พท. ปลุก “สงครามยาเสพติด” รีเทิร์น? รัฐตำรวจ-ฆ่าตัดตอนยังหลอน

พท. ปลุก “สงครามยาเสพติด” รีเทิร์น? รัฐตำรวจ-ฆ่าตัดตอนยังหลอน

พลันเหตุการณ์ “โศกนาฏกรรม” สังหารหมู่เด็ก ครู และชาวบ้าน ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ของ “อดีตตำรวจ” ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ อดีต ผบ.หมู่ (ป.) สภ.นาวัง ของสถานีตำรวจภูนาวัง จ.หนองบัวลำภู พบว่าสาเหตุหนึ่ง อาจมาจากติดยาเสพติดจนคลุ้มคลั่งหรือไม่ และมีการพุ่งเป้าโจมตีปัญหายาเสพติดของสังคมอย่างกวางขวาง

พรรคเพื่อไทย (พท.) โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาประกาศกร้าวทันควันเช่นกัน

“พรรคเพื่อไทยได้ให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ยืนยันว่า ยาเสพติด คือบ่อนทำลายประเทศ พรรคเพื่อไทยจึงขอประกาศฟื้นนโยบาย “ทำสงครามกับยาเสพติด” ยินดีที่จะปรับปรุง แก้ไข ข้อบกพร่องในอดีต เพื่อขจัดยาเสพติดให้สิ้นไปจากสังคมไทย จะเอาจริงเอาจัง ไม่ปล่อยปละละเลยให้เยาวชนกลายเป็นหนูทดลองยาคืนลูกหลานสู่สังคม และจะทำทุกวิถีทางที่จะดำเนินการเรื่องนี้เพื่อให้ประเทศไทยออกจากวิกฤตยาเสพติดให้ได้”

ก่อนหน้าไม่นาน(11 พ.ค.65) เพจเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย เผยแพร่เนื้อหาที่นายทักษิณ ชินวัตร หรือ Tony Woodsome (โทนี่ วูดซัม) กล่าวเสวนาผ่านรายการ CareTalk x Clubhouse หัวข้อ “Thaksin Regime in The Multiverse of Poorness : ระบอบทักษิณในมัลติเวิร์สของความจน” กล่าวตอนหนึ่งว่า “...ถ้าตอนนี้ผมยังอยู่ ยาเสพติดคงไม่ราคาถูกขนาดนี้...”

“ประเทศยิ่งจน ยาเสพติดยิ่งเยอะ วันนี้ยาเสพติดขายถูกมาก ต้นทุนต่ำเหลือเม็ดละ 20 บาท สมัยผมขายเม็ดละ 300-400 บาทนู้น เพราะรัฐบาลเราเอาจริงและเอาอยู่ แต่ตอนนี้กลับปล่อยให้ยาเสพติดเกลื่อนเมือง ถ้าวันนี้ประเทศเป็นประชาธิปไตย รับรองว่านโยบายปราบปรามยาเสพติดจะเป็นนโยบายยืนพื้นเลย เพราะปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องใหญ่”  

ด้านหนึ่ง ถือว่า สถานการณ์เข้าทาง “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย ที่แม้ว่า การปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังของรัฐบาล “ทักษิณ” จะนำมาสู่การ “ต่อต้าน” อย่างรุนแรงของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน กรณีเกิดการ “ฆ่าตัดตอน” จำนวนมาก ซึ่งเป็นการตัดสินชีวิตคนโดยไม่ผ่าน “กระบวนการยุติธรรม”     

แต่อีกด้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายทำสงครามกับยาเสพติดของ “ทักษิณ” ทำให้ได้คะแนนนิยมจากประชาชน ที่ลูกหลานเยาวชนในชุมชนหมู่บ้านติดยาเสพติดอย่างมาก จนทุกครั้งที่มีปัญหายาเสพติดลุกลามบานปลาย คนก็มักจะนึกถึงการปราบปรามในยุคของ “ทักษิณ” ว่าได้ผลที่สุด  

จึงไม่แปลกที่ พรรคเพื่อไทย จะออกมาโหนกระแส “สังหารหมู่”ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู ประกาศนโยบาย “สงครามกับยาเสพติด” รีเทิร์น อย่างทันทีทันควัน ในการหาเสียง “เลือกตั้ง” ครั้งหน้า เพราะเชื่อว่า นโยบายในอดีตของ “ทักษิณ” ยัง “ขายได้” และได้รับความนิยม เพียงแต่มีจุดบกพร่องที่จะต้องแก้ไข ซึ่ง “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย ก็น่าจะมีบทเรียนแล้ว

  ความจริง ต้องยอมรับว่า การปราบปรามยาเสพติดเป็นเรื่องยากเนื่องจาก ไม่สามารถใช้ความรุนแรงในการปราบปรามได้ เพราะติดปัญหาว่า คนที่ติดยาเสพติดก็คือ ลูกหลานคนไทย ขณะยาเสพติด ก็อยู่เหนือการควบคุมได้ เพราะมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่ ขณะเครือข่ายผู้ค้าก็มีอิทธิพลค่อนข้างสูง และมีวิธีการหลีกเลี่ยงการจับกุมที่แยบยลขึ้น ไม่นับว่า มี “คนมีสี” เข้าไปเกี่ยวข้อง

  โดยเฉพาะที่รัฐบาล “ทักษิณ” โดนอย่างจังก็คือ การต่อต้านอย่างรุนแรงของ “กลุ่มสิทธิมนุษยชน” ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ   นี่คือ ปมปัญหาที่น่าย้อนให้เห็น หากจะทำ “สงครามกับยาเสพติด” อีกครั้ง จะแก้ปัญหาได้หรือไม่?

    ทั้งนี้ กล่าวกันว่า นโยบายการบริหารจัดการยาเสพติดของไทย ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเปิดช่องให้ “เจ้าหน้าที่รัฐ”สามารถฉกฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ จากคดียาเสพติดอย่างกว้างขวาง

จากข้อมูลพบว่า ช่วงปี2530 เริ่มมีการผลิต “ยาบ้า” หรือ ยากลุ่มแอมเฟทตามีน(Amphetamines) และมีขบวนการลักลอบเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ทำให้มีการค้ายาเสพติด และคนไทยติดยาเสพติด โดยเฉพาะ “ยาบ้า” เป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ในสมัยรัฐบาลทักษิณ จึงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 29 เมื่อพ.ศ. 2546 เพื่อปราบปรามการค้ายาเสพติดอย่างรุนแรงเด็ดขาด ด้วย “มาตรการจากเบาไปหาหนักและเด็ดขาดตามสถานการณ์”

รวมทั้งในคำประกาศ ยังระบุว่า “หากบุคคลใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ถือเป็นบุคคลที่เป็นภัยคุกคามต่อสังคม ประเทศชาติ”

นำมาสู่การต่อต้านว่า ไม่ต่างจากการออก “ใบอนุญาตฆ่า” (killing license) ที่มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาอย่างชอบธรรม โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายเพื่อเป็นหลักประสิทธิของผู้ต้องหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังถูกโจมตีด้วยชุดข้อมูลของฝ่ายสิทธิมนุษยชนว่า สภาวะไร้หลักประกันสิทธิในช่วงประกาศสงครามยาเสพติด ส่งผลให้ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหลาย ล้วนถูกถอดเอาสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออกไปเสียหมด เป็นชีวิตเปลือยเปล่า (bare life) ที่ไร้กฎหมายห่อหุ้มปกป้องคุ้มครอง จึงเสมือนเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถกระทำการทรมาน รีดเอาทรัพย์ บังคับขู่เข็ญ ได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวความผิด ทั้งเชิงกฎหมายและเชิงศีลธรรม

รวมถึงชี้ให้เห็นว่า ระบบการให้รางวัลและการลงโทษต่อผลปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐบนแผนการปราบปรามยาเสพติดดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่ปลุกเร้าให้การกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กรณีรูปแบบการบริหารที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและจังหวัดต้องทำงานให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อลดจำนวนคนที่อยู่ในบัญชีดำ (blacklist) ให้ได้ในเวลาที่กำหนด หากล้มเหลวฝ่ายเจ้าหน้าที่อาจถูกลงโทษ หรือหลุดจากตำแหน่ง แต่หากสำเร็จก็ได้รางวัลตามที่ประกาศไว้ในประกาศกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546

ยกตัวอย่างเช่น หากสามารถดำเนินคดีจับกุมผู้ครองครองเมทแอมเฟตามีน ตั้งแต่ 11 -500 เม็ด เจ้าหน้าที่รัฐจะได้รับเงินรางวัลตอบแทน กรัมละ 5,000 บาท และส่วนที่เกิน500 เม็ด หากมีปริมาณสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 20% ขั้นไป เงินรางวัลตอบแทนจะตกอยู่ที่เม็ดละ 3 บาท ทั้งนี้รวมแล้วไม่เกิน 1,000,000 บาท

แม้ว่าระบบให้รางวัลและการลงโทษ จะมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐตั้งใจปฏิบัติงานปราบปรามยาเสพติดอย่างเคร่งครัด และป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่รีดทรัพย์ รับสินบน หรือหาประโยชน์จากขบวนการค้ายาเสพติด ดังที่ “ทักษิณ” เคยพูดกับผู้สื่อข่าวว่า

“การให้เงินสามบาทต่อยาบ้าหนึ่งเม็ดที่ยึดมาได้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่กลายเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย แทนที่จะไปขอเงินสินบนจากพวกเดนมนุษย์เหล่านั้น”

แต่ปรากฏว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้รับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี เช่น การจับกุมโดยไม่มีหลักฐาน การยัดยาเพื่อทำยอดคดีของเจ้าหน้าที่ การใส่ชื่อบุคคลในบัญชีดำโดยไม่มีเหตุผล และการเรียกเอาทรัพย์สินจากผู้ที่อยู่ในบัญชีดำ เพื่อแลกกับการลบชื่อออกจากบัญชี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การที่บุคคลใดมีชื่อปรากฏอยู่ใน “บัญชีดำ” ย่อมหมายความว่า บุคคลนั้นตกเป็น “เป้าหมาย” ปฏิบัติการปราบปราม ส่วนความรุนแรงไม่ว่าจะลักษณะใดก็ตาม ล้วนถือเป็นการกระทำตามนโยบายที่รัฐวางกรอบเอาไว้แต่แรก ตอกย้ำให้เห็นว่า ความรุนแรงที่รัฐได้กระทำลงไป โดยอ้างเรื่องการปราบปรามยาเสพติดมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ที่สำคัญ ผลจากนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดใน “ช่วงสามเดือนแรก” มีการวิสามัญฆาตกรรมจำนวน 2,275 ราย ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นอ้างว่า เป็นการฆ่าตัดตอนกันเองของกลุ่มขบวนการค้ายา และเป็นการป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีการต่อสู้ขัดขวางตอนเข้าจับกุม

ต่อเนื่องในเดือนตุลาคม 2546 รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยแจ้งต่อกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ว่า จำนวนผู้ที่ถูกฆาตกรรมมีอยู่ 2,593 ราย นับตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน ทำให้อัตราการฆาตกรรมในเมืองไทยอยู่ที่จำนวน 400 รายต่อเดือน และจำนวนหนึ่งยังอยู่ในฐานะเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยหรือผู้บริสุทธิ์ ซึ่งยังต้องได้รับการพิสูจน์ว่า กระทำความผิดจริงหรือไม่ในกระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม การทำสงครามกับยาเสพติด ดังกล่าว ประชาชนตอบรับเป็นอย่างดี จน“ทักษิณ” สามารถประกาศชัยชนะ อย่างเป็นทางการได้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2546 ว่า

“แม้ยาเสพติดจะยังไม่หมดไปจากประเทศ แต่เราสามารถบอกได้ว่า ในตอนนี้ ยาเสพติด ซึ่งเคยเป็นอันตรายใหญ่หลวงสำหรับประเทศ ไม่สามารถทำร้ายเราได้ต่อไปอีก”

นัยว่า ด้วยผลพวงจากนโยบาย ความปลาบปลื้มของประชาชน ตลอดจนระบบการตรวจสอบอำนาจรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเวลาการปราบปราม นำมาสู่ความเงียบ และสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวชั่วขณะหนึ่ง...

นี่หรือไม่ ที่นพ.ชลน่าน ยอมรับว่า นโยบายในอดีตมีปัญหาข้อบกพร่อง และพร้อมนำมาแก้ไข?

ไม่เพียงเท่านั้น ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ก็ยังมีแนวคิดที่จะทำสงครามยากับเสพติดอีกครั้ง

หลังพบว่า ตัวเลขจากสำนักงานปราบปรามยาเสพติด ขณะนั้นมีคนเสพยา 1.7 ล้านคน

ทั้งยังเป็นนโยบายแรกๆ ที่นายกฯยิ่งลักษณ์ ตั้งธงไว้ว่า ภายใน 1 ปีจะต้องเห็นผล โดยให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล

แต่สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงในช่วงนั้น ก็ยังคงเป็น การ “ฆ่าตัดตอน” ซึ่งหมายถึงการฆ่ากันเองในขบวนการค้ายาเสพติด เพื่อตัดตอนไม่ให้สาวถึงตัวผู้บงการใหญ่ หรือ อาจฆ่าตัดตอน เพราะมีตำรวจอยู่ในขบวนการ เพื่อไม่ให้ถูกจับได้ ก็ไม่แน่เหมือนกัน?

