด” กล่าวว่า ตนเองทำงานมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยอยู่พรรคไทยรักไทย สิ่งที่ทำ“เรื่องจำนำข้าว” ไม่ได้เป็นการจำนำเพื่อหาเสียง แต่จำนำเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา การแก้ปัญหาเกษตรกรต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่ต้องทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร

 

สำหรับ “ภาคอีสาน” เป็นภาคที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคน มี ส.ส. ถึง132 คน ต้องคิดให้ได้ว่าที่ผ่านมามีส.ส.มากที่สุด แต่ทำไมยังช่วยไม่ได้ ส่วนการแก้ปัญหาน้ำสามารถทำได้ รัฐบาลต้องตีโจทย์ให้ได้ว่า จะเสร็จภายในกี่ปี ทุกหน่วยทุกกระทรวงต้องช่วยกัน ไม่ใช่น้ำท่วม แต่ไม่มีใครดูแลหรือรับผิดชอบโดยเฉพาะ นี่คือปัญหาที่แท้จริง

 

“ไม่โทษใคร แต่เราต้องเริ่มกันใหม่ คนที่โฆษณาว่า เลือกเขาเพื่อจะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น งี่เง่า เป็นทำไมนายกรัฐมนตรี เป็นแล้วเท่นักเหรอ ถ้าชาวบ้านไม่มีกิน น้ำท่วม มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ปุ๋ยก็ราคาแพง ยังไม่ทันเพาะปลูกก็ขาดทุนแล้ว แบบนี้จะให้ลืมตาอ้าปากได้อย่างไร”

 

“สมคิด” เสนอว่า การจะพลิกฟื้นภาคอีสานใช้งบประมาณไม่มาก แต่ต้องคำนึงถึงงบประมาณ จัดลำดับความสำคัญ ต้องทำให้กับคน 20 ล้านคน ที่ยังยากจนอยู่ ยอมรับว่าเสียดายสิ่งที่เคยผลักดันงบประมาณเข้าหมู่บ้านได้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท หากตนยังทำอยู่ จะไม่เกิดปัญหาเช่นนี้ ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) นั้น เขาอยากช่วยเกษตรกร แต่อยู่ที่นโยบายรัฐที่เอาผลการดำเนินงานจากตัวเลขหนี้เสีย(NPL) มาเป็นตัวชี้วัด ประเมินผลการทำงานของหน่วยงาน จึงทำให้ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ไม่สามารถช่วยเกษตรกรได้เต็มที่

 

“สมคิด” มองว่า การเมืองปัจจุบัน อยากให้คนรุ่นใหม่ เข้ามาศึกษา เพราะมีอุดมการณ์มีไฟ มีสิ่งที่มุ่งหวังในชีวิต แม้จะเงินเดือนเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าคุณทำการเมืองด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ทุจริต ก็สามารถอยู่ได้ ไม่ใช่วิ่งหาแต่เสรีภาพ มีเสรีภาพแต่ไม่มีความรับผิดชอบบ้านเมืองก็จบ

 

นอกจากนี้ “สมคิด” ยังให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี จงใช้เวลาที่อยู่ในตำแหน่งทำให้ดีที่สุด อย่ากลัวนักการเมือง อย่าเกรงใจ อะไรที่จะสมควรทำ ให้ทำไปเลย ส่วนพรรคสร้างอนาคตไทย หากโชคดีประชาชนให้การช่วยเหลือ จะเข้ามาทำงานเพื่อคนจนจริงๆ

 

“ที่บอกว่า สมคิดช่วยแต่คนรวย ผีเจาะปาก ไปนับดูว่าทำงานมากี่ปี ทำอะไรมาบ้างตั้งแต่ ธ.ก.ส. ธนาคารประชาชน กองทุนหมู่บ้าน OTOP ไปดูซิว่า ใครทำ ถ้าหัวไม่กระดิกหางไม่ส่ายแน่นอน ผมต้องการพูดให้เสียงนี้ดังไปถึงทั่วอีสาน จะเป็นนายกฯหรือไม่ เป็นเรื่องเล็ก คนเป็นนายกฯไม่ใช่เป็นง่าย เป็นแล้วช่วยคนได้จริงๆ คือการเสียสละถ้าเป็นแล้วมีแต่เท่ก็ไม่มีอะไร ถ้าเป็นแล้วไม่ทุจริตเดือนละแสนอยู่ได้ นี่คือความจริงประเทศไทย”

 

ที่น่าสนใจ “สมคิด” กล่าวว่า ขอให้เลือกพรรคที่ไว้ใจว่าทำงานได้ อย่าไปเห็นแก่ของเล็กน้อยที่เอามาแจก จำไว้ว่า คนที่ให้อะไรแบบนี้มีจุดมุ่งหมายแน่นอน ขอให้เลือกพรรคที่ดี อาจจะไม่ใช่พรรคนี้แต่เป็นพรรคอื่นก็ได้ ตนตั้งเป้าหมายว่า จะผลักดันให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 20 ล้านล้านบาท ภายในเวลา 4-5 ปี...

 

อย่าลืมว่า “นโยบายประชานิยม” ของพรรคไทยรักไทย  สมัยรัฐบาล “ทักษิณ” ที่ประชาชนถูกใจและคนรากหญ้าได้ประโยชน์อย่างมาก จน “ทักษิณ” ตีกินได้จนถึงทุกวันนี้ คนที่มีส่วนอย่างมาก ก็คือ “สมคิด” นั่นเอง

 

แม้ว่า “ทักษิณ” จะพยายามออกมา “ดิสเครดิต” ว่า ไม่ใช่ ฝีมือ “สมคิด” แต่เจ้าตัวก็ออกมายืนยันแล้วว่า เป็นคนคิดและผลักดันให้เกิดขึ้น

 

แน่นอน, ที่หยิบยก “สมคิด” ขึ้นมาเป็นประเด็น ก็เพราะเริ่มเห็นประกายความหวัง หากจะมีใครสักคนสองคน หรือสามคน เป็นทางเลือก นอกจาก “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร “ทายาททักษิณ” จากพรรคเพื่อไทย และ “3 ป.” จากพรรคพลังประชารัฐ เท่านั้น  

 

ยิ่งกว่านั้น ทั้ง “สองขั้ว” ต่างก็มีชนักติดหลัง กล่าวคือ ฝ่าย “ทักษิณ” เคยมีประสบการณ์เลวร้ายเกี่ยวกับปัญหา ทุจริตเชิงนโยบายหลายเรื่อง จน “ทักษิณ” ถูกดำเนินคดีหลายคดี และถูกศาลฯตัดสินจำคุกหลายคดี เพียงแต่ไม่ยอมกลับมารับโทษ จึงอยู่ในฐานะหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ

 

ส่วนฝ่าย “3 ป.” ที่เข้าสู่การเมืองจากการทำ “รัฐประหาร” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนที่จะมาลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ฝ่ายตัวเองเป็นผู้ยกร่างถูกมองว่า ต้องการสืบทอด อำนาจ “เผด็จการ” หลังจากเคยสัญญาว่า จะคืน“ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ให้กับประชาชน โดยใช้เวลาไม่นาน แต่ตอนนี้กว่า 8 ปีเข้าไปแล้ว จึงทำให้มีกระแสต่อต้าน และต้องการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงขับไล่พล.อ.ประยุทธ์

 

แต่ด้วย “เงื่อนไข” ในรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ส.ว.ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วง 5 ปีแรก จึงยังทำให้ การเลือกตั้งครั้งหน้า(ปีที่ 5) 250 เสียงของส.ว. ยังอยู่ในมือของ “ฝ่าย 3 ป.” และยังเป็น “ตัวชี้ขาด” ว่า พรรคไหน ที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

 

เนื่องจากการ “โหวต” เลือก “นายกรัฐมนตรี” ต้องใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ “สองสภา” (ส.ส.500 บวก ส.ว.250) นี่คือ ประเด็นผูกมัด ที่ถึงอย่างไรก็ยังหนีไม่พ้น “3ป.” มีส่วนกำหนดอนาคตหลังเลือกตั้ง 

 

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย และฝ่าย “ทักษิณ” ยังหวังว่า ผลการเลือกตั้งที่ได้ชัยชนะอย่างท่วมท้น ถล่มทลาย(แลนด์สไลด์) ได้ที่นั่งมากกว่า 250 เสียง จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งเชื่อว่า “3 ป.” จะไม่กล้าฝืนกระแสประชาชน ซึ่งก็ต้องจับตามองกันต่อไปว่าจะทำได้หรือไม่

 

กลับมาที่นักการเมืองอีกคน ซึ่งน่าจับตามองไม่แพ้กัน ก็คือ “คุณหญิงหน่อย” หรือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คุณหญิงสุดารัตน์ ก็เคยเป็น “ขุนพลคนสำคัญ” เคียงบ่าเคียงไหล่ “ทักษิณ” ในสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน และเพิ่งลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย มาตั้ง “พรรคไทยสร้างไทย” สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

 

พูดถึงประสบการณ์ทางการเมือง และความเข้าใจปัญหาประชาชน “สุดารัตน์” ก็ไม่ต่างจาก “ทักษิณ” และ“สมคิด” แต่อย่างใด ทั้งยังเคยประสบความสำเร็จกับพรรคไทยรักไทยมาด้วยกัน ยิ่งกว่านั้น ชื่อ “สุดารัตน์” ยังเป็นที่จดจำในฐานะ “รัฐมนตรี” กระทรวงสำคัญหลายกระทรวง

 

ทั้ง “สมคิด” และ “สุดารัตน์” เหลืออย่างเดียวที่ยังไม่ได้ทำก็คือ การ “มีอำนาจเต็ม” ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งกำลังรอโอกาสพิสูจน์ตัวเอง

 

อะไรไม่สำคัญเท่ากับ มีผลสำรวจความคิดเห็น “คนอีสาน” พบว่า คนที่อยากให้เป็น“นายกรัฐมนตรี” มากที่สุด เป็นอันดับ 1 ก็คือ คุณหญิงสุดารัตน์ นั่นเอง และไม่ใช่แค่ผลสำรวจเพียงครั้งเดียวด้วย

 

อย่าง ล่าสุดเมื่อวันที่10 กันยายน 2565 “อีสานโพล” ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสานมหาวิทยาลัยวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจในหัวขัอ “ความเครียดของคนอีสานกับปัญหาเศรษฐกิจ”

 

ต่อคำถามที่ว่า ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พบว่า

 

อันดับ 1 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 23.4อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตรร้อยละ 21.1 อันดับ 3 คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 20.2 อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 12.5 อันดับ 5 นายอนุทิน ชาญวีรกุล ร้อยละ 9.9 คนอื่นๆ จากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 6.5 คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ร้อยละ 2.8 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 1.7 อื่นๆ ร้อยละ 1.9

 

แสดงให้เห็นว่า “คนอีสาน” เชื่อมั่น “คุณหญิงสุดารัตน์” ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าคนอื่น แม้แต่ “อุ๊งอิ๊ง” บุตรสาว “ทักษิณ” ที่คนอีสานยังคิดถึงผลงานเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

 

สำหรับ “คุณหญิงสุดารัตน์” เคยประกาศตัวชัดเจนว่า ขอเป็น “ทางเลือกที่สาม” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยเสนอก้าวข้าม “ความขัดแย้ง” เป็นจุดขายด้วย

 

แต่ด้วย กติกาเลือกตั้งใหม่ ใช้บุตร 2 ใบ แยกส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ 100 หาร ที่จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ ได้เปรียบพรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ เพราะมี “กระแสพรรค” เป็นต้นทุนอยู่แล้ว จึงมีโอกาสได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากกว่า ส่วนพรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ อาจได้ไม่กี่คน หรือไม่ได้เลย

 

ทำให้หลายพรรคที่เป็นพรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ หันมาคิดถึงการ “ควบรวม” พรรคเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ “พรรคไทยสร้างไทย” ของ “คุณหญิงสุดารัตน์” กับ พรรคสร้างอนาคตไทย ของ “สมคิด”   

 

นัยว่า จากการเจรจา “คุณหญิงสุดารัตน์” ไม่ขัดข้องข้อเสนอ “สมคิด” ที่จะขึ้นเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ลำดับหนึ่ง แต่มีเงื่อนไขว่าการบริหารจัดการภายในพรรคต้องใช้บริการของ “ทีมสุดารัตน์” เพราะมีมือไม้ที่รู้งานการเมืองมากกว่า

 

และ “สมคิด” ก็ไม่ขัดข้องเช่นกัน หาก “สุดารัตน์” จะนั่งเก้าอี้ “หัวหน้าพรรค”

 

