“ตบทรัพย์ กับ วิถีชีวิต”

“ตบทรัพย์ กับ วิถีชีวิต”

เรื่องราวของอธิบดีรับเงินสด และตำรวจตบทรัพย์นักท่องเที่ยว คงไม่ใช่เรื่องแปลกในสายตาคนไทย

เพราะเราคุ้นเคยกับการหาประโยชน์แบบนี้ จนเชื่อว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของ “วิถีชีวิต” ไปแล้ว  และการกระทำแบบนี้ คงมีอีกมากที่ไม่ถูกเปิดเผย เพราะยังไม่ถูกจับดำเนินคดี

แต่เราจะปล่อยไว้อย่างนี้ คือใครโชคร้ายถูกจับได้คาหนังคาเขา ก็ดำเนินคดีไป ใครยังมีลู่ทาง ก็กอบโกยต่อไป โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อประชาชน และต่อภาพลักษณ์ของประเทศ...อย่างนั้นหรือ?

การแก้ปัญหาด้วยวิธีจับดำเนินคดี มันช้าเกินไป ได้ผลน้อยมาก และไม่ได้แก้ที่รากเหง้าของปัญหา การที่จะก้าวไปข้างหน้า เราต้องหาเส้นทางที่คาดหวังผลที่ยั่งยืนกว่านี้ ไม่ว่าจะได้เพิ่มขึ้นแค่ไหน ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

จับพลัดจับผลู เมื่อเร็วๆนี้ผมได้รับเชิญจาก สภาการศึกษาแห่งชาติ ให้เป็นอนุกรรมการด้านคุณธรรมจริยธรรมฯ โดยมี พระพรหมบัณฑิต เป็นประธาน และมีผู้นำของศาสนาคริสต์และอิสลาม รวมทั้งบุคคลในวงการศึกษาร่วมอยู่ด้วย

คุยกันครั้งแรก ที่ประชุมสรุปว่าจะต้องวางแผนการศึกษาของเยาวชน เพื่อให้บรรลุผลลัพท์ คือ ทำให้คุณธรรมจริยธรรม เป็น “วิถีชีวิต” ให้ได้ 

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่ท่านกำลังวางแผนเช่นนั้น ส่วนผมเอง ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาระดับเยาวชน ผมสอนระดับปริญญาโทและเอก เป็นผู้ที่รับเยาวชน ซึ่งเป็นผลพวงจากท่านทั้งหลายนั่นแหละ มาขัดสีฉวีวรรณต่อ 

ในทางเศรษฐศาสตร์ มีคำว่า 1st Best กับ 2nd Best คือถ้าเราสามารถทำ “สิ่งที่ดีที่สุด” ได้ ก็ทำไปเลย 1st Best คือที่ท่านกำลังจะสอนจนคุณธรรมจริยธรรม กลายเป็น “วิถีชีวิต” ของเยาวชน ถ้าทำได้ก็ ดีมากๆเลยครับ

แต่ถ้าทำได้ยากมากๆ ก็ต้องหาวิธีที่ดีรองลงมา คือ 2nd Best ซึ่งตรงนี้ ผมขอเสนอ สักวิธีหนึ่งครับ

ผมเรียนที่ประชุมว่า การสอน MBA นั้น เราใช้วิธีที่เรียกว่า “กรณีศึกษา” อย่างเช่นที่ Harvard Business School เขาไม่ได้สอนทฤษฎีอะไรเลย กว่าจะจบออกมา นักศึกษาทำอย่างเดียวคือ อภิปรายถกเถียง “กรณีศึกษา” กัน วันละ  3 เคส 

ให้ถกแถลงกันว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นในกรณีศึกษานั้นๆ แต่ละคนคิดอย่างไร และถ้าเราเป็นผู้ที่จะต้องตัดสินใจ เราจะตัดสินใจอย่างไร เพราะเหตุใด ฯลฯ

กรณีศึกษาไม่มีคำตอบถูก-ผิด แต่มันเป็น วิธีฝึกการคิด ฝึกวิธีพิจารณามิติต่างๆของการตัดสินใจ ฝึกวิธีใช้เหตุผลในการตัดสินใจ

ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อเรียนจบออกมา ก็เหมือนกับว่าเคยทำตัวเป็นผู้บริหารบริษัทหรือองค์กรต่างๆ มาแล้ว 300 แห่ง ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องจริง แต่ในกระบวนการที่ทำซ้ำแบบนั้นทุกวัน รวมทั้งได้รับฟังมุมมองต่างๆ จากเพื่อนร่วมชั้นเรียน...

มันก็ช่วยหล่อหลอมให้คนเรียน ค่อยๆซึมซับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจพบได้ในชีวิตจริง รวมทั้งเหตุผลที่เราตัดสินใจทำ หรือไม่ทำอะไร กับเรื่องที่อยู่ตรงหน้าเรา

ผมบอกที่ประชุมว่า ข่าวการโกงกิน ที่เราได้เห็นได้ยินอยู่บ่อยๆ เช่นอธิบดี หรือปลัดกระทรวง ถูกจับ ก็ทำโดย คนที่อยู่ในระดับตัดสินใจ (Decision Makers) ทั้งนั้นแหละครับ 

เป้าหมายของผม ในการสอนกรณีศึกษาก็คือ เมื่อถึงวันที่ลูกศิษย์ MBA หรือ Ph.D. ของผม เติบโตขึ้นจนได้เป็น “คนระดับตัดสินใจ” ก็หวังเพียงว่าเขาจะตัดสินใจในชีวิตจริง เช่นเดียวกับที่เขาตัดสินใจในห้องเรียน 

เพราะในห้องเรียน เขามักจะตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูก และอดกลั้นไม่ทำสิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่เป็นสีเทา อยู่เสมอ

ผมจึงเสนอต่อที่ประชุมว่า ท่านทั้งหลายโปรดวางแผน การศึกษาของเยาวชนไปเลยว่าทำอย่างไร จะให้เยาวชนซึมซับจนเป็น “วิถีชีวิต” ตรงนี้ดีมาก 

แต่ผมขอเสนอ วิธี “กรณีศึกษา” ให้เยาวชนได้เรียนด้วย โดยการประยุกต์ให้เหมาะสม

ถ้าเป็นเด็กเล็กก็เอากรณีศึกษาง่ายๆ  เด็กโตขึ้นมาหน่อย ค่อยๆยากขึ้นทีละน้อย เนื้อหาของกรณีศึกษาต้องไม่ยาว แต่น่าสนใจและโยงใยกับเด็กในวัยนั้นๆ 

ที่แน่ๆคือควรเป็นกรณีศึกษา ที่เด็กๆมีโอกาสจะพบจริงในชีวิตประจำวัน และเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางจริยธรรมด้วย ขอย้ำอีกครั้งว่าต้องทำให้น่าสนใจ และไม่น่าเบื่อหน่าย

เวลาผมพาครอบครัวไปดูละครเวที ตอนขับรถกลับบ้าน เรามักจะคุยกันว่า ฉากนั้น ฉากนี้ ที่นางร้าย หรือ พระเอก ทำแบบนั้นแบบนี้ เป็นเพราะมีแรงขับเคลื่อนมาจากอะไร ถ้าเป็นเราอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เราจะทำแบบเดียวกันหรือไม่ เพราะอะไร และมีทางเลือกอะไรอีกบ้างไหม ฯลฯ

ผมเชื่อว่า ทำแบบนี้ ถามแบบนี้ ในห้องเรียน และทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เรียนจากหลายๆกรณีศึกษา ยังไงก็ช่วยพัฒนาวิธีคิด วิธีมองปัญหา และสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน เพิ่มขึ้นทีละน้อย 

เมื่อเติบโตขึ้น มีตำแหน่งและพบกับสถานการณ์จริง อย่างน้อยภูมิคุ้มกันที่สะสมมา คงจะมีส่วนในการตัดสินใจในทางที่ถูก แม้เล็กน้อยก็ยังดี เพราะดีกว่าไม่มีภูมิคุ้มกันอะไร มาก่อนเลย

แน่นอนครับ อาจมีคนซึ่งเมื่อถึงเวลาตัดสินใจจริง คำพูดที่เคยพูดไว้ในห้องเรียน กลับหายไปทั้งกระบิ ด้วยอำนาจเงิน แต่เราก็ต้องไม่ยอมแพ้และพยายามทำกันต่อไป

ส่วนผู้ใหญ่วันนี้ ที่ลืมอุดมการณ์สมัยเรียน ลืมคำปฏิญาณตนสมัยจบปริญญา และยังทำอะไรที่ผิดโดยขาดความยั้งคิด ก็จับไปเถอะครับ อย่าได้หยุดยั้ง 

แผ่นดินไทย จะได้เบาลงไปบ้าง