อุปสรรคขัดขวางความสำเร็จของกลยุทธ์ | บวร ปภัสราทร 

อุปสรรคขัดขวางความสำเร็จของกลยุทธ์ | บวร ปภัสราทร 

ผู้บริหารที่เก่งจริงเมื่อเห็นปัญหา หรือเห็นโอกาสแล้วก็ต้องสามารถสั่งการได้ว่าควรจะทำอะไรต่อไป หรือมีกลยุทธ์ใดขึ้นมาบ้าง แต่ผู้บริหารจำนวนมากที่ไม่ว่าจะมีปัญหาใดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีโอกาสใหม่อะไรก็ตาม การสั่งการยังคงเส้นคงวา

คือสั่งงานตามเดิมที่เคยกระทำกันมา บริหารงานโดยปราศจากกลยุทธ์ คือไม่มีเป้าหมายความสำเร็จที่ควรจะเกิดขึ้นจากการแก้ปัญหา หรือโอกาสที่พบเจอนั้น  ไม่มีทิศทางสำหรับการดำเนินการไปสู่เป้าหมายนั้น กำกับแค่การทำงานประจำที่คุ้นเคย ความสำเร็จประเมินจาก “ได้ทำ” ไม่ประเมินว่าที่ได้ทำไป “ได้ผล” อย่างไรบ้าง

การบริหารโดยไร้กลยุทธ์นี้ไม่ต่างไปจากการขยันวิ่งเร็วขึ้น ความสำเร็จของการวิ่งก็ไปวัดว่าวิ่งเร็วขึ้นแค่ไหน  เพียงแต่วิ่งเป็นวงกลม ดังนั้นไม่ว่าจะวิ่งเร็วแค่ไหน สุดท้ายก็กลับมาที่เดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก  

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่อาจบรรลุความสำเร็จของกลยุทธ์ได้ คือ ผู้บริหารไม่มีกลยุทธ์นั่นเอง ซึ่งแก้อุปสรรคนี้ไม่ยาก แค่ก่อนจะสั่งการอะไร ก็กำหนดกลยุทธ์ให้ชัดเจนเสียก่อน คิดเชิงกลยุทธ์ให้เป็น

ผู้บริหารหลายคนที่มัวแต่สนุกอยู่กับการสั่งการงานประจำ สนุกอยู่กับการเซ็นแฟ้ม จนไม่มีเวลาคิดกลยุทธ์  Mindset ของผู้บริหารจึงเป็นอุปสรรคสำคัญของการบรรลุความสำเร็จของกลยุทธ์ ถ้าเชื่อแต่ว่าได้ทำงานประจำครบถ้วนคือความสำเร็จ ความใส่ใจที่จะคิดกลยุทธ์ย่อมไม่มี สุดท้ายคือทำไปแต่ละวันโดยปราศจากกลยุทธ์

ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ หากปรับเปลี่ยน Mindset จากมุ่งมั่น “ได้ทำ” มาเป็นมุ่งมั่น “ได้ผล” แทน การมุ่งมั่น “ได้ผล”ทำให้ต้องคิดว่าทุกอย่างที่จะกระทำนั้น ต้องการให้เกิดผลอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง การกระทำทั้งปวงก็จะมีเป้าหมาย และมีทิศทางไปสู่การบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ทุกอย่างที่จะทำจึงมีความหมายสำหรับการบรรลุความสำเร็จ 

เวลาที่ไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินการตามกลยุทธ์เป็นอุปสรรคสำคัญอีกอย่างหนึ่ง  เป้าหมายและหนทางสู่เป้าหมายนั้น  จะไม่มีความหมายอย่างใดเลย หากเป้าหมายและหนทางสู่เป้าหมายนั้นต้องใช้เวลามากกว่าที่จะจัดสรรให้ได้ในบริบทของการงานนั้น ระลึกไว้เสมอว่า คิดการใหญ่ต้องมีเวลาเพียงพอ

กลยุทธ์ต้องร่วมกันทำระหว่างผู้บริหารกับบุคลากร ถ้าผู้บริหารไม่สามารถสื่อสารเป้าหมายอนาคตที่กำหนดไว้ให้บุคลากรได้รับรู้ ทำแค่บังคับและบัญชาให้ทำตามนั้น จะไม่มีความสำเร็จเกิดขึ้น

ในบริบทปัจจุบัน เป้าหมาย และหนทางสู่เป้าหมายนั้นต้องเป็นที่ยอมรับของบุคลากร บอกแล้วได้ใจมาด้วย หมายถึงบุคลากรเกิดความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าทำงานไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วยความเต็มใจ ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายอนาคตที่ไม่ได้ใจบุคลากรเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งต่อการบรรลุความสำเร็จของกลยุทธ์

จะกำหนดเป้าหมายอนาคตใดขึ้นมา ให้ดูด้วยว่า เป้าหมายอนาคตนั้นให้คุณค่ากับชีวิตในวันนี้และวันหน้าของคนร่วมงานมากน้อยแค่ไหน เป้าหมายอนาคต และกลยุทธ์ที่ทำให้คนบางกลุ่มเกิดความมั่นคง  มีความมั่งคั่ง  อย่างยั่งยืน ย่อมได้ใจเฉพาะคนกลุ่มนั้น

กลุ่มอื่นที่ไม่เห็นว่าอนาคตนั้นเป็นประโยชน์อย่างไรกับตนเอง คงไม่พยายามมุ่งมั่นทำงานไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของกลยุทธ์นั้นแน่ ๆ คนเราทุ่มเทเพราะหวังว่าผลของความพยายามที่ทุ่มเทลงไปนั้น จะส่งผลดีอย่างใดอย่างหนึ่งกับตนเอง  มีแค่การทำงานกุศลเท่านั้นที่จะทุ่มเทเพื่อให้คนอื่นมีอนาคตที่ดีขึ้น 

การไม่มีลำดับความสำคัญ เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งของการบรรลุความสำเร็จของกลยุทธ์ ถ้ากำหนดให้ทุกเรื่องที่จะต้องทำมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด ทรัพยากรที่มีอยู่ จะกระจายออกไปในหลายเรื่องในช่วงเวลาเดียวกัน จนอาจเกิดการขาดแคลนทรัพยากรสำหรับการดำเนินการให้บรรลุความสำเร็จในแทบทุกเรื่อง

ถ้ากำหนดกลยุทธ์ว่าจะมีทั้งเรือ ทั้งรถ ทั้งเครื่องบินไปพร้อมกัน โดยที่ไม่ใช่มหาเศรษฐี จะไม่ได้อะไรสักอย่าง เพราะเงินทองที่มีไม่เพียงพอ แต่ถ้ากำหนดว่ารถ มาก่อนเรือ เรือมาก่อนเครื่องบิน  อย่างน้อยที่สุดน่าจะได้อะไรมาสักอย่าง คิดกลยุทธ์ ต้องไม่ลืมคิดเรื่องลำดับความสำคัญไว้ด้วยว่า กลยุทธ์ใดมาก่อนหลังไว้ด้วย 

กลยุทธ์มักส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจในการทำงานของบุคลากร  จึงมีบางคนที่มีอำนาจลดลงไปเพราะกลยุทธ์  ถ้าบุคลากรหลงอำนาจ จนกระทั่งต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทั้งปวง กลยุทธ์ดีแค่ไหนก็ไม่มีวันบรรลุผลขึ้นมาได้ 

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร  

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี