ทายอนาคตประเทศไทยในยุค AI (ในแง่ร้ายที่สุด)

ภาพอนาคตที่เลวร้ายที่สุดนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่ผมอยากให้เกิดขึ้นแน่นอน แต่อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ฉุกคิดถึงความเสี่ยงจากการไม่เตรียมการรับมือ หรือ Take Action ช้าเกินไป ในขณะที่เราเห็น AI ใหม่ๆ ล้ำๆ จากต่างประเทศเปิดตัวทุกสัปดาห์ จนอาจทำให้วิกฤตต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจริง หรือรุนแรงกว่าที่จินตนาการไว้
พัฒนาการของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลายประเทศมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับวิกฤตการว่างงานครั้งใหญ่ การขยายตัวของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม จนไปถึงการล่มสลายของอุตสาหกรรมดั้งเดิม ผมอยากลองชวนคิดดูถึงอนาคตในยุค AI ในฉากทัศน์ด้วยการมองโลกในแง่ร้ายมากที่สุดที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย จากปัจจัยด้านความพร้อมและความสามารถในการปรับตัวของภาคแรงงาน ภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคธุรกิจของไทยครับ
1. คนถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร AI ในอุตสาหกรรมหลัก
อุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงการถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบภายในไม่กี่ปีจากนี้ แรงงานหลายล้านตำแหน่งไม่มีที่ยืน ต้องเปลี่ยนอาชีพ โดยเฉพาะสายการผลิตที่เคยใช้แรงงานคนเป็นหลัก อาจเกิดการเลิกจ้างครั้งใหญ่เมื่อบริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตไปใช้ระบบ “Smart Factory” ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมที่พึ่งพาแรงงานที่มีทักษะไม่สูงนัก อาจเผชิญวิกฤตทั้งจากเครื่องจักรเก็บเกี่ยวผลผลิต และระบบที่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยและแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตได้แม่นยำกว่า
สินค้าจากประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้า มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าโรงงานไทยหลายเท่า ทำให้ราคาถูกลงอย่างมาก สินค้าเหล่านี้จะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จนคนไทยแทบจะนับจำนวนสินค้าไทยที่ใช้ได้ พอโรงงานไหนเริ่มแข่งขันไม่ได้ก็อาจต้องปิดตัวลงหรือขายกิจการให้กับต่างชาติ เหลือคนไทยทำหน้าที่เป็นเพียงนอมินี
2. ระบบการศึกษาล้มเหลวและวิกฤตทักษะแรงงาน
แรงงานไทยจำเป็นต้อง Reskill ครั้งใหญ่ แต่หลายสถาบันในภาคการศึกษายังคงผลิตบัณฑิตในสาขาที่กำลังจะล้าสมัย หลายสถาบันยังคงสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจแบบดั้งเดิมในขณะที่ตลาดต้องการทักษะที่ผสมผสานระหว่างภาคทฤษฎีแบบเน้นการประยุกต์ใช้ที่มีความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม และภาคปฏิบัติที่ผสมผสานเทคโนโลยีไปในกระบวนการทำงานแบบ “Smart Process”
ความพร้อมด้าน AI ของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค อัตราการเปิดรับการฝึกทักษะใหม่ในกลุ่มแรงงานที่มีอายุมากยิ่งน้อยลง จนแรงงานที่มีอายุมากหลายล้านคนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ความล่าช้าในการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาจะทำให้บัณฑิตจบใหม่หลายแสนคนต่อปี เป็นแรงงานที่ไม่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของตลาดตั้งแต่เริ่มหางาน
3. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นอีก
การนำ AI มาใช้และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้าน Data จะสร้างความได้เปรียบให้กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรเพียงพอในการลงทุน ขณะที่ SME ที่ขาดแคลนเงินลงทุน ขาดความเชี่ยวชาญ และผู้บริหารที่มักให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนมากกว่าการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็จะเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ในขณะที่ช่องว่างรายได้ระหว่างกลุ่มแรงงานทักษะสูงกับแรงงานทักษะต่ำจะขยายตัวมากขึ้นอีก
ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงขึ้นจากโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ห่างกัน ประชากรในบางพื้นที่ของประเทศไทยยังคงขาดแม้กระทั่งปัจจัยพื้นฐานอย่างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สภาพการณ์นี้จะผลักให้ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปอีกนาน
4. การพลิกโฉมของอุตสาหกรรมบริการและการค้าปลีก
ภาคบริการจะเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ จากระบบ AI และ Automation ที่สามารถทำงานแทนที่พนักงานได้กว่าครึ่ง ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว ที่ติดตั้ง Emotion AI ย่อมสามารถวิเคราะห์ความต้องการลูกค้าได้ดีกว่าพนักงานฝึกหัด ในขณะที่แรงงานในร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะทยอยถูกแทนที่ด้วยระบบ Automated Store ใช้คนเพียงนิดเดียวก็บริหารร้านได้สบาย
5. ปัญหาสังคมลุกลามจากอัตราการว่างงาน
ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากแรงงานถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีพร้อมกันในหลายอุตสาหกรรมจะทำให้อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น รายได้หดตัวในขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น แรงกดดันทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มของปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาครอบครัว และสุขภาพจิต
6. ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจให้กับบริษัท AI ข้ามชาติ
อุตสาหกรรมของไทยจะตกอยู่ในอิทธิพลของบริษัท AI ข้ามชาติที่มีความได้เปรียบด้านเงินทุน ตลาด และข้อมูล นโยบายในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้เองในประเทศไม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งโครงการด้านเทคโนโลยีของหน่วยงานภาครัฐเอง
บริษัทข้ามชาติจะส่งออกแพลทฟอร์ม AI และระบบที่มี AI เป็นองค์ประกอบ ที่จะดูดกลืนทรัพยากรข้อมูลของประเทศไทยมากอีกหลายเท่าตัวในอนาคต โดยทิศทางนโยบายของประเทศเรายังไม่มีวี่แววที่จะมองไปถึงการหาโอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากข้อมูลของประชาชนไทยเอง
ภาพอนาคตที่เลวร้ายที่สุดนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่ผมอยากให้เกิดขึ้นแน่นอน แต่อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ฉุกคิดถึงความเสี่ยงจากการไม่เตรียมการรับมือ หรือ Take Action ช้าเกินไป ในขณะที่เราเห็น AI ใหม่ๆ ล้ำๆ จากต่างประเทศเปิดตัวทุกสัปดาห์ จนอาจทำให้วิกฤตต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจริง หรือรุนแรงกว่าที่จินตนาการไว้ครับ