ในขณะนั้น แม้ร.ต.อ.เฉลิม จะปฏิเสธไม่มีการ “ฆ่าตัดตอน” ในสมัย “ทักษิณ” แต่ข้อมูลองค์กรสิทธิมนุษยชน อย่าง ฮิวแมนไรท์วอทช์  กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

กล่าวคือ ยืนยันว่า ในรอบ 3 เดือนตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน 2546 พบว่า มีคดีฆาตกรรมพุ่งสูงมากกว่าช่วงปกติ 88 เปอร์เซนต์  มีคนตาย 2.8 พันคน และในจำนวนนั้น พัวพันกับยาเสพติด 1.3 พันราย ในจำนวนคดีทั้งหมดนี้ จับกุมผู้ต้องหาได้เพียง 29 คดี ส่วนที่เหลือคดีไม่มีความคืบหน้า

ช่วง 2 เดือนของการประกาศสงครามยาเสพติด มีคดี “วิสามัญฆาตกรรม” เกิดขึ้นสูงถึง45 คดี มีคนตาย 54 คน เท่ากับว่า 2 เดือนมีวิสามัญฆาตกรรมเกือบทุกวัน

ยิ่งกว่านั้น ในแฟ้มคดีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และดีเอสไอ มีเรื่องร้องเรียนจากเหยื่อสงครามกับยาเสพติด ค้างอยู่ไม่น้อยกว่า 50 เรื่อง

สิ่งเหล่านี้ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีการหยิบยกให้เห็นปัญหา เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยยุค“ทักษิณ” ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเป็นห่วง

อีกอย่าง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างสูง ในสมัย “ทักษิณ” ก็คือ “รัฐตำรวจ” ที่ควบคู่มาพร้อมกับการทำสงครามยาเสพติด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ ของ ชาญชัย จิตรเหล่าอาพร เรื่อง รัฐตำรวจสมัยใหม่ : ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมภายใต้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ. 2544-2549

สรุปว่า เงื่อนไขหลายประการที่เป็นมูลเหตุนำไปสู่การปกครองระบอบนี้ ได้แก่ ลักษณะผู้นำแบบอำนาจนิยม กลุ่มทุนที่มีบทบาทในทางการเมืองโดยตรงมากขึ้น ปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย

ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นั้น ได้นำพาประชาชนในประเทศไปอยู่ใต้การปกครองระบอบรัฐตำรวจได้อย่างแยบยล รัฐบาลมีการใช้อำนาจในการปราบปรามด้วยมาตรการที่รุนแรง และมีการควบคุมกลไกการทำงานขององค์กรรัฐและองค์กรอิสระอย่างเข้มข้น ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะรัฐตำรวจสมัยใหม่

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้วิเคราะห์เหตุการณ์ความรุนแรงกรณีการปราบปรามยาเสพติดและสถานการณ์ภาคใต้ นอกจากนี้ยังพบว่า ขบวนการภาคประชาชนได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาล จึงทำให้ระบอบรัฐตำรวจสมัยใหม่ของ “ทักษิณ” นั้น ไม่อาจหยั่งรากลึกในเชิงสถาบันได้อย่างถาวร

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ถ้าหากรื้อฟื้นสงครามกับยาเสพติด กลับมา จะมีการนำเอา “รัฐตำรวจ” กลับมาด้วยหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดยุค “ทักษิณ” นั่นเอง

ประเด็นที่น่าคิดก็คือ มีการอ้างงานศึกษาจำนวนหนึ่ง ถึงกรณีที่ธุรกิจยาเสพติดถูกผลักให้อยู่ในวงจรตลาดมืด โดยอาศัยความเชื่อใจระหว่างผู้มีส่วนได้เสียด้วยกัน และขาดกลไกเชิงสถาบันที่จะเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา ส่งผลให้ความรุนแรงถูกนำมาใช้เพื่อจัดการปัญหาในทุกๆ ครั้ง

และที่ผ่านมาตอกย้ำว่า นโยบายมุ่งเน้นการปราบปรามนั้น “ไร้ประสิทธิภาพ” จึงจำเป็นต้องแสวงหามาตรการจัดการปัญหายาเสพติดรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะหันไปเน้นนโยบายการควบคุมแทนที่จะเป็นการปราบปราม ซึ่งการควบคุมในที่นี้ หมายถึง การควบคุมห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของยาเสพติด ตั้งแต่การผลิต การทำให้เป็นธุรกิจควบคุม (commercialization) และการใช้ยา โดยแยกความแตกต่างจากชนิดของยาและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้ยาและบุคคลที่สามพร้อมทั้งกีดกันกลุ่มองค์กรอาชญากรรม และตัวละครผิดกฎหมายอื่นๆ ไม่ให้เข้ามามีส่วนรวมแบ่งปันผลกำไรจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยไม่ชอบ

เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ รัฐจำเป็นต้องแบ่งแยกลักษณะของสิ่งเสพติดตามระดับความอันตราย เพราะสิ่งเสพติดแต่ละประเภทนั้น มีความแตกต่างกันในหลายมิติ เช่นความเสี่ยง พฤติกรรมการเสพติด วิธีการรักษา รวมทั้งการอาศัยเครือข่ายทางสังคมและเงินทุนในการเข้าถึงยา เป็นต้น

ที่สำคัญนโยบายบริหารจัดการปัญหายาเสพติด ควรพิจารณาบุคคลผู้เสพติดยาเสพติดเป็น “ผู้ป่วย” ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้หายจากอาการเสพติด มากกว่าเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายหรือปัญหาสังคม

อย่างไรก็ตาม การควบคุมยาเสพติด ไม่ได้หมายความถึงการทำให้ยาเสพติดกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่เป็นการควบคุมธุรกิจยาเสพติด เพื่อลดอำนาจเครือข่ายขององค์กรอาชญากรรม และทำลายตลาดมืด ให้กลายเป็นระบบตลาดที่อยู่ในสายตาของรัฐและสังคม ซึ่งจะช่วยให้ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับขบวนการยาเสพติดได้รับการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ระบบตลาดยาเสพติดที่มีการควบคุม จะทำให้การจัดหาและซื้อขายยาเสพติด ต้องผ่านระบบการขออนุญาตและเห็นชอบด้วยกฎหมายในพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเฉพาะเท่านั้น เช่น การใช้เพื่อทางการแพทย์ ที่ไม่นำไปสู่การก่ออาชญากรรม ฯลฯ

นอกจากนี้ มาตรการควบคุมสามารถดำเนินไปในรูปแบบแตกต่างกันและนำมาซึ่งการควบคุมในระดับต่างๆ อาทิ อาศัยใบสั่งยาในการจัดซื้อ การสร้างระบบที่รัฐบาลสามารถเป็นฝ่ายจัดหาและเข้าถึงยาเสพติด การสร้างช่องทางให้ผู้ประกอบการเอกชนดำเนินการขอรับใบอนุญาตจากรัฐบาลเพื่อการจัดหาและการจัดจำหน่ายโดยรัฐเป็นฝ่ายควบคุมความปลอดภัย การแยกเอาสมุนไพรพื้นบ้านออกจากการเป็นสิ่งเสพติดพร้อมสร้างกลไกควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น

จากงานศึกษาและข้อเสนอดังกล่าว ดูเหมือนสอดคล้องกับสิ่งที่กลุ่มต่อต้านการปราบปรามอย่างรุนแรง หรือ ทำสงครามกับยาเสพติด ต้องการ และยังเป็นทิศทางที่จะก้าวไปในอนาคตด้วย

คำถามก็คือ การทำ “สงครามกับยาเสพติด” ของพรรคเพื่อไทย ฉบับปรับปรุงใหม่ ที่ประกาศโหนกระแส จะเอาแบบปราบปรามอย่างเด็ดขาดเหมือนในยุค “ทักษิณ” หรือทบทวนข้อผิดพลาดอย่างไรแค่ไหน? ยังคงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม    

แต่สิ่งหนึ่งที่ “ตามเป็นเงา” อย่างไม่ต้องสงสัยก็คือ ภาพหลอนในอดีต กรณี “ฆ่าตัดตอน” จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

ความขัดแย้ง ระหว่างการปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด หรือ ทำ“สงครามกับยาเสพติด” กับการ “ต่อต้าน” ความรุนแรงจากการปราบปราม นับว่า “ท้าทาย” อย่างยิ่งต่อนโยบายพรรคเพื่อไทย ที่ออกตัวแรงในกระแส “ยาเสพติด” เป็นสาเหตุสังหารหมู่เด็กเล็กในจังหวัดหนองบัวลำภู!?