กำแพงขวางวิจารณญาณ | บวร ปภัสราทร

กำแพงขวางวิจารณญาณ | บวร ปภัสราทร

เราเชื่อกันว่าใครสักคนที่มีความรู้ มีอาวุโส น่าจะมีวิจารณญาณมากกว่าคนอื่นๆ น่าจะเป็นตัวอย่างของการใช้วิจารณญาณ บอกดี บอกไม่ดีให้กับผู้คนได้เป็นอย่างดี แต่พบกันเป็นประจำว่าผู้ทรงปัญญา กลับเห็นอะไรที่ไม่ดีเป็นของดี แถมยังชี้ชวนให้คนอื่นเห็นด้วยว่าความไม่ดีนั้นกลายเป็นความดีตามตนเองด้วยอีก

ไม่เพียงแต่คนที่เราเชื่อว่าเป็นผู้ทรงปัญญาจะทำให้เราผิดหวัง แต่ยังมีหลายครั้งที่คนที่อาบน้ำร้อนมาก่อนเรานั้น กลับตะแบงเรื่องไม่ดีให้กลายเป็นเรื่องดีเสียอีกด้วย

ไม่ใช่ความเขลา หรือความอ่อนด้อยประสบการณ์แน่ๆ ที่ทำให้คนมีปัญญากลับกลายเป็นคนไร้วิจารณญาณ หรือทำให้คนอาวุโสที่มากด้วยประสบการณ์กลับคิดแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นเสมือนกำแพงมาขวางการใช้วิจารณญาณของคนเหล่านั้น จนทำให้ไม่รู้ว่าทำอะไรลงไป ทั้งๆ ที่น่าจะตระหนักได้ว่าทำไปแล้วจะมีผลเสียตามมามากมาย 

ผู้ทรงปัญญาตะแบงเสนอแนวทางบางอย่างที่ปุถุชนทั่วไปก็รับรู้ได้ว่า แนวทางนั้นไม่ใช่แนวทางที่ดี เพียงเพราะต้องการเป็นผู้คุมเกมแต่เพียงฝ่ายเดียว แทนที่จะเป็นการร่วมกันจากทุกฝ่าย เล่นกีฬากันสองทีมแต่ทีมหนึ่งต้องการเป็นทั้งผู้แข่งขันและกรรมการไปพร้อมกัน

ความต้องการคุมเกมแต่เพียงฝ่ายเดียวในการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ทำให้วิจารณญาณไม่มีการนำมาใช้ เพราะใช้แล้วจะต้องยอมให้เป็นแฟร์เกม เขาถูกบ้าง เราถูกบ้าง

ถ้าต้องการผูกขาดความถูกต้องไว้แต่เพียงผู้เดียวจากการทำงานร่วมกัน หนทางเดียวคือเลิกใช้วิจารณญาณ แต่ใช้หลักว่าฉันถูก คนอื่นผิด ไว้เสมอ

ประสบการณ์ที่สะสมมาจะเลือกใช้เฉพาะที่ช่วยเสริมหลักการ ฉันถูก คนอื่นผิด เท่านั้น ความรู้และประสบการณ์ที่ช่วยเตือนให้ทราบว่าเรื่องนี้ตนเองอาจจะผิดเสียแล้ว จะถูกละเลย จนกระทั่งเมื่อสิ่งที่ว่าถูกนั้นนำไปสู่ความล้มเหลว

ก็จะไปเลือกความรู้และประสบการณ์ที่ใช้ช่วยแก้ตัวว่า ที่ล้มเหลวนั้นมาจากการที่คนอื่นทำอะไรสักอย่างหนึ่งผิดพลาดอยู่ดี โดยไม่ยอมให้ตนเองต้องผิดหวังจากการตัดสินใจของตนเอง 

ดังนั้น จงอย่าได้หวังการใช้วิจารณญาณของผู้ทรงปัญญา ผู้อาวุโสในการทำงานร่วมกันที่คนเหล่านั้นพึงประสงค์จะผูกขาดอำนาจในการควบคุมงานนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว

แม้ว่างานนั้นจะมีความจำเป็นที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันทำงานจึงจะประสบความสำเร็จ ที่ใดมีการผูกขาดอำนาจในการควบคุมการทำงาน ที่นั่นไม่มีการใช้วิจารณญาณ

กำแพงขวางวิจารณญาณ | บวร ปภัสราทร

ในสังคมที่ปฏิเสธความล้มเหลว ยอมรับเฉพาะแต่ความสำเร็จเท่านั้น การใช้วิจารณญาณจะถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด งานใดที่ประสบความสำเร็จ จะพบการใช้วิจารณญาณในแทบทุกขั้นตอนของการทำงาน

ในทางตรงข้าม ถ้างานใดล้มเหลว นิยามของความสำเร็จจะถูกกำหนดขึ้นมาใหม่ เพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลวที่ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ผู้คนในสังคมนั้นยอมรับไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะอธิบายอย่างมีวิจารณญาณไม่ได้แน่ๆ 

ล้มเหลวไปแล้วแท้ๆ กลับนิยามกันใหม่ให้กลายเป็นความสำเร็จขึ้นมาอีก งานทำนองนี้ต้องสะกดจิตตนเองจนกระทั่งแยกไม่ออกระหว่างภพที่สมมติขึ้นเพื่อแสดงความสำเร็จ กับภพที่มีอยู่จริงที่เต็มไปด้วยความล้มเหลว

หากไม่ต้องการหลงไปอยู่ในภพสมมติที่เต็มไปด้วยความสำเร็จเสมือน โดยปราศจากความสำเร็จจริง ให้ตกลงกันก่อนจะร่วมหัวจมท้ายทำงานด้วยกันว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ไม่มีงานใดในจักรวาลนี้ที่มีแต่ความสำเร็จโดยปราศจากความล้มเหลว พร้อมกับตกลงกันว่าความล้มเหลวคือบทเรียน ไม่ใช่เรื่องที่มีไว้แก้ตัว หรือมีไว้เพื่อหาแพะ

วิจารณญาณไม่มีการนำมาใช้ในสังคมที่บอกว่ายึดมั่นในหลักการ แต่ไม่อาจทนฟังเรื่องที่ไม่ถูกใจ ไม่ทนฟังเรื่องที่เป็นลบ มีหลักการตราบเท่าที่ทุกอย่างรอบตัวดูสดใส ไร้เรื่องเศร้า

ถามผู้นำได้เฉพาะเรื่องดี เรื่องที่ถูกอกถูกใจ ถามอะไรที่เป็นเรื่องจริง แต่มีผลกระทบในทางลบ คำตอบที่ได้มักไม่ใช่คำตอบของคนที่มีวิจารณญาณ ถ้าอยากดูมีหลักการ ต้องตกลงกันก่อนว่าเมื่อยึดไปตามหลักการแล้ว

อะไรที่ไม่ถูกใจ อะไรที่เป็นเรื่องทางลบย่อมต้องเกิดขึ้นมาบ้าง ไม่มีหลักการใดในโลกที่มีเฉพาะเรื่องสุข ไม่มีเรื่องทุกข์อยู่ด้วยเลย

ผู้ทรงปัญญาและผู้อาวุโสทั้งหลาย ขอได้โปรดทลายกำแพงขวางวิจารณญาณเหล่านี้ เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้เป็นที่จดจำกันตลอดไป

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร 
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]