กลัวโรคสมองเสื่อม (ตอน 2)

กลัวโรคสมองเสื่อม (ตอน 2)

ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมเมื่อสูงอายุ (อายุ 60 ปีหรือมากกว่า) ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวก็เป็นความเสี่ยงสำหรับสุขภาพโดยรวม ซึ่งผมขอสรุปว่า มีข้อคิด 3 ข้อคือ

1.What is good for the heart is good for the brain ดูแลไม่ให้เป็นโรคหัวใจ (และเส้นเลือดในสมองตีบตัน) ย่อมทำให้สุขภาพของสมองแข็งแรงไปด้วย

2.แปลว่าจะต้องดูแลเรื่องของความดันโลหิต การหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และการมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ซึ่งจะเป็นการช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์อีกด้วย)

3.การดูแลสุขภาพสมองนั้น จะต้องเริ่มทำเสียแต่เนิ่น ๆ คือดูแลตั้งแต่อายุกลางคน (เพราะคนส่วนใหญ่รวมทั้งตัวผมเอง เพิ่งจะมากลัวเป็นโรคสมองเสื่อมต่ออายุ 60 ปี แทนที่จะเริ่มคิดตั้งแต่ตอนอายุ 35-40 ปี)

การปรับการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง จะสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมได้มากน้อยเพียงใด? งานวิจัยต่างๆนั้น มีผลสรุปดังนี้

1.การออกกำลังกายเป็นประจำ (150 นาทีหรือมากกว่า) ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมได้ 15-20%

2.การกินอาหารที่เป็นประโยชน์ ช่วยลดความเสี่ยงได้ 15-25%

3.การเลิกสูบบุหรี่ ลดความเสี่ยงได้ 10-15%

4.การไม่ดื่มสุราหรือดื่มโดยจำกัดตามเกณฑ์ ลดความเสี่ยงได้ 10-15%

5.การใช้สมองและการทำกิจกรรมทางสังคม ลดความเสี่ยงได้ 10-15%

6.การนอนหลับให้เพียงพอ ลดความเสี่ยงได้ 10-15%

ที่สำคัญคือมีงานวิจัยขนาดใหญ่ (เช่น ที่ประเทศฟินแลนด์ อังกฤษและเนเธอร์แลนด์) ที่พบว่าการดำรงชีวิตที่ดีต่อสุขภาพโดยรวม ดังที่กล่าวข้างต้น ตั้งแต่อายุ 40 ปีเป็นต้นไปนั้น โดยรวมจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมตอนสูงอายุ ได้มากถึงประมาณ 60-65%

อีกปัจจัยหนึ่งที่เราควบคุมไม่ได้คือ ปัจจัยว่าด้วยการพันธุกรรม เพราะค้นพบว่า คนที่มียีน APOE ประเภท e4 นั้น จะมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยความรุนแรงสำหรับผู้หญิงจะมีมากกว่าผู้ชาย ดังปรากฏในตาราง

กลัวโรคสมองเสื่อม (ตอน 2)

ผมให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ในการทำให้สุขภาพแข็งแรงตลอดชีวิต และในกรณีนี้ก็เห็นได้ชัดว่าการออกกำลังกายนั้น เป็นประโยชน์อย่างมากในการหลีกเลี่ยงการเป็นโรคสมองเสื่อมตอนสูงอายุด้วย 

งานวิจัยมากมายจะพบว่า การออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์ที่สุดในการดูแลสุขภาพของสมองคือ การออกกำลังกายให้หัวใจเต้นเร็ว (aerobics exercise) ซึ่งพบว่า การออกกำลังกายประเภทนี้เป็นประจำตั้งแต่วัยกลางคน (อายุ 40 ปี) นั้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 30-50%

ในอีกด้านหนึ่งก็มีการตั้งคำถามว่า หากไม่ได้ออกกำลังกาย (exercise) แต่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำงานบ้าน การเดินไปเดินมา การยืนทำงานนั้น จะเป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใด คำตอบคือ “ดี” ไม่เท่ากับการออกกำลังกายเป็นประจำแน่นอน ในการดูแลสุขภาพของสมอง

แต่ในอีกด้านหนึ่งได้มีการทำงานวิจัยไม่น้อย ที่เปรียบเทียบระหว่างการนั่งนิ่งอยู่เฉยๆ (sedentary) กับการทำกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น คือไม่อยู่นิ่งเฉย แต่ก็ไม่ได้ไปออกกำลังกาย (exercise)ว่า จะส่งผลอย่างไรกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมตอนสูงอายุ 

คำตอบคือ การ “นั่งกินนอนกิน” (ที่ผมเคยนึกว่าจะเป็นกิจกรรมหลักเมื่อเกษียณอายุจากการทำงานไปแล้ว) นั้นเป็นภัยอันตรายกับสุขภาพของสมองอย่างมาก เช่น งานวิจัย White Hall 2 Study ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2528 และติดตามวิเคราะห์สุขภาพของข้าราชการอังกฤษ เป็นเวลานานถึง 35 ปี

ซึ่งส่วนหนึ่งพบว่า การนั่งเฉยๆ นานกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคสมองเสื่อมถึง 63% (ทุกๆ 1 ชั่วโมงที่นั่งเฉยๆ เกินกว่า 10 ชั่วโมง จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมประมาณ 7% ซึ่งแตกต่างจากการออกไปวิ่ง 1 ชั่วโมง ซึ่งมีงานวิจัยสรุปว่า จะทำให้อายุยืนขึ้น 7 ชั่วโมง)

ทั้งนี้ มีงานวิจัยเมื่อต้นปี 2567 ที่ใช้ข้อมูลของประเทศอังกฤษ (UK Biobank ติดตามผู้สูงอายุ 49,841 คน เฉลี่ยอายุ 67 ปี ติดตามเป็นเวลา 6.7 ปี) พบว่าการนั่งๆ นอนๆ (sedentary behavior) เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมดังปรากฏในตาราง

กลัวโรคสมองเสื่อม (ตอน 2)

กล่าวคือคนที่นั่งเฉยๆ วันละ 9.27 ชั่วโมงต่อวัน (เป็นค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป) จะพบว่า ความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมใน 10 ปีข้างหน้า (เริ่มต้นจากอายุประมาณ 67 ปี) ประมาณ 7.5% แต่หากนั่งเฉยๆ นานขึ้นเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน (ชอบดูซีรีย์บ่อยๆ)

ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นเป็น 12% และหากนั่งเฉยๆ นานถึง 15 ชั่วโมงต่อวัน (คือเดินไปเดินมาเพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวัน) ก็จะเพิ่มความเสี่ยงกว่า 3 เท่าตัวเป็น 22.7% ครับ