“ลูกโทษโหดร้าย” 

“ลูกโทษโหดร้าย” 

เมื่อคืนวันอังคาร คนไทยลุ้นให้ญี่ปุ่นชนะ แต่ในที่สุดต้องตัดสินกันด้วยลูกโทษ

ลูกฟุตบอลอยู่ห่างแค่ 11 เมตร ประตูกว้างถึง 7.32 เมตร มีคนรับเพียงคนเดียว จะเตะลูกไปทางไหนก็ได้ แต่นักเตะญี่ปุ่น 4 คน เตะไม่เข้าถึง 3 คน และพ่ายแพ้ไปด้วยน้ำตา

การเตะลูกโทษ ซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะไม่ยากสำหรับคนเตะ และน่าจะยากสำหรับคนรับ แต่จริงๆแล้ว ไม่เป็นเช่นนั้น  

มีคำแนะนำว่า ทีมใดได้สิทธิที่จะเลือก ว่าจะเตะก่อนหรือหลัง ควรเลือกเป็นฝ่ายเตะก่อน เพราะถ้าเตะลูกแรกเข้า จะกดดันนักเตะคนแรกของอีกฝ่ายหนึ่งทันที 

มีการศึกษาการเตะลูกโทษ 129 แมทช์ เตะลูกโทษรวมกัน 1,343 ลูก พบว่า ทีมที่เตะก่อน มีโอกาสชนะ 60%

คืนนั้น ญี่ปุ่นก็เลือกเตะก่อนนะครับ เพียงแต่กลายเป็น 40% ของสถิติ ที่ไม่ชนะเท่านั้นเอง และ การที่เตะลูกแรกไม่เข้า ก็น่าจะมีผลต่อเนื่อง ไปถึงนักเตะญี่ปุ่นคนที่ตามๆมาด้วย

มีสถิติอีกอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนว่า การเตะลูกโทษในระหว่างแข่งขัน กับเตะลูกโทษเพื่อตัดสินแพ้-ชนะ มีความกดดันแตกต่างกัน

ถ้าเตะลูกโทษในระหว่างการแข่งขัน โอกาสเตะเข้าคือ 85% แต่ถ้าเตะช่วงท้ายแมทช์ เพื่อตัดสินแพ้-ชนะ โอกาสจะลดลงเหลือ 76%

นักเตะคนใด ถ้าหากเตะลูกโทษ “เข้า” แล้วทีมของเขาจะ “ชนะทันที” เขามีโอกาสทำสำเร็จได้ถึง 92% แต่ในกรณีที่เตะ “ไม่เข้า” แล้วจะทำให้ทีมของเขา “แพ้ทันที” โอกาสที่เขาจะเตะเข้า จะลดเหลือเพียง 60% เท่านั้น

นักจิตวิทยาแนะนำว่า เมื่อวางลูกฟุตบอลตรงจุดโทษแล้ว ตอนที่นักเตะถอยออกมา 5-6 ก้าวเพื่อตั้งหลักเตะ จะต้องไม่หันตัวไปทิศทางอื่น เพราะจะเสียสมาธิทันที

คำแนะนำคือต้อง “ถอยหลัง” ออกมาอย่างเดียวเท่านั้น ผมก็เลยกลับไปดูคลิปการแข่งขัน เห็นนักเตะทั้งญี่ปุ่น ทั้งโครเอเชีย ทุกคนถอยหลังออกมาทั้งนั้นแหละครับ เพียงแต่เมื่อเตะไม่เข้า มันก็ไม่เข้าเท่านั้นเอง!

อีกกลยุทธ์ที่แนะนำก็คือ นักเตะจะต้อง ไม่โฟกัสไปที่ผู้รักษาประตู ของอีกฝ่ายหนึ่ง... นานเกินไป เพราะข้อมูลการเตะลูกโทษ 167 ลูก พบว่ามันจะทำให้ตื่นเต้นมากขึ้น และเตะผิดพลาด

นี่เป็นการ “เตรียมตัว ก่อนเตะ” นะครับ คราวนี้ถึงตอน “เตะจริง” แล้ว

วางลูกบอลลง พร้อมทั้งตัดสินใจให้ชัดเจน ว่าจะเตะไปทางไหน และไม่เปลี่ยนใจ ให้เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองว่า ทำได้

ปี๊ด...! กรรมการเป่านกหวีดให้เตะแล้วครับ... แต่อย่าเพิ่งรีบนะ เพราะคนที่เตะลูกโทษ ภายใน 200 มิลลิวินาที (ประมาณครึ่งหนึ่งของช่วงเวลากระพริบตา) จะเตะลูกเข้าได้เพียง 57% เท่านั้นเอง 

ถ้ารอสัก 1 วินาทีแล้วค่อยเตะ โอกาสจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% เลยครับ

จุดที่ผู้รักษาประตูจะรับลูกได้ยาก คือมุมบนสุดทางซ้ายหรือขวาของประตู เพราะยากมากที่จะพุ่งตัวไปรับได้ถึง แต่ลูกยากๆแบบนี้ ก็เตะยากแหละครับ โอกาสพลาดสูง

พูดถึง “คนเตะ” มาพอสมควรแล้ว คราวนี้ “คนรับ” บ้าง มีอะไรแนะนำไหม มีสิครับ เริ่มตั้งแต่ สีเสื้อ ของผู้รักษาประตูกันเลย 

ถ้าผู้รักษาประตูใส่เสื้อ สีแดง เหลือง สีน้ำเงิน หรือ สีเขียว จะมีผลต่างกันไหม ต่างกันครับ เพราะโอกาสที่อีกฝ่ายหนึ่งจะเตะเข้า คือ 54% 69% 72% และ75% ตามลำดับ

แบบนี้ คุณก็ต้องให้ผู้รักษาประตู ใส่เสื้อสีแดง เพียงอย่างเดียว เพราะอีกฝ่ายมีโอกาสเตะเข้าประตูน้อยที่สุด แต่เอ…นี่มันเกี่ยวกันขนาดนั้นเชียวหรือ ผมก็ไม่ค่อยจะเชื่อหรอกนะ หรือว่าเสื้อสีแดง มันทำให้คนเตะแสบตา 555

แน่นอนว่า ผู้รักษาประตู จะต้องอ่านใจคนเตะ ว่าจะเตะไปทางไหน และเขาควรยืนตรงกลาง หรือพุ่งตัวไปทางซ้าย หรือทางขวาดีล่ะ ตามทฤษฎีแล้ว อยู่ตรงกลางนั่นแหละครับ ดีที่สุด

เพราะการเตะลูกโทษ 999 ครั้ง จากการแข่งขัน Bundesliga พบว่า 15% ของการเตะลูกโทษ เตะไปตรงกลางครับ แต่ผู้รักษาประตู ที่รอรับอยู่ตรงกลาง มีเพียง 2% เท่านั้นเอง อีก 98% พุ่งตัวไปซ้ายหรือขวา ถูกบ้าง ผิดบ้าง

แม้นักวิจัยจะบอกว่า กลยุทธ์ที่ดีที่สุด คือ ผู้รักษาประตูยืนตรงกลาง แต่ในทางปฏิบัติ น้อยคนจะทำเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องของ “Action Bias” 

การยืนตรงกลาง โดยไม่พุ่งตัวออกไปรับ ถ้าหากลูกเข้าทางซ้ายหรือขวา จะถูกตำหนิว่า “ทำไมเอ็งไม่ทำอะไรเลย (วะ)” 

ผู้รักษาประตูส่วนใหญ่ จึงพุ่งตัวออกไป อย่างน้อยคนดูก็ได้เห็นว่าพยายามแล้ว แม้ไปผิดทางก็ไม่มีใครตำหนิ 

แต่ถ้ายืนตรงกลาง กลายเป็นถูกตำหนิ ว่ายืนเฉยๆทำไม ซึ่งนักวิจัยก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้วครับ! 

ผมไม่ใช่ผู้รู้เรื่องฟุตบอล แต่ที่ “คัดมาคุย” ก็เพราะเห็นว่า เป็นเกร็ดที่คุณจะเอาไว้ใช้ ในการดูฟุตบอลโลก 2022 ช่วงที่เหลืออยู่ครับ เพราะมีการเตะลูกโทษแน่ๆ  

ดูลูกโทษให้สนุกนะครับ แต่ในชีวิตจริง อย่าไปเตะลูกโทษใส่ใครเลย ชีวิตนี้วุ่นวายพอแล้ว อยู่อย่างสงบดีกว่า

แต่ถ้าใครยังไม่อยากสงบ ก็ควรอพยพไปสภาฯ... น่าจะสมใจนึก 

ที่นั่น มีเตะลูกโทษเยอะเลยครับ