แต่ที่ตกลงกันไม่ได้คือ “เก้าอี้เลขาธิการพรรค” ที่ฝ่ายไทยสร้างไทย ต้องการให้ นายศิธา ทิวารี ดำรงตำแหน่ง แต่ฝ่ายสร้างอนาคตไทย อยากยกให้ นายอุตตม สาวนายน ดำรงตำแหน่ง เพื่อคอยเป็นตัวเชื่อมประสาน

รวมทั้ง “ทีมงานหลังบ้าน” ที่เคลียร์กันไม่ลง เพราะ “สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ต้องการ “ยกทีม” มาบริหารจัดการทั้งหมด หากสามารถควบรวมพรรคกันได้

 

เรื่องนี้กลายเป็น “สุดารัตน์-ไทยสร้างไทย” ขวางเต็มลำ เพราะวงในรับรู้กันดีว่า หากปล่อยให้ “สุรนันทน์” เข้ามาจัดการภายในพรรคแรงต้านอาจเพิ่มทวีคูณ แถมการแบ่งโควตาผู้สมัครส.ส. กทม. จะตกลงกันยาก เนื่องจากต่างก็ต้องการแข่งกันใหญ่

 

ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเล็งเห็นโอกาสจะสร้างความแข็งแกร่งให้พรรคใหม่ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจมีทางออกที่ดีตามมาก็เป็นได้?

 

ความจริง เมื่อ “เสือสองตัว” มาอยู่ในถ้ำเดียวกัน แทนที่ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” เป็นเรื่องใหญ่ กลับกลายเป็น “ปัญหาหยุมหยิม” ของทีมงานไปเสียอย่างนั้น

 

อีกคนที่กระแสกำลังมาแรง ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูลหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มี “เนวิน ชิดชอบ” เป็น “ครูใหญ่” ของพรรค

 

สำหรับ “เนวิน” หลายคนรู้จักดี เคยเป็นทั้ง “ขุนพล” ที่สร้างความสำเร็จให้กับ “ทักษิณ” และเป็นคนที่นำทีมเปลี่ยนขั้วทางการเมือง พร้อมวลีที่ว่า “มันจบแล้วครับนาย”

 

ที่สร้างความฮือฮาก็คือ ในงานวันคล้ายวันเกิดของ “เนวิน” ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ครบ 64 ปี ปรากฏว่า มีส.ส.หลายพรรคไปร่วมงาน ท่ามกลางกระแสพรรคภูมิใจไทย “ดูด” ส.ส.เอาไว้ในมือแล้วเป็นจำนวนมาก      

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด อวยพรให้ได้เก้าอี้ ส.ส. 120 ที่นั่ง ก็ขอให้สมพรปาก เพราะที่ผ่านมาไม่ว่านายเนวิน อวยพรอะไร ส่วนใหญ่ก็เป็นไปอย่างนั้น

 

เมื่อถามว่า วันนี้มีส.ส.จากหลายพรรคมาร่วมงานวันเกิดนายเนวิน เหมือนเป็นการเปิดตัวกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่นั้น

 

อนุทิน บอกว่า เนวิน อยู่ในแวดวงการเมืองมา 30-40 ปี ก็ต้องมีพรรคพวก ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะพรรคภูมิใจไทย

 

“พรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีการไปจีบ ส.ส.มาเข้าพรรค แต่มองคนที่มีความรู้ความสามารถคนที่ตั้งใจทำงานให้กับบ้านเมือง หากเจอคนเก่งพรรคก็ต้องการชวนเข้ามาร่วมทำงานด้วย ใครที่รู้จักกันก็มาร่วมงานกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ”

 

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา “ซูเปอร์โพล” (SUPER POLL) ยังเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,016 ตัวอย่าง เรื่อง“ผู้นำการเมือง เหนือความขัดแย้งของสังคม”

 

เมื่อถามถึง “ผู้นำการเมืองเหนือความขัดแย้งของสังคม” พบว่า อันดับหนึ่งหรือร้อยละ35.8 คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เพราะชอบคนนี้ที่ไม่มีประวัติขัดแย้งกับใคร พูดน้อย ใครด่ามาถือเป็นข้อเตือนใจ เป็นคนจิตใจดีมีผลงานช่วยเหลือต่อชีวิตผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจและอื่นๆ แก้ปัญหาวิกฤตโควิด ระบบสาธารณสุข เป็นคนดีช่วยเหลือชาวบ้านคนตัวเล็กตัวน้อย มีฝีมือมีเงินร่ำรวย และชอบคนรวย เป็นต้น

