บัญชีการออมส่วนบุคคล ก้าวใหม่สู่การสร้างวัฒนธรรมการออมในไทย

บัญชีการออมส่วนบุคคล  ก้าวใหม่สู่การสร้างวัฒนธรรมการออมในไทย

วัฒนธรรมการออมระยะยาวของคนไทยยังมีอยู่อย่างจำกัด และการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมก็ยังคงเป็นปัญหาสำหรับกลุ่มประชาชนจำนวนมาก 

ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ จากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) และมีการคาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged Society)

ในต่างประเทศมีบทเรียนความสำเร็จของการส่งเสริมการออมระยะยาว โดยออกผลิตภัณฑ์การเงินและการลงทุน ได้แก่ โครงการ Individual Savings Accounts: ISAs ของสหราชอาณาจักร, โครงการ Nippon Individual Savings Accounts (NISA) ของญี่ปุ่น และโครงการ Tax-Free Savings Accounts (TFSA) ของแคนาดา (ดูตารางประกอบ)

โดยมีมาตรการส่งเสริมการออมและการลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งพบว่ามีส่วนสำคัญในการจูงใจให้ประชาชนปรับพฤติกรรมจากการออมในรูปแบบเงินฝากระยะสั้นไปสู่การลงทุนระยะยาวในตลาดเงินและตลาดทุนได้ประสพผลสำเร็จเป็นอย่างดี 

บัญชีการออมส่วนบุคคล  ก้าวใหม่สู่การสร้างวัฒนธรรมการออมในไทย

จากบริบทดังกล่าว คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดยกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางในการจัดทำ “บัญชีการออมส่วนบุคคลของประเทศไทย (Thailand Individual Savings Accounts: TISAs)”

ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างแรงจูงใจทางภาษี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินและมีการวางแผนทางการเงินอย่างเหมาะสม โดยนำเสนอรูปแบบบัญชีที่หลากหลาย

เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประชาชน ช่วยลดภาระทางการคลังระยะยาวของรัฐบาล และเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนไทยในอนาคต โดยแบ่งเป็น 4 ประเภทบัญชีหลัก ได้แก่

TISA-Saving (บัญชีการออมปลอดภาษี) เน้นการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินที่ปลอดภัยสูง เช่น เงินฝากประจำในธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยมีวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด 100,000 บาทต่อปี และให้การยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากเต็มจำนวน

TISA-Investment (บัญชีการออมเพื่อการลงทุน) มุ่งส่งเสริมการลงทุนในตลาดทุนและตลาดเงินที่หลากหลาย เช่น หุ้นรายตัว ตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน กองทุนรวม และกองทุน ETF โดยเสนอวงเงินลดหย่อนภาษีรวมสูงสุด 300,000 บาทต่อปี และยกเว้นภาษีจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน 

TISA-Retirement (บัญชีการออมเพื่อการเกษียณ) บัญชีนี้จะมีสิทธิพิเศษจากรัฐบาลเพิ่มเติมในรูปแบบของเงินสมทบเพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้ประชาชนในวัยเกษียณและลดภาระทางการคลังด้านสวัสดิการ โดยมีวงเงินลดหย่อนรวมกับบัญชี TISA-Investment สูงสุดที่ 300,000 บาทต่อปี

TISA-Junior (บัญชีการออมเพื่ออนาคตบุตรหลาน) เน้นการเตรียมความพร้อมด้านการเงินสำหรับบุตรหลานในอนาคต โดยให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด 100,000 บาทต่อปี 

การจัดทำโครงการบัญชีการออมส่วนบุคคลของประเทศไทย (TISAs) ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการออมและการลงทุนอย่างเป็นระบบให้แก่ประชาชน

การริเริ่ม TISAs ได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ของสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และแคนาดา ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการออกแบบระบบบัญชีออมและการลงทุนพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหมาะสม สามารถจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงินได้เป็นอย่างดี

  ด้วยแนวทางข้างต้น เชื่อว่าโครงการ TISAs จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินของประชาชน สร้างวัฒนธรรมการออมและการลงทุนที่เข้มแข็ง และช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต.