เมตตาให้สัตว์ยกระดับจิตใจ

ในหลายร้อยหลายพันสมาคมในเรื่องต่างๆ ของบ้านเรานั้น มีอยู่สมาคมหนึ่งที่ผมได้สัมผัสและเห็นว่าได้ทำคุณประโยชน์แก่โลกและสังคมของเราอย่างน่าเล่าสู่กันฟัง
และไปพันกับบริษัทเอกชนใหญ่แห่งหนึ่งของคนไทยที่มีอายุ 102 ปี ซึ่งมีองค์กรธุรกิจน้อยแห่งมากในประเทศเราที่มีอายุยืนยาวต่อเนื่องได้ขนาดนั้น อีกทั้งบริษัทนี้สร้างผลกระทบอย่างมากแก่สังคมไทยด้วย
สัตว์อยู่คู่กับมนุษย์ในโลกนี้มานับล้านๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 150,000-200,000 ปีหลังที่มนุษย์มีหน้าตาและการเคลื่อนไหวเหมือนกับมนุษย์ปัจจุบัน และนำสัตว์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตทั้งในการช่วยประกอบอาชีพและเป็นสัตว์เลี้ยง
สัตว์มีบุญคุณต่อมนุษย์แต่มันพูดไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าเจ็บป่วย หรือรู้สึกอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของต้องดูแลให้สัตว์มีความสุขกาย และสบายใจ
ซึ่งตรงกับคำจำกัดของสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ซึ่งปัจจุบันเป็นแนวคิดสากลและกระแสโลกสำคัญ คงมีน้อยคนที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ที่ช่วยยกระดับจิตใจของความเป็นมนุษย์
เมื่อ 31 ปีก่อน หรือ พ.ศ. 2537 มีคนไทยกลุ่มหนึ่งทั้งในภาครัฐ เอกชนและองค์กรต่างๆ ที่มีความคิดแนวเมตตาธรรมนี้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมที่มีชื่อว่าสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA:Thai Society For The Prevention of Cruelty of Animals)
คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก มีเจตนารมณ์ตั้งแต่วันแรกต้องการให้มีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ขึ้น
โดยตระหนักดีกว่าการเคลื่อนไหวและการออกกฎหมายเช่นนี้จะนำไปสู่ผลดีหลายประการแก่สัตว์ คนไทยและชื่อเสียงของประเทศชาติ
สมาคมฯ จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนและกว่า 90 องค์กร ตลอดจนประชาชนผู้รักสัตว์ผลักดันกฎหมายฉบับนี้อย่างหนักเป็นเวลายาวนานถึง 20 ปี จนสำเร็จเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2557
ผู้อ่านคงสนใจว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลให้คนที่ทารุณสัตว์ติดคุกและถูกปรับหรือไม่
โทษตามกฎหมายเมื่อมีกรณีทรมานสัตว์ อัตราโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในตอนแรกศาลพิจารณาลงโทษสถานเบาเพียงรอลงอาญา เช่น คดีฟันปากสุนัขเย็บกว่า 100 เข็ม (คดีแรกในเดือนมกราคม 2568) โทษปรับ 2,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาเช่นเดียวกับคดีอื่นๆ เช่นคดีวางยาฆ่าสุนัข คดีซื้อสุนัขมาฆ่าด้วยวิธีการทารุณ คดีทุบหัวลูกแมว ฯลฯ
แต่ในกลางปี 2558 ในคดีโพสต์คลิปกินสุนัขโดยจับใส่กระสอบ ทุบหัวและเชือด ศาลสั่งจำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 ถือว่าเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจำคุก และต่อจากนั้นมาก็มีคดีที่ลงโทษจำคุกเมื่อมีการทารุณสัตว์อยู่เนืองๆ
ดังคำตัดสินฆ่าสุนัข “เตี้ย มช.” ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศาลสั่งปรับ 100,000 บาท และจำคุกจำเลย 6 เดือน เมื่อต้นปี 2568
การผลักดันกฎหมายฉบับนี้ที่ปัจจุบันมีอายุ 11 ปี เป็นผลงานสำคัญของสมาคมฯ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสังคมในเรื่องการตื่นรู้ของสังคมไทยให้มีเมตตาธรรมต่อสัตว์ยิ่งขึ้น
ดังเห็นได้จากการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ สถิติการร้องเรียนที่มีมากขึ้น (ปรากฏการณ์ “หมูเด้ง” เป็นผลพวงจากการที่เราเป็นสังคมรักสัตว์มากขึ้น?)
การมีจิตสำนึกสาธารณะและการรักเมตตาสัตว์อย่างรับผิดชอบ (“ปล่อยนก สร้างบาป” ถ้าไม่มีดีมานด์จากการปล่อยนก ก็ไม่มีการจับนกมาเป็นซัพพลาย จนนกจำนวนมากถึงกว่าร้อยละ 60-70 ตาย ตอนถูกจับและใส่กรง)
การปล่อยสุนัขในวัด การเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบการเข้าใจว่าสุขภาพสัตว์และคนเป็นเรื่องเดียวกันตามไอเดีย One Health การจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้งบประมาณในการช่วยเหลือสัตว์
การพัฒนาสถานสงเคราะห์สัตว์ประจำท้องถิ่นการเป็นตัวกลางการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสัตว์ (ลิงที่ลพบุรี / สัตว์ขาดการเลี้ยงดู ขาดอาหาร) นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายลำดับรองอีกมากกว่า 10 ฉบับ เช่น สัตว์อาศัยอยู่ในธรรมชาติ สถานสงเคราะห์สัตว์ การทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ ฯลฯ
ที่สำคัญก็คือการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับความเมตตากรุณาต่อสัตว์ไว้ในหลักสูตรลูกเสือหลายระดับ
งานของสมาคมฯ ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีผู้นำผลักดันอุดมการณ์และสร้างกำลังใจตลอดจนสนับสนุนกำลังเงินอย่างสำคัญตลอดเวลา 31 ปีของสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง
คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นักธุรกิจใหญ่ใจบุญคือบุคคลผู้นี้ที่อยู่เบื้องหลังอย่างเงียบ ๆ เป็นนายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน เป็น ผู้ผลักดันการก่อตั้งสมาคมฯ ผู้นำการต่อสู้ออกพระราชบัญญัติฉบับนี้
ที่ผมกล่าวว่าสมาคมฯ มาพันกับบริษัทเอกชนอายุ 102 ปี ก็ตรงที่คุณธีระพงศ์เป็น CEO ของบริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด เป็นผู้บริหารชั่วคนที่ 3 ผู้ริเริ่มคือคุณโกศล ปังศรีวงศ์ ผู้ก่อตั้งห้างขายยาแผนปัจจุบันในยุคบุกเบิกของไทย ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติเปิดโรงงานผลิตเวชภัณฑ์แห่งแรกๆ ในภูมิภาคเอเชีย
ต่อมารุ่นที่สองคือบุตรของท่านคือ ภก. ดร.เกษม ปังศรีวงศ์ เป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีวิชาเภสัชศาสตร์ 2 ปริญญาจาก University of The Philippines (มหาวิทยาลัยชั้นยอดของเอเชียในยุคนั้น) กับปริญญาโทด้านเภสัชศาสตร์จาก Philadelphia College of Pharmacy and Science
ท่านเป็นผู้นำความทันสมัย ทุนจากต่างประเทศและวิชาการสู่การผลิตและจำหน่ายยาเเพทย์แผนปัจจุบันอีกทั้งผลักดันเภสัชศาสตร์ของไทยสู่ระดับปริญญา
รุ่นที่ 3 คือคุณธีระพงศ์ ผู้จบปริญญาตรีและโทวิศวกรรมเคมีจากอังกฤษ ผู้สานต่อเส้นทางเดิม จนเป็นบริษัทใหญ่ มีอายุ 102 ปี ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นยังขยายธุรกิจไปสู่ภาคบริการ(โรงแรม ที่พัก) ซึ่งรุ่นที่ 4 กำลังรับมืออย่างเข้มแข็งในเครือเคปและแคนทารี โฮเทลส์ ซึ่งมีโรงแรมและที่พักกระจายอยู่หลายจังหวัด ที่โดดเด่นมากก็คือในภูเก็ต (Cape Panwa Hotel)
เมื่อครบปีที่ 100 ของ บี.เอ็ล.ฮั้วจำกัด บริจาคเงิน 20 ล้านบาทให้โรงพยาบาล 100 แห่งเป็นพิเศษ นอกเหนือจากบริจาคประจำให้สาธารณกุศลรายปีเเละทุนการศึกษาจำนวนมากรายปีแก่นักศึกษา ในคณะเภสัชศาสตร์ ผ่านมูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์
“เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” โดยเฉพาะความเมตตาเเก่สัตว์นั้นมีผลย้อนกลับมาสู่คนด้วยในยุควิกฤติภาวะอากาศปัจจุบันที่มีหลายเชื้อโรคจากสัตว์กำลังอยู่ในคิวโดดมาทำร้ายมนุษย์