สร้างพอร์ตการลงทุน…เตรียมรับมือกระแสความผันผวน
การเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันชัดเจน ด้านการลดดอกเบี้ยจาก FED ก็มีโอกาสน้อยลง ทำให้ดอกเบี้ยอาจทรงตัวในระดับสูง อีกทั้งยังมีปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะนโยบายกีดกันการค้าจากประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะกดดันต่อการค้าโลก
เชื่อว่าปี 2024 ที่ได้ผ่านพ้นไปนั้นได้สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจแก่นักลงทุนส่วนใหญ่ เนื่องจากหุ้นโลก (ดัชนี MSCI All Country World Index) ปรับเพิ่มขึ้นราว +18% ด้านสินทรัพย์อื่นๆ ก็สร้างผลตอบแทนที่ดีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะทองคำที่พุ่งขึ้นถึง +27% หุ้นกู้บริษัทเอกชนผลตอบแทนสูง (High yield) ก็ปรับขึ้น +9% หนุนจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังเติบโตแข็งแกร่ง บริษัทจดทะเบียนมีผลดำเนินงานเติบโตดี ท่ามกลางเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ทยอยปรับลดลง มีเพียงพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนติดลบ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดดอกเบี้ยช้ากว่าและน้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ในช่วงต้นปี
แต่ในช่วงปลายปีตลาดก็ได้เผชิญความผันผวน จากผลประชุม FED เดือนธันวาคมที่ออกมาในโทนเข้มงวดหรือ Hawkish มากขึ้น แม้ว่า FED จะลดดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด มาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% แต่ FED Dot Plot ที่สะท้อนมุมมองของคณะกรรมการแต่ละท่านออกมาบ่งชี้ว่าปี 2025 จะลดดอกเบี้ยอีกเพียง 2 ครั้งรวม 0.50% เท่านั้น จากเดิมที่ 3 ครั้ง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอยู่ในเกณฑ์ดี ด้านเงินเฟ้อแม้จะทยอยปรับลดลง แต่ก็เริ่มปรับลงในอัตราที่ชะลอลงท่ามกลางรายได้และค่าใช้จ่ายผู้บริโภคที่ยังแข็งแกร่ง นอกจากนั้นยังมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ที่ยังมีความไม่นอน โดยตลาดจับตาพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเด็นสงครามการค้า และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ทำให้ในช่วงสุดท้ายของปี ตลาดหุ้นไม่ได้รับของขวัