“เพื่อไทย” เจอเงื่อนไขแก้ 112 ดับเบิล “ทางตัน” จัดตั้งรัฐบาล

“เพื่อไทย” เจอเงื่อนไขแก้ 112 ดับเบิล “ทางตัน” จัดตั้งรัฐบาล

ดูเหมือนสัญญาณเตือนจาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ข้ามน้ำข้ามทะเลขณะลี้ภัยในฝรั่งเศส ไม่ได้ไกลความจริงมากนัก

“ความจริงพรรคเพื่อไทยก็คัดค้านการแก้ไข 112 มาแต่ไหนแต่ไร มีช่วงหนึ่งเท่านั้นที่บางคนในพรรคทำเกินเลย บอกจะพิจารณา แต่ก็เงียบหายไปโดยเร็ว สมัยหลัง (หลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน) พรรคเพื่อไทยหันมาพูดแบบเลี่ยง "เอาเศรษฐกิจก่อน" ความจริงเป็นการ "ขยับ" ท่าทีนิดหน่อย คือสมัยก่อนคนอย่าง เฉลิม อยู่บำรุง ออกมาคัดค้านเลย สมัยนี้ไม่พูดเสีย หลบเลี่ยงแทน

สงสัยว่า ในขณะที่ดูเหมือนเรื่องอื่นๆ "ร่วมกันได้" จึงมีกิจกรรม "ฝ่ายค้าน" ร่วมกันอยู่เสมอ จะเป็นอย่างนี้อีกนานเท่าไร? คราวหน้ามองอย่างเลวร้ายเลย ก้าวไกลอาจจะไม่ได้ที่นั่งในสภาหรือได้ไม่เท่าไร แล้วไง? คนที่มุ่งอยากได้เสียงจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ได้ ก็มองได้แค่นั้น เป้าหมายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ยังอยู่และเราก็หาทางต่อไป” (เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ลี้ภัยคดี 112 ในฝรั่งเศส)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังพรรคก้าวไกลประกาศนโยบายแก้ไขม.112 นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นจุดยืนของแต่ละพรรคไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ อยู่ที่ประชาชนจะพิจารณาแล้วตัดสินใจ เข้าใจว่าแต่ละพรรคได้ศึกษามาดีแล้วถึงประกาศเป็นนโยบายออกไป

สำหรับพรรคเพื่อไทยเราทำนโยบายทุกด้าน แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน และความมั่นคงทางการเงินการคลังของประเทศ รวมทั้งการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดกับสังคมไทย

งานนี้ กลายเป็นว่า “จุดยืน” แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ “ม.112” ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ที่ “พรรคก้าวไกล” พรรคฝ่ายค้านที่มี ส.ส. รองจากพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบาย “แก้ไขม.112” เป็นหนึ่งในชุดนโยบาย “การเมืองก้าวหน้า” ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมัยหน้า เป็นจุด “พลิกผัน” ทางการเมืองนั่นเอง

โดยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงว่า นโยบายการเมืองไทยก้าวหน้าในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม จะเริ่มจากการปฏิรูปศาล ให้ยึดโยงรับใช้ประชาชน ให้ผู้พิพากษาต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ได้แก่ กฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พรรคได้เสนอแก้ไขไปแล้ว ร่างแก้ไขชุดกฎหมายถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯแล้ว ยกเว้นร่างแก้ไข กฎหมายมาตรา 112 ที่สภาฯ ไม่ยอมบรรจุเข้าวาระ อ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่พรรคยืนยันจะเดินหน้าผลักดันต่อไปหากได้เป็นรัฐบาล

“ขอย้ำว่าการแก้ 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กระทบต่อพระราชสถานะองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศ”

นอกจากนี้ยังมี นโยบายการนำรัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เพื่อชำระสะสางคดีอาชญากรรมที่รัฐกระทำต่อประชาชน เช่น เหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 รวมถึงโศกนาฏกรรมตากใบ และป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมเช่นนี้อีกในอนาคต ยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลที่เกาะกินประเทศไทย

และข้อเสนอใหญ่ที่สุดของพรรคก้าวไกลคือ การนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เพื่อคืนความเป็นธรรมและอนาคตให้กับประชาชนที่ต้องคดีการเมือง เพียงเพราะแสดงความเห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน

นี่คือ สิ่งท้าทายที่หนีไม่พ้นถูกมองว่า เป็นการต่อสู้คู่ขนานกับม็อบต่อต้าน “คสช.” ของกลุ่มราษฎร หรือม็อบ 3 นิ้ว

ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ มาตรา 112 ก็คือ ถูกแก้ไขครั้งล่าสุด โดยประกาศคณะปฏิวัติเมื่อปี 2519 จากนั้นคณะรัฐมนตรีทุกชุดยังไม่เคยเสนอแก้ไขมาตรา 112 อีกเลย

ในเดือนพฤษภาคม 2555 ประชาชนในนาม ครก.112 เข้าชื่อกันมากกว่า 10,000 ชื่อ ยื่นขอให้รัฐสภาแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาขณะนั้น วินิจฉัยว่า

ข้อเสนอนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเคลื่อนไหวเสนอแก้ไขมาตลอดในยุค คสช. จนถึงทุกวันนี้

แน่นอน, การประกาศนโยบายเรื่องนี้ของพรรคก้าวไกล นำมาสู่การขยายผลทางการเมืองในทันทีทันควันเช่นกัน และกลายเป็นประเด็นของพรรคการเมืองแทบทุกพรรคว่าเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีจุดยืนอย่างไร

เริ่มจากพรรคภูมิใจไทย พรรคที่กำลังมาแรง พลังดูดสูง แถมตั้งความหวังที่จะได้ส.ส.เพิ่มจำนวนมาก และถือเป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทยในหลายจังหวัด   

โดย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า

“พรรคภูมิใจไทย ไม่มีนโยบาย ไม่มีความคิดเรื่องแก้ไข ม.112 และ ไม่เข้าใจว่าคนที่เสนอแก้ไข ม.112 เดือดร้อนอะไรกับกฎหมายอาญา ม.112

“มั่นใจว่าการแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ไม่มีทางได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ใครจะคิดอย่างไร ลงมติอย่างไร ก็เป็นสิทธิของเขา แต่พรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรค พูดแทนสมาชิกทุกคนได้เลยว่า เราไม่แก้ไข และ จะคัดค้าน ขัดขวางถึงที่สุด รวมทั้งจะไม่ร่วมมือ ร่วมทำงาน กับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่เสนอแก้ไข ม.112 ทุกระดับ รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า หรืออีกกี่ครั้งก็ตาม”

ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตนพูดชัด การแก้มาตรา 112 พรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วย พูดชัดเจนมาหลายรอบแล้ว จะแก้รัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ประชาธิปัตย์เราสนับสนุน และเคยเสนอไปแล้วด้วย เพียงแต่ร่างประชาธิปัตย์ 7 ร่าง มันผ่านแค่ร่างเดียว แต่ต่อไปถ้าจะต้องแก้อีก แล้วแนวทางมันไปตามทิศทางที่เรากำหนด เราก็พร้อมสนับสนุน แม้เราไม่ได้เสนอเอง หรือแค่มีวาระเข้าพิจารณาในสภา ประชาธิปัตย์ก็พร้อม

แต่ต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และไม่แก้มาตรา 112 ซึ่งเหตุผลมันมีชัดเจนว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีบทคุ้มครองประมุขของตัวเอง ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบไหนก็มีบทคุ้มครองประมุขของตัวเองทั้งนั้น ประเทศไทยก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่า เราผิดแผกแตกต่างไปจากประเทศอื่น เพราะฉะนั้นมาตรา 112 เป็นมาตราที่มีความจำเป็นเพื่อคุ้มครองประมุขของประเทศไทย

ด้าน “พลังประชารัฐ” พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 ในฐานะโฆษกพรรค เผยถึงจุดยืนของพรรค ว่า พรรคไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแก้ไขมาตรา 112 ที่เป็นบทบัญญัติ ในการคุ้มครองประมุขของรัฐ ซึ่งเราชัดเจนมาโดยตลอด ต่อการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยพรรคพลังประชารัฐ จะยึดมั่นแนวทางนี้ ไม่มีเปลี่ยนแปลง

“ชาติไทยพัฒนา” นายวราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรค กล่าวว่า จุดยืนของชาติไทยพัฒนา คือเราจะไม่ไปยุ่งอะไรกับมาตรา 112 เพราะตั้งแต่ตนเกิดมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่เห็นคนทั่วไปมีปัญหา อีกทั้งปัจจุบันขนาดบุคคลธรรมดายังมีคดีหมิ่นประมาทอยู่ในศาลตั้งหลายร้อยหลายพันคดี ซึ่งมาตรา 112 ไม่ใช่มาตราที่หาเรื่องใคร แต่ใช้เพื่อปกป้องสถาบันอันเป็นที่รัก หากมีใครอุตริไปหาเรื่อง เราจะต้องมีอุปกรณ์หรือกฎหมายใดปกป้องสถาบันได้ ทั้งนี้มาตรา 112 มีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ไม่เห็นใครมีปัญหา หัวเด็ดตีนขาดก็ต้องมีมาตรา 112 รอให้ดินกลบหน้าตนไม่ยอมแก้มาตรา 112 แน่นอน

นี่ยังไม่รวมพรรคเกิดใหม่ อย่าง พรรคไทยสร้างไทย นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และพรรคสร้างอนาคตไทย ที่ประกาศก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อเป็น “ทางเลือกที่สาม” แนวโน้ม “จุดยืน” ก็คงไม่ต่างกัน?

แต่เอาเป็นว่า เพียงแค่นี้ ก็ทำให้เห็น “โฉมหน้า” รัฐบาลหลังการเลือกตั้งสมัยหน้าแล้ว

นั่นหมายถึง พรรคเพื่อไทย อาจ “บุญมีแต่กรรมบัง” หรือไม่

กล่าวคือ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถือว่า พรรคเพื่อไทย มาดีทุกอย่าง ตั้งแต่การเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตรสองใบ การใช้สูตรส.ส.บัญชีรายชื่อหรือ ปาร์ตี้ลิสต์ 100 หาร ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทย มีโอกาสได้ทั้งส.ส.เขต และส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ต่างจากเมื่อปี 62 ที่ไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย ก็ยังถือว่าได้ที่นั่งส.ส.อันดับ 1

นอกจากนี้ กระแสเบื่อรัฐบาล และ “ไม่เอาประยุทธ์” ก็ยัง “สวิง” มาที่พรรคเพื่อไทย เป็นทางเลือกมากกว่าพรรคการเมืองอื่น เพราะพรรคก้าวไกล มีความใกล้ชิดกับการเคลื่อนไหวของม็อบมากเกินไป แม้จะมีทั้งผลได้-ผลเสีย

รวมถึงการได้ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทายาททางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาปลุกกระแสความนิยม จากรุ่นพ่อถึงรุ่นลูก จากไทยรักไทย ถึง เพื่อไทย ทำให้กระแสความนิยมในเวลานี้ มีโอกาสสร้างปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” หรือ ชนะแบบถล่มทลาย ได้เหมือนกัน

แต่ประเด็นยังน่าวิเคราะห์ต่อไปว่า ชนะแบบแลนด์สไลด์แล้ว จะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่

สิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบก็คือ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นเอง

เรื่องนี้ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ชี้ให้เห็นตั้งแต่ การโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ตามมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272

ยกตัวอย่าง พรรคเพื่อไทย ได้เสียงมากสุด 249 หรือ 250 เสียง ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องไปรวบรวมอีก 126 เสียง จึงจะได้เสียงกึ่งหนึ่ง(375 เสียง) ตามมาตรา 159 วรรคท้ายประกอบมาตรา 272 วรรคหนึ่ง (ส.ส.500+ส.ว.250=750)(ในการโหวตเลือกนายกฯ)โอกาสรวบรวมเสียงให้ถึง 375 เสียงขึ้นไป ให้เป็นเสียงข้างมากในสภาค่อนข้างยาก เพราะตัวแปร การต่อรองพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาล ย่อมใช้อำนาจต่อรองสูง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย คนละอุดมการณ์กัน โอกาสจับมือค่อนข้างยาก

ตัวอย่างในปี 2562 พรรคเพื่อไทย ชนะเสียงข้างมาก แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ หากเทียบเคียงกับ ส.ว.250 เสียง ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ตุนเอาไว้แล้วในมือ เพียงรวบรวมเสียงอีก 126 เสียง ก็สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว  

"ดังนั้น จะเห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า เสียงจะปริ่มน้ำเหมือนเดิม จะมีปรากฏการณ์งูเห่าทางการเมืองของขั้วฝ่ายค้านให้เห็นแน่นอน หากถอดรหัสสมการทางการเมือง แม้พรรคเพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์ให้มากสุด 250 เสียง โอกาสจัดตั้งรัฐบาลก็ยาก คือ ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้”

เห็นได้ชัดว่า ลำพังรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล ก็ยากแล้ว

มาถึง “จุดยืน” แก้ไขม.112 ซึ่งพรรคเพื่อไทย แสดงความชัดเจนไปแล้วว่า จะมุ่งไปที่ เศรษฐกิจปากท้องประชาชน มากกว่าแก้ไขม.112 นั่นเท่ากับว่า พรรคเพื่อไทย ไม่อาจร่วมหัวจมท้ายกับพรรคก้าวไกลได้ และเท่ากับโดดเดี่ยวก้าวไกลหรือไม่?

ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ต้องการแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาล หรือต้องการพรรคก้าวไกล เข้าร่วม แล้วจะร่วมกันได้อย่างไร? เพราะพรรคหนึ่งต้องการแก้ไขม.112 แต่อีกพรรคไม่เล่นด้วย

ส่วนพรรคการเมืองอื่น แทบไม่ต้องพูดถึง เท่าที่แสดงจุดยืนออกมา หลายพรรคที่คาดว่าจะมีที่นั่งส.ส.ในสภาฯในลำดับรองจากพรรคเพื่อไทย ต่างแสดงจุดยืนไม่แก้ไขม.112 เหมือนกันหมด

มาถึงจุดนี้ คำถามคือ พรรคก้าวไกล จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ “ไม่แก้ไขม.112” ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่ต้องการผลักดันอย่างสูงหรือไม่? นั่นอาจหมายถึงพรรคเพื่อไทยด้วย?

ขณะที่พรรคเพื่อไทย เมื่อจุดยืนไม่แก้ไขม.112 เท่ากับอยู่ในฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน และกล่าวหาพรรคเหล่านี้มาตลอดว่า เป็นนั่งร้านให้ “เผด็จการ” จะร่วมกับพรรคที่ตัวเองด่าว่าเป็น “เผด็จการ” หรือไม่  

ถ้าไม่! แม้ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ มีที่นั่งส.ส.อันดับ 1 แต่การจัดตั้งรัฐบาล ประวัติศาสตร์ อาจซ้ำรอยปี 62 ได้ เพราะพรรคที่อ้างเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน มีวาระแก้ไขม.112 มาเป็น “เงื่อนไข” ปิดกั้นการร่วมรัฐบาล

นี่คือ “ทางตัน” ที่ตอนนี้ พรรคเพื่อไทยอาจต้องเจอ “สองเด้ง” เข้าให้แล้ว ที่ต่อให้ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” อย่างไร ถ้าไม่ได้ที่นั่งส.ส. 375 เสียงหรือมากกว่า โอกาสจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับฝ่ายที่มี “ส.ว.” ในมือ 250 เสียง ถือว่ายาก

หนำซ้ำ พรรคก้าวไกล ยังมีเงื่อนไขไฟต์บังคับ ต้องแก้ไขม.112 จึงจะร่วมรัฐบาล หรือไม่ ถือว่า ยาก “ดับเบิล” เข้าไปใหญ่

จึงนับว่าน่าจับตามอง พรรคเพื่อไทยฝ่า “ทางตัน” หรือมีทางออกอย่างไร หรือไม่!?