กลยุทธ์สู่ความสำเร็จระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ในประเทศไทย

ผู้บริโภคในประเทศไทย Virtual Bank จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการแก่ประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการเงินในพื้นที่ชนบทโดยไม่ต้องพึ่งพาสาขาธนาคาร ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีและเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านอุปกรณ์มือถือได้สะดวกขึ้น
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาภาคการธนาคารดิจิทัลของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยได้รับแรงผลักดันจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกฎระเบียบที่ส่งเสริมสังคมไร้เงินสดและให้ความสำคัญกับช่องทางดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ถัดไปคือการเกิดขึ้นของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งเป็นรูปแบบธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบที่ให้บริการทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และมือถือโดยไม่ต้องพึ่งพาสาขา
Virtual Bank ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มการเข้าถึง ความสะดวกสบาย และความคุ้มค่า โดยไม่มีเครือข่ายสาขาแบบดั้งเดิมทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก สามารถเสนอค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง อัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ และมีศักยภาพในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ปรับให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย โดยอาศัยเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูล
ในขณะที่ประเทศไทยเตรียมออกใบอนุญาต Virtual Bank ความสนใจส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การเป็นผู้เล่นรายแรกในตลาด อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในระยะยาวไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วเพียงอย่างเดียว ต้องมีการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง การพัฒนาแผนการเจาะตลาดที่ทำกำไร และนวัตกรรมที่รวดเร็วเพื่อคงความสามารถในการแข่งขัน
แม้ว่าการสนับสนุนด้านกฎระเบียบจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของ Virtual Bank แต่ความสำเร็จในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตและทำกำไรได้อย่างยั่งยืน
ปัจจัยสามประการที่ทำให้ Virtual Bank ประสบความสำเร็จ
Virtual Bank ที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศเชิงรุก ผ่านความร่วมมือกับองค์กรนอกภาคธนาคาร เพื่อขยายฐานลูกค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากบริการธนาคารแบบดั้งเดิมกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ได้แก่ การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ การใช้ AI ในการพิจารณาเครดิตสำหรับสินเชื่อ กระบวนการสมัครใช้งานบริการธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ และการผสานโซลูชันทางการเงินเข้ากับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ตามรายงาน Global Digital Banking Maturity Report 2024 ของดีลอยท์ ธนาคารดิจิทัลชั้นนำได้เปลี่ยนโฟกัสจากการทำธุรกรรมทางการเงินในชีวิตประจำวันไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินแบบสร้างความสัมพันธ์ และการขยายระบบนิเวศ ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสในการนำเสนอขายต่อเนื่อง และพัฒนาบริการใหม่ๆ
นอกจากนี้ แผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนและขยายออกไปนอกเหนือจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ขั้นต่ำที่ใช้งานได้ (MVP) ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตลาดอย่างต่อเนื่องและเพิ่มประสิทธิภาพในระยะยาว โดยทั่วไป Virtual Bank ควรมีเส้นทางการเติบโตที่กำหนดไว้ชัดเจน โดยอาจจะเริ่มต้นจาก ผลิตภัณฑ์พื้นฐานหลัก เช่น บัญชีออมทรัพย์ และผลิตภัณฑ์สินเชื่อ/บัตรเครดิต ก่อนจะขยายไปสู่ บริการที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม และ Banking-as-a-Service (BaaS) เพื่อตอบโจทย์ทั้งลูกค้ารายย่อยและกลุ่ม MSMEs
หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้คือ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่คุ้มค่าและขยายได้ เพื่อนำเสนอข้อเสนอที่แตกต่างและขับเคลื่อนความสำเร็จในระยะยาว โดยมุ่งเน้นความเรียบง่ายและการใช้งานง่ายของข้อเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในด้าน การปฏิบัติตามกฎระเบียบ AML และการจัดการความเสี่ยงด้านการฉ้อโกง ยังคงเป็นความท้าทายที่ต่อเนื่องสำหรับผู้เล่นในตลาด
ประเด็นที่ Virtual Bank ในประเทศไทยควรให้ความสำคัญ
ในการขอใบอนุญาต Virtual Bank ในประเทศไทย ผู้สมัครต้องตอบโจทย์เรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำคัญของหน่วยงานกำกับดูแล ความท้าทายหลัก คือการสร้างสมดุลระหว่าง เป้าหมายเชิงนโยบายที่มุ่งเน้นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการธนาคารพื้นฐาน และ กลุ่มที่มีการเข้าถึงบริการธนาคารอย่างจำกัด กับความสามารถในการดำรงอยู่ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ผู้สมัครที่ได้รับใบอนุญาตต้องเร่งเปลี่ยนจาก “แผนงาน” สู่ “การปฏิบัติจริง” เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและสร้างความไว้วางใจในการเข้าถึงบริการทางการเงิน
เนื่องจากมีแผนออกใบอนุญาต Virtual Bank หลายฉบับ การแข่งขันเพื่อเป็น “ผู้เล่นรายแรก” จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ ส่งผลให้การเลือกใช้เทคโนโลยีเป็นประเด็นสำคัญ-ไม่ว่าจะเป็นการ พัฒนาโซลูชันเอง ซื้อโซลูชันสำเร็จรูป หรือใช้แพลตฟอร์มของผู้ให้บริการรายอื่น ธนาคารดิจิทัลยุคแรกมักสร้างระบบของตนเอง ขณะที่ผู้เล่นรายใหม่เริ่มหันไปใช้ โมเดล SaaS (Software-as-a-Service) และ APaaS (Application Platform-as-a-Service) หรือ กลยุทธ์แบบไฮบริด เพื่อเร่งการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ธนาคารดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้เปรียบในการใช้พันธมิตรที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อปรับระบบให้เร็วขึ้น โดยไม่ลดทอนความยืดหยุ่นและนวัตกรรม
เส้นทางสู่ความสำเร็จในระยะยาวสำหรับผู้สมัครขอใบอนุญาต Virtual Bank ในประเทศไทย ไม่ได้จบเพียงแค่การได้รับใบอนุญาตหรือการเป็นผู้เล่นรายแรกในตลาดเท่านั้น แต่ต้องสามารถสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน-ขยายการเติบโตผ่านระบบนิเวศ ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ขับเคลื่อนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุน
สำหรับผู้บริโภคในประเทศไทย Virtual Bank จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการแก่ประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการเงินในพื้นที่ชนบทโดยไม่ต้องพึ่งพาสาขาธนาคาร ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีและเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านอุปกรณ์มือถือได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ ด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่า Virtual Bank สามารถเสนอค่าธรรมเนียมที่ถูกลงและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อให้คำแนะนำทางการเงินที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล และเร่งกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น