'Take Profit' หรือ 'Let Profit Run' หลังเลือกตั้ง แบบไหนดีกว่ากัน 

การเลือกตั้งมักเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่จะกำหนดอนาคตเศรษฐกิจไทย นักลงทุนจึงมักตั้งคำถามว่าควร ซื้อ ถือ หรือขายหุ้น หลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง 

ตอบแบบนักสถิติ ย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งทั้งหมด 8 ครั้งในอดีต ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย 1เดือนหลังวันลงคะแนนเสียงมักให้ผลตอบแทนเป็นบวก อย่างไรก็ดีทุกความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นหลังเลือกตั้ง เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุผลที่แตกต่าง

สำหรับการเลือกตั้งรอบล่าสุดนี้ มีเหตุผลหลายข้อที่ผมเชื่อว่าจะทำให้ผลตอบแทนไม่สดใสเหมือนกับสถิติที่ผ่านมา 

เหตุผลแรก คือทิศทางเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ 

เพราะความแตกต่างแรกของการเลือกตั้งปี 2023 คือระดับเงินเฟ้อที่สูงผิดปกติ ช่วง 12เดือนผ่านมา เงินเฟ้อไทยโดยเฉลี่ยสูงถึง 6%เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แตกต่างจากช่วงเลือกตั้ง 5 ครั้งหลังสุดที่เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ต่ำเพียง 2-3%

ด้วยระดับเงินเฟ้อนี้ นโยบายเศรษฐกิจของแทบทุกพรรคการเมืองจึงพุ่งเป้าไปที่การ“การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย” และอาจเป็นนโยบายแรกๆที่รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญมากที่สุด สำหรับประชาชน นโยบายเหล่านี้มักเป็นเรื่องดี แต่สำหรับบริษัทจดทะเบียน สิ่งเหล่านี้คือความเสี่ยงทั้งด้านต้นทุนและความสามารถในการทำกำไรในอนาคต

เหตุผลที่สองคือเสถียรภาพทางคลังที่ไม่แข็งแกร่ง  

แม้จะเป็นรัฐบาลใหม่ แต่พื้นฐานการคลังยังคงเดิม หนี้สาธารณะต่อ GDP ยังสูงถึง 61% เป็นผลมาจากการใช้นโยบายขาดดุลการคลังมาโดยต่อเนื่อง สำหรับร่างงบประมาณปี 2024 แม้รัฐบาลก่อนหน้าได้มีมติเห็นชอบงบฯขาดดุล 5.93 แสนล้านบาทไว้แล้ว แต่ด้วยนโยบายที่แต่ละพรรคนำเสนอในการหาเสียง อาจทำให้รัฐบาลต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม 

แรงกดดันแรกจะเกิดขึ้นจากการกู้ยืมภาครัฐที่สูง อาจดันให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นทั้งระบบ ขณะที่แรงกดดันที่สองที่คาดว่าจะตามมาคือนโยบายภาษีที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่เป็นมิตรกับตลาดหรือภาคเอกชน 

เหตุผลสุดท้าย คือลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนไทยในปัจจุบัน ที่กลุ่มใหญ่อาจไม่ได้มีประโยชน์จากการผลเลือกตั้งเหมือนในอดีต

ย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีที่ก่อน อิงจากมูลค่าตลาดรวม หรือ Market Capitalizationอุตสาหกรรมใหญ่ในตลาดหุ้นไทยคือ การเงินคิดเป็น 17.8% พลังงาน 16.7% สื่อสาร 11.6% วัสดุก่อสร้าง 11.5% และอสังหาริมทรัพย์ 5.4% ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศค่อนข้างสูง หลังเลือกตั้งมักเป็นช่วงที่คนในประเทศมีความมั่นใจ การใช้จ่ายจึงเติบโตได้

แต่ในปัจจุบันปี 2023 อุตสาหกรรม 5อันดับแรกกของบริษัทจดทะเบียนไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นพลังงาน 20.3% ค้าปลีก 10.7% ธนาคาร 9.7% ท่องเที่ยว 8.4% และสื่อสาร 8.2% 

สิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างแรก คืออุตสาหกรรมใหญ่กลุ่มใหม่ได้แก่ค้าปลีกและท่องเที่ยว กิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่เน้นกำลังซื้อจากต่างประเทศ ไม่ได้แปรผันไปตามผลการเลือกตั้งมากนัก สวนทางกับต้นทุนของอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะสูงขึ้นทั้งจากจำนวนแรงงานหรือค่าจ้าง 

ประเด็นที่สองคือน้ำหนักของกลุ่มพลังงานที่สูงขึ้นจากกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทางเลือก  ธุรกิจนี้เกิดขึ้นได้เพราะภาครัฐมีการสนับสนุนรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูงกว่าปรกติหรือที่เรียกว่า Adder แต่หลังเลือกตั้งอายุของ Adder ในหลายโครงการกำลังทยอยหมดลง ขณะที่ภาคการเมืองกำลังถูกภาคประชาชนกดดันเรื่องค่าครองชีพที่สูง 

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำกำไรของธุรกิจโรงไฟฟ้า เลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับตลาดหุ้นไทย ในภาษาการลงทุน มักจะมีคำกล่าวว่า “ตลาดหุ้นไม่ชอบความไม่แน่นอน”

หลังจากที่เรารู้ผลเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลใหม่ เราคงได้ความแน่นอนทางการเมืองคืนกลับมา แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจจะตามมาในไม่ช้า 

กลยุทธ์การลงทุนหลังผลการเลือกตั้ง มองไปที่ CPALL - กลุ่มค้าปลีก ได้ประโยชน์แน่นอนจากนโยบายการเพิ่มรายได้  BCP - กลุ่มผู้ค้าปลีกน้ำมัน ได้ประโยชน์จากมาตรการลดรายจ่าย  และ TIDLOR - กลุ่มจำนำทะเบียน ไฟแนนซ์ ที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฐานราก 

อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางคลังที่ไม่แข็งแกร่ง และโครงสร้างของตลาดหุ้นไทย กลยุทธ์การลงทุนในมุมมองของผมช่วงหนึ่งเดือนต่อจากนี้จึงเป็น “Take Profit” มากกว่าที่จะ "Let Profit Run” หลังเลือกตั้ง

\'Take Profit\' หรือ \'Let Profit Run\' หลังเลือกตั้ง แบบไหนดีกว่ากัน