เเอลกอฮอล์เสี่ยงมะเร็ง

ข้อเขียน “ความสุขแลกความเสี่ยง” ของผมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นพอควรจากท่านผู้อ่าน เมื่อเขียนถึงเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์กับความเสี่ยงจากโรคมะเร็งขอเขียนถึงอีกสักครั้งในแง่มุมที่มิได้เอ่ยถึง
เมื่อต้นปีนี้ Dr.Vivek Murthy ซึ่งเป็น U.S.Surgeon General หรือบุรุษหมายเลขหนึ่งของภาครัฐสหรัฐในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสาธารณสุขของประเทศและเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลด้วย ออกมาเตือนอย่างเป็นทางการว่า ปัจจุบันมีหลักฐานหนักแน่นและน่าเชื่อถือมากขึ้นทุกทีว่า มีการเชื่อมโยงระหว่างการดื่มกับความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งสร้างความแปลกใจให้ทั้งผู้ที่ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนเลยกับผู้ที่ติดตามเรื่องสุขภาพและได้รับทราบข่าวสารมาเป็นระยะว่า มีหลักฐานจากงานศึกษาวิจัยอยู่เนือง ๆ ว่าการเชื่อมโยงมีอยู่จริง การแถลงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเป็นครั้งแรกนี้จึงเป็นการยืนยันข้อสงสัยที่มีมา
หากจะว่าไปแล้วเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งได้นั้นมิใช่เรื่องใหม่ เพราะองค์การอนามัยโลกได้แบ่งประเภทให้แอลกอฮอล์อยู่ใน Group 1 carcinogen (สารก่อมะเร็ง) ตั้งแต่ปี 2531 แล้ว จึงยืนยันได้ว่าแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์โดยอยู่ในกลุ่มเกี่ยวกับยาสูบ และ asbestos (ใยหิน)
อย่างไรก็ดี ข้อมูลนี้ไม่เป็นที่ทราบกันดีในสาธารณชนแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่ถือได้ว่ามีประชากรและองค์กรที่ตื่นตัวมากในเรื่องสุขภาพ จากการสำรวจประชากรในการรู้ว่าสารใดมีความเสี่ยงในการก่อมะเร็ง พบว่าประมาณ 85% รู้ว่ากัมมันตรังสี / 80% ยาสูบ / 78% ใยหิน / 55% ความอ้วนเกินปกติ / 48% แอลกอฮอล์ นอกไปจากนี้ 10% ของคนอเมริกันในปัจจุบันเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลดีต่อสุขภาพด้วยซ้ำ
มีงานศึกษาบางชิ้นข้ามเวลาหลายปีที่พบว่า คนดื่มแอลกอฮอล์แต่พอควรมีอายุยืนกว่าคนไม่ดื่ม ซึ่งต่อมาได้มีการพิสูจน์ว่ามีข้อผิดพลาด เพราะคนที่ระบุไม่ดื่มนั้นแท้จริงแล้วจำนวนมากมาจากคนที่เคยดื่มมานานแล้ว เลิกหรือคนที่ป่วยจนต้องเลิก ดังนั้น ผลที่ออกมาจึงมีคนเสียชีวิตจากการไม่ดื่มมากกว่า นอกจากนี้ การที่คนดื่มไวน์มีอายุยืนกว่าคนไม่ดื่มก็เพราะคนดื่มไวน์มักมีฐานะดี ซึ่งคนเหล่านี้ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีอยู่แล้วและบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ งานศึกษาจึงให้ข้อสรุปที่ผิดพลาด
นอกจากนี้ อิทธิพลจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลกนั้นแรงมาก อีกทั้งมีผลประโยชน์มหาศาลเกี่ยวพันจึงสนับสนุนงานวิจัยที่ให้ผลในทางที่สรุปว่าการดื่มเป็นคุณซึ่งเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ และคาดได้ว่าการประชาสัมพันธ์โทษของแอลกอฮอล์จึงไม่ใช่เรื่องที่จะได้ยินกันบ่อยๆ ในการแถลงของ Dr.Vivek Murthy ครั้งนี้ได้เสนอให้มีการติดป้ายเตือนภัยจากแอลกอฮอล์บนภาชนะในเรื่องโรคมะเร็งเช่นเดียวกับที่ทำกันบนซองบุหรี่ในหลายประเทศ ในปัจจุบันเกาหลีใต้และไอร์แลนด์มีกฎหมายให้มีป้ายระบุดังกล่าวแล้ว
ในการแถลงครั้งนี้ Dr.Vivek Murthy ระบุว่าในปีใหม่นี้สหรัฐควรมีข้อแนะนำในเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์และความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งที่เข้มข้นขึ้น เพราะคำแนะนำในปัจจุบันยังก่อให้เกิดคนเป็นโรคมะเร็งอยู่ไม่น้อย
คำแนะนำของทางการสหรัฐในปัจจุบันก็คือ ควรดื่มแอลกอฮอล์สำหรับผู้ชายในรูปของ (1) เบียร์ ไม่เกินกว่าวันละ 2 กระป๋องขนาดปกติ หรือ 2 ขวดเบียร์เล็ก(กระป๋องและขวดเล็กมีปริมาณเท่ากัน) (2) ไวน์ ไม่เกินกว่าเกือบหนึ่งเบียร์ขวดเล็กต่อวัน (3) วิสกี้ ไม่เกินกว่า 6 ช้อนโต๊ะต่อวัน สำหรับผู้หญิงนั้นคือครึ่งหนึ่งของชาย
แคนาดามีข้อแนะนำใหม่ในปี 2566 ที่ต่างออกไปพอควร กล่าวคือสำหรับเบียร์ไม่เกินกว่า 2 กระป๋องขนาดปกติต่อสัปดาห์ หรือ 2 เบียร์ขวดเล็กต่อสัปดาห์ สำหรับผู้หญิงนั้นคือครึ่งหนึ่งของชาย เห็นได้ชัดว่าแคนาดานั้นให้คำแนะนำที่เข้มงวดกว่าสหรัฐ โดยชี้แจงว่าข้อแนะนำนี้ให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งในระดับต่ำ และข้อแนะนำนี้ให้ความเสี่ยงจากการตายก่อนวัยอันควรจากการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับ 1 ใน 1,000 (เท่ากับโอกาสในการถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัว) แต่ถ้าดื่มขึ้นไปถึง 6 กระป๋องต่อสัปดาห์ ความเสี่ยงนี้ก็จะขึ้นไปถึง 1 ใน 100 (เท่ากับโอกาสในการถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว)
บางคนที่อ่านเรื่องนี้แล้วอาจหัวเราะที่พูดถึงเรื่องความเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์แล้วก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะทำอะไรก็มีความเสี่ยงทั้งนั้นแม้แต่ดื่มน้ำเปล่า ดื่มน้ำอัดลม กินข้าว ออกกำลังกาย กินยาแก้ปวดหัว ฉีดวัคซีน ฯลฯ ที่เราพูดกันในเรื่องนี้ก็คือความจริงเกี่ยวกับการก่อให้เกิดโรคมะเร็งจากการดื่มแอลกอฮอล์ว่าดื่มมากน้อยเพียงใดที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ำที่พอรับได้ เมื่อ "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ดังนั้น ทุกอย่างจึงมี “ราคา” ที่ต้องเอาไปแลกทั้งนั้น เช่น ยาตัวหนึ่งมีผลข้างเคียง แต่เป็นยาที่มีประโยชน์ ดังนั้น ควรกินยาปริมาณใด จึงจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่พอรับได้และได้รับประโยชน์ไปในเวลาเดียวกัน โดยมีโทษน้อยกว่าคุณ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี “ประโยชน์” สำหรับหลายคนเพราะช่วยการสังคม การผ่อนคลายความสนุกสนาน ความเป็นเพื่อน แต่ก็มี “ราคา” ที่ต้องจ่ายคือความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็ง (รวมทั้งโรคอื่นๆ ด้วย) การทราบถึง “ความสุข” ที่ได้จากการดื่มแลกกับระดับของ “ราคา” ที่ต้องจ่ายจึงเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจว่าจะดื่มมากน้อยเพียงใด
“ความเสี่ยง” ในที่นี้หมายถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดโรคมะเร็งเท่านั้น ยังมิได้รวมถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคอื่นๆ ที่เกิดจากแอลกอฮอล์ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน ฯลฯ ข้อมูลนี้ต้องนำไปรวมด้วยในการเป็น “ราคา” ของ “ความสุข” จากการดื่มแอลกอฮอล์
ปัจจุบันมนุษย์สามารถป้องกันโรคมะเร็งจากการดำรงชีวิตประจำวันได้ จากการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอ้วนเกินขนาด และตัวสุดท้ายคือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ มะเร็งชนิดที่มีหลักฐานชัดเจนครอบคลุมมะเร็งปาก ลำคอ กล่องเสียง หลอดอาหาร เต้านม ปอด ลำไส้ใหญ่เเละลำไส้ตรงส่วนมะเร็งชนิดอื่นๆ นั้นถึงสงสัยเเต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน