“เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง” ศึกชิง “นายกฯ” คำตอบคือแลนด์สไลด์ “เพื่อใคร”

“เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง” ศึกชิง “นายกฯ” คำตอบคือแลนด์สไลด์ “เพื่อใคร”

แม้คำตอบจาก “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กรณีถูกถามถึงกระแสข่าวที่ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน จะเข้ามาเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” อันดับที่ 1 ส่วน ตัวเอง อยู่อันดับ 2

ว่า “คุณเศรษฐา หรืออิ๊ง จริงๆ แล้วไม่ต้องระบุชื่อก็ได้ แต่ตนขอคนที่มีความพร้อมและมีความสามารถ เพราะจริงๆ การเมืองเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าคนที่เขามีความสามารถและเขาอยากจะมาช่วย ก็ควรเปิดโอกาสให้เขามาช่วย เพราะประเทศต้องไปต่อ ต้องเอาอนาคตของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้งคือสิ่งสำคัญ ถ้าได้คนเก่งกว่าอิ๊งยิ่งดี แต่ถ้าเก่งเท่าอิ๊งแล้วทำอะไรได้บ้าง คนเก่งเข้ามาเป็นกำไรของประเทศ ไม่ว่ายังไงถ้าเป็นคนเก่งพรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุนเต็มที่” อุ๊งอิ๊ง กล่าว

แต่นั่นหมายถึง “ศึกชิงนายกฯ” ภายในพรรคเพื่อไทยจะเกิดขึ้นทันที เนื่องจาก ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวชินวัตร ต่างหมายมั่นปั้นมือ ที่จะผลักดัน “อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 มาตั้งแต่ต้น และเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” หรือ ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย จนสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เพื่อสานฝันให้ “อุ๊งอิ๊ง” นั่นเอง

หรือว่า เป็นการโยนหินถามทาง อย่างที่ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา

“ไม่จริงหรอก นายทักษิณ ชินวัตร คงจะมีลูกเล่น ดังนั้นจึงยังไม่มีความแน่นอนตอนนี้ เป็นแค่การโยนหินถามทาง ปล่อยข่าวลวงกันไปตามเรื่องตามราว ตนจึงคิดว่า ยังไม่จริงจังอะไร”

เมื่อถามว่า แกนนำพรรค พท. ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนทั้งสองคน น่าจะเป็นความชัดเจนหรือไม่ นายวีระกร กล่าวว่า

“พรรคนี้อยู่ที่นายทักษิณคนเดียว คนอื่นที่พูดก็พูดไป เพราะนายทักษิณจะมีการหักมุมในช่วงใกล้เลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราคาดไม่ถึง ยกตัวอย่างที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดตัวชิงนายกฯ ก่อนหน้ายุบสภาและเลือกตั้งไม่กี่เดือน นายทักษิณมองไว้แล้วว่าจะเอาใคร น.ส.แพรทองธาร อาจจะอยู่ในใจ แต่พรรษาทางการเมืองยังไม่ได้ ส่วนนายเศรษฐา ก็ไม่มีความเด่นอะไรมากมาย”

ยิ่งทำให้น่าวิเคราะห์ว่า การตัดสินใจของ “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย จะขึ้นอยู่กับอะไร กระแสขานรับจากประชาชน หรือ คนในครอบครัว

แน่นอน, “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร จุดเด่น คือ ความเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง และเป็นทายาทโดยสายเลือดของ “ทักษิณ” ที่ประชาชนรากหญ้าในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ยังมีความนิยมอย่างสูง ทำให้กระแส “อุ๊งอิ๊ง” เริ่มร้อนแรงตามไปด้วย

 

 

แม้ว่า “อีสานโพล” ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กระแส “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” จะมาเป็นอันดับ 1 ที่คนอีสานอยากให้เป็นนายกฯ แต่พรรคที่คนอีสานต้องการเลือกอันดับ 1 ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทย

นั่นแสดงว่า ในฐานะ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร เมื่อเทียบกับ “คุณหญิงสุดารัตน์” ซึ่งเคยเป็น “รัฐมนตรี” กระทรวงสำคัญมาแล้ว และมีประสบการณ์ทางการเมืองสูง ยังถือว่า เป็นรอง