 

อันดับสองหรือร้อยละ 29.7 ระบุ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพราะเป็นผู้นำการยึดอำนาจ คุมอยู่ไม่ลุกลาม บ้านเมืองเรียบร้อย ไม่วุ่นวาย ซื่อสัตย์โปร่งใสและชอบทหารเป็นต้น อันดับสามหรือร้อยละ 13.1 ระบุ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยเพราะชอบคนนี้เป็นผู้หญิง อยากเห็นผู้หญิงเป็นผู้นำ เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่มีประวัติขัดแย้งกับใครและเป็นบุตรสาวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเป็นต้น...

 

นั่นเท่ากับว่า ถ้าให้เลือก “ผู้นำ” จากฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน คนที่ประชาชนเห็นว่า “อยู่เหนือความขัดแย้ง” ได้ ก็คือ “อนุทิน” นั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม กระแสที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้มีความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ไม่แต่พยายามอย่างถึงที่สุด ที่จะทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งหน้า “แลนด์สไลด์” ถึง 250 ที่นั่ง เพื่อสู้กับฝ่าย “3 ป.”

 

ด้วยเหตุนี้ กระแสข่าว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เดินทางไปดูไบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า“ทักษิณ” อาศัยอยู่ที่นั่น จึงนำมาสู่ การถูกจับตามอง “ดีล” เข้าร่วมพรรคเพื่อไทย ของกลุ่มธรรมนัส กว่า 10 คน(ที่ส.ส.บางคนในกลุ่มธรรมนัสคุยเอาไว้มีนักการเมืองที่ต้องการเข้าร่วมถึง 20 คน)

 

ขณะเดียวกัน “ดีลพิเศษ” ที่หลายฝ่ายจับตามองมาตลอด ก็เช่นกัน กรณีที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แต่ได้ที่นั่งไม่ถึง 250 ที่นั่ง โอกาสที่จะ “จับมือ” กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่อรองเข้าร่วมรัฐบาล โดยอ้าง“รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” หรือ รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งของประชาชน ก็อาจเป็นได้

 

ประเด็นอยู่ที่การ “ผ่าทางตัน” ส.ว.250 เสียง ในมือ “3 ป.”ที่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อผลประโยชน์ ลงตัวอะไรก็เกิดขึ้นได้

 

ที่น่าวิเคราะห์ ตามมาก็คือ ในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน พรรคที่ถือว่า กระแสแรงและพลังดูดสูง แถมมีนโยบาย “กัญชา” เป็น “จุดขาย” อย่างภูมิใจไทย อาจมีจำนวนที่นั่งส.ส.เพิ่มขึ้น แม้ไม่ใช่ 120 อย่างที่ “เนวิน” อวยพร ก็อาจใกล้เคียง

 

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนความขัดแย้งภายใน และกระแสอยู่ในช่วง “เลือดไหลออก” ไม่หยุด จึงไม่แน่ว่า จะได้ส.ส.เพิ่มขึ้นหรือลดลง

 

จึงถือเป็นทางเลือกของ “3 ป.” ได้เหมือนกัน ที่จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยชู“อนุทิน” เป็น “นายกฯ” ที่เริ่มมีเสียงเชียร์จากผลสำรวจ ให้เป็น “ผู้นำเหนือความขัดแย้ง”?

 

คำถามมีอยู่อย่างเดียว “บิ๊กป้อม” จะยอมหรือไม่?

 

ยังไม่นับว่า พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคไทยสร้างไทย และพรรคชาติพัฒนากล้า ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากน้อยแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับกระแสของแต่ละพรรคว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนแค่ไหน ในช่วงเลือกตั้ง และ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของทุกพรรค ก็มีสิทธิได้รับเลือกเช่นกัน

 

หากพรรคดังกล่าว ได้ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ ทางเลือกที่จะได้ “นายกรัฐมนตรีเหนือความขัดแย้ง” รัฐบาลเหนือความขัดแย้ง ก็เป็นไปได้สูง

 

หาไม่ คนไทยอาจได้เห็น “รัฐบาลผสม” ที่ขัดใจอย่างมากก็เป็นได้?