และแม้ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคพรรคเพื่อไทย จะให้ความเชื่อมั่นว่า

“หาก น.ส.แพทองธาร ได้เป็นนายกฯ แม้จะอายุไม่มาก แต่ก็จะได้ ครม.ที่ล้อมรอบไปด้วยผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ ช่วยเติมเต็มการทำงานได้ จะแตกต่างจาก 8 ปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง”

แต่ผลสำรวจของอีสานโพล ที่เอาชนะ “คุณหญิงสุดารัตน์” ไม่ได้ และเป็นรองมาตลอด ก็อาจทำให้ “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทยได้คิดเช่นกันว่าจะแก้อย่างไร

อาจด้วยเหตุนี้ก็เป็นได้ ทำให้ ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 ถูกปล่อยออกมา เพื่ออย่างน้อย ก็ทำให้เห็นว่า “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย ยังมี “ไพ่” ที่จะเล่นอีกหลายใบ?   

สำหรับกระแสข่าว “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จะถูกเสนอให้เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายรัฐมนตรี และอาจเป็นอันดับ 1 โดย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร อยู่อันดับ 2 นั้น ไม่เพียงถูกปล่อยออกมาจากพรรคเพื่อไทย   

หากแต่สื่อบางสำนักที่มีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย ยังเสนอข่าวด้วยว่า ทีมงานของพรรคเพื่อไทย ที่ดูแลเรื่องคิวงานและการประชาสัมพันธ์ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ได้เข้าไปทำหน้าที่ประสานงานระหว่างนายเศรษฐา กับสื่อมวลชนประจำพรรคเพื่อไทยด้วยอีกทางหนึ่ง ในฐานะว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ยังอ้างถึง แกนนำพรรคเพื่อไทยรายหนึ่งเปิดเผยว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเปิดตัวนายเศรษฐา ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค หลังจากประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อาจประกาศยุบสภาในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วง 90 วันก่อนสภาผู้แทนฯหมดวาระ จึงต้องเร่งเปิดตัวเพื่อให้ชาวบ้าน มวลชน และฐานเสียงของพรรค ได้รู้จักนายเศรษฐา มากขึ้น

“อาจต้องเปิดตัวเร็ว เป็นไปได้ว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะคุณเศรษฐา แม้เป็นที่รู้จักของคนใน กทม. และคนชั้นกลาง แต่เวลาไปแนะนำที่ต่างจังหวัดอาจจะยังมีปัญหา เดินไปแนะนำชาวบ้านต่างจังหวัด ชาวบ้านไม่รู้จัก จึงต้องสร้างกระแส แต่ทั้งนี้ กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม แต่การเปิดตัวก็ไม่ควรช้าเกินไป เพราะจะมีผลต่อการสร้างกระแสให้เป็นที่รู้จัก”

ไม่เพียงเท่านั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ว่า ขณะนี้พรรคอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค และอยู่ในเวลาที่เหมาะสม เพราะใกล้เลือกตั้งแล้ว ดังนั้น ก่อนที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง หรือช้าที่สุดหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ก็ต้องประกาศชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยที่จะเสนอต่อประชาชน

ส่วนชื่อของนายเศรษฐา ถามว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคหรือยังนั้น ต้องตอบว่า ยัง เบื้องต้นต้องขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชนที่ให้ความสนใจ ถ้ามองในมุมบวกหมายความว่า พรรคเรามีโอกาสที่คนมีความรู้ความสามารถให้ความสนใจที่จะเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ส่วนขั้นตอนการสรรหา การทาบทามยังไม่มีการพิจารณาแต่อย่างใด แต่ต้องขอบคุณที่กระแสสังคมทาบทามให้พรรคเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าได้ทั้งนายเศรษฐา และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ จะทำให้พรรคเพื่อไทยมีแต้มต่อทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็ต้องดูเสียงตอบรับประชาชน ถ้าทั้งสองท่านมีคะแนนนิยม โดยเฉพาะ น.ส.แพทองธาร ที่คะแนนนิยมในสำนักโพลต่าง ๆ ก็ขึ้นมาเรื่อย ๆ จะเป็นภาพบวกของพรรคเพื่อไทย ส่วนจะเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯหรือไม่ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ

เมื่อถามว่า นายเศรษฐาเหมาะสมที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ตนอาจไปกำหนดคุณสมบัติไม่ได้ แต่ฟังเสียงจากคนที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ และดูความสามารถของนายเศรษฐา รวมถึงความตั้งใจต่างๆ เท่าที่ฟังจากเสียงประชาชนแล้ว เขาเป็นที่ยอมรับ พรรคเพื่อไทยก็ต้องนำมาพิจารณา

เมื่อถามว่า นายเศรษฐาตรงกับสเป๊กแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคเพื่อไทยตั้งไว้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ที่เรามุ่งมั่นคือต้องแก้วิกฤตเศรษฐกิจให้ได้ เป็นปัญหาแรกสุด ถ้าเราได้ผู้นำที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ วัตถุประสงค์ที่เราจะแก้วิกฤตเศรษฐกิจมันน่าจะขับเคลื่อนได้ดี ตอบโจทย์ได้ดี

ความจริง นายเศรษฐา ถูกจับตามองมาตั้งแต่ ได้รับเลือกให้รับรางวัล “คนเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสังคม” ในงานครบรอบ 2 ปีกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 แล้ว

ทั้งนี้ นายเศรษฐา กล่าวภายหลังได้รับรางวัลว่า ช่วงที่ผ่านมาประเทศบอบช้ำทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาหลายภาคส่วนก็ช่วยกันแบบปิดทองหลังพระก็เยอะ ไปพร้อมกับต้องคำนึงเรื่องความสมดุลภายในองค์กร แต่หน้าที่และภาระที่มีต่อสังคมเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ แต่หลายภาคส่วนอาจยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้เท่าที่ควร

ตนไม่ค่อยเห็นนักธุรกิจแนวหน้าของประเทศแสดงความเห็นเรื่องสังคม การเมืองเท่าที่ควร ไม่เหมือนกับเบื้องหลังพอเวลากินข้าวสังสรรค์มักพูดถึง วิจารณ์นโยบายภาครัฐเยอะมาก แต่ที่ไม่พูดส่วนใหญ่มองว่า “อยู่เฉย ๆ ดีกว่า พูดไปก็ไม่มีประโยชน์”

ซึ่งตนคิดว่า นักธุรกิจที่มีต้นทุนทางสังคมสูง ที่หลายภาคส่วนซึ่งบริหารจัดการประเทศอยู่เกรงใจไม่ออกมาพูดเลย ตนถือว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ควรต้องทำ และการที่อ้างว่า หากพูดไปเดี๋ยวธุรกิจเดือดร้อน ตนขอพูดตรงไปมาว่า

“ถ้าเป็นธุรกิจสัมปทานก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจไม่ถือสัมปทานกับรัฐ ตนถือว่า มันเป็นหน้าที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้นำองค์กรต้องพูด เสนอแนะ วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ตามกฎหมายที่ไม่ก้าวร้าว” ทั้งนี้ ตนอยากให้เพื่อนนักธุรกิจเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ช่วยกันแสดงความคิดเห็น เพื่อเคลื่อนไหวสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เสียงของพวกท่าน (นักธุรกิจ) เป็นเสียงที่สำคัญในการผลักสังคมให้เคลื่อนไปข้างหน้าได้”

สำหรับ เศรษฐา ทวีสิน หรือชื่อเล่น “นิด” เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ปัจจุบันอายุ 59 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการเงินจาก Claremont Graduate School สหรัฐอเมริกา เริ่มการทำงานในปี 2529 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท P&G ประเทศไทย (จำกัด) ก่อนหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลประกอบการในปี 2564 มีรายได้ถึง 29,747.52 ล้านบาท และกำไร 2,017.28 ล้านบาท

ว่ากันว่า “เศรษฐา” เป็นผู้นำทางความคิดที่ขับเคลื่อนแนวคิดใหม่ๆ ให้กับวงการอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในแวดวงอสังหาฯ (Prop Tech) การผลักดันเรื่องความเท่าเทียมในสังคมและองค์กร จนแสนสิริได้เป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบด้านความเท่าเทียม ไปจนถึงการตั้งเป้าให้แสนสิริเป็นองค์กร Net-zero ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

“เศรษฐา” ถือเป็นคนหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นเรื่องการบริหารบ้านเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างน่าสนใจ เขาเคยแสดงทัศนะว่า ปี 2565 จะเป็นปีของการปรับตัวขนานใหญ่ เพื่ออยู่ให้ได้กับการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤติโควิด เพราะสิ่งที่คนไทยต้องการมากที่สุดคือ ความหวัง, แรงบันดาลใจ และกำลังใจ คนแข็งแรงกว่าต้องช่วยกันส่งเสริมคนอ่อนแอกว่าให้เดินไปข้างหน้าด้วยกัน

เจ้าสัวต่างๆ ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ เพราะยุคนี้ความเจริญรุ่งเรืองของคนไม่กี่กลุ่มไม่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ต้องเลิกคิดกินรวบและหาแนวทางดำเนินธุรกิจที่แบ่งปันความมั่งคั่งมากขึ้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอนาคตที่สดใสของประเทศ

ครั้งหนึ่งเคยตอบคำถามเรื่อง “ม็อบ” ที่นัดชุมนุม ด้วยข้อเสนอ 3 ข้อ ว่า จุดยืนบางจุดของม็อบยังได้รับการยอมรับไม่มาก “เพราะบางเรื่องขัดกับจารีตคนไทย เป็นความรู้สึกไม่สบายใจของหลายฝ่าย แต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ…รับได้ ว่าต้องแก้เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ส่วนข้อเสนออื่น ต้องเสนอให้เหมาะสมกว่านี้”

“เศรษฐา” กล่าวถึงเยาวชนว่า คืออนาคตของชาติ ทุกๆ ฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งในสังคมไทยต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เกิดปะทะกันถึงกับเสียเลือดเนื้อ ซึ่งจะเป็นชนวนลุกลามให้เกิดการใช้ความรุนแรงโดยไร้เหตุผล และนำไปสู่ความหายนะของประเทศชาติได้

“ความไม่เท่าเทียมคือต้นเหตุของความวุ่นวายทั้งหลายในโลก มันยากนักหรือกับการที่ไม่ต้องพยายามทำตนให้เหนือคนอื่น อยู่กันด้วยความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันน่าจะนำมาซึ่งความสุขที่ยั่งยืน”

กล่าวกันว่า ในช่วงวิกฤตสาธารณสุข คู่ขนานวิกฤตเศรษฐกิจการเมือง “เศรษฐา” โชว์วิสัยทัศน์ Call out ทุกฝ่าย ก่อนออกมาขายหุ้นกู้ของแสนสิริ ไว้ว่า…

“ผมคิดว่า ยังมีความหวัง เป็นความหวังที่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนด้วยนะ ผมคิดว่า ปีหน้า (2565) จะดีกว่าปีนี้แน่นอน ปีนี้ฐานการเติบโตของเราต่ำมาก ปีหน้าเผลอๆ การเติบโตอาจดับเบิลดิจิต ถ้าฉีดวัคซีนได้ครบภายในไตรมาสแรก”

“แต่เป็นแค่ระยะสั้น ถ้าคุณไม่แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจอาจดีแต่ปัญหาสังคม ปัญหาต่างๆ ก็จะวนกลับมา”

เขาเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน เป็นเรื่องอะไรที่ไม่ว่าจะทั้งเศรษฐกิจและการเมืองก็ต้องการความเสมอภาค และภาษีเป็นเครื่องมือที่นำมาเรื่องความเสมอภาค

“ผมใช้ทรัพยากรเยอะก็ต้องจ่ายภาษีเยอะ หรือภาษีมรดก เมื่อคุณได้รับมาก็ต้องจ่ายภาษี รัฐบาลจะได้เอาภาษีไปใช้เรื่องสร้างถนน สนับสนุนเรื่องการรักษาพยาบาล ประกันราคาพืชผล เรื่องของการศึกษา เพื่อให้คนที่อยู่ข้างล่างขึ้นมาได้บ้าง”

ที่สำคัญ ในฐานะผู้นำองค์กร ผู้นำประเทศ “เศรษฐา” บอกว่า ต้องมีคำหนึ่งในใจคือ “เราทำได้” หากผู้นำแก้ตัวว่า ทำไมถึงทำไม่ได้ เขาบอกว่า คำแก้ตัว “ไม่ควรรับฟัง”

ดังนั้น ไม่แปลกที่ นักการเมืองในดวงใจ ของ “เศรษฐา” คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

“ผมชอบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นะ ท่านมีนโยบายที่ก้าวหน้า นำพาพรรคที่มีส.ส.แค่ 18 คน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี”

โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคม มีสโลแกน “เราทำได้” กับ นโยบาย เงินผัน ประกันราคา และรักษาฟรี จนได้เป็นนายกฯ คนที่ 13 นั่งเอง

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ตามมาก็คือ หากการปล่อยชื่อ “เศรษฐา” ออกมา เป็นการ “โยนหินถามทาง” โดยมีสื่อบางสำนักที่มีความใกล้ชิดพรรคเพื่อไทย ช่วยกันประโคมโหมข่าว แสดงว่า “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย ต้องการหยั่งเสียงว่า ชื่อของ นักบริหารธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีความรู้ ความสามารถ มีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่จะนำพาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน

เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ที่แม้จะอ่อนประสบการณ์ทางการเมือง และยังไม่ถือว่า ประสบความสำเร็จในด้านการบริหารธุรกิจมาก่อน แต่กระแสขานรับในฐานะ “ทายาททักษิณ” ก็ยังคงพุ่งแรงขึ้นไม่หยุด ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ความต้องการผู้บริหารประเทศ “มืออาชีพ” ที่เปิดชื่อออกมา

ก็แสดงว่า การให้ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร เป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ลำดับที่ 1 ก็ไม่เสียหายอะไรกับกระแสความนิยมพรรคเพื่อไทย ซึ่ง “เศรษฐา” อาจเป็นลำดับที่ 2 และมี “สัญญาใจ” ในตำแหน่งสำคัญทางการเมือง หากได้เป็นรัฐบาล

แต่ถ้า ชื่อ “เศรษฐา” สร้างปรากฏการณ์กระแสนิยมพรรคเพื่อไทยพุ่งสูง โดยดึงดูดความนิยมของคนที่ไม่เชื่อมั่น “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ให้กลับมาได้ เพราะเชื่อมั่น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ที่เป็น “นักบริหารเศรษฐกิจ” มืออาชีพตัวจริง เสียงจริง

การเลือก “เศรษฐา” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 ก็เป็นไปได้สูง

นับจากนี้ สิ่งที่เป็นข้อเปรียบเทียบกับ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร จะไม่เพียง ชื่อชั้น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” จากพรรคการเมืองอื่นเท่านั้น หากแต่ชื่อชั้น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทยเอง ที่เป็นคู่แข่ง ก็ต้องต่อสู้กันด้วย

กระนั้น “เหลี่ยมคู” ทางการเมืองของ “ทักษิณ” ก็ไม่ธรรมดา อย่างที่นักการเมืองหลายคนได้สัมผัสมาแล้ว การปลุกกระแส “ตัวเลือก”ในบัญชี “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ที่ไม่ใช่แค่คนในครอบครัว ซึ่ง ยังมี “จุดอ่อน” เรื่องประสบการณ์การบริหารและการเมือง

โดยเฉพาะการมีชื่อบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้านธุรกิจ เป็นที่น่าเชื่อถือในวงการธุรกิจ ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ ไม่มีอะไรเสียหายอยู่แล้ว มีแต่ได้กับได้ และคาดหมายได้อยู่แล้วว่า หากทำกระแสความนิยมพรรคให้ติดลมบนเอาไว้ ในที่สุดจะเลือกใครเป็น “เบอร์ 1” ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ประเด็นอยู่ที่ว่า ที่พรรคเพื่อไทยต้องการชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” อยู่ในเวลานี้ ทำ “เพื่อใคร” ก็นั่นแหละคือ คำตอบว่า ใครจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “เบอร์ 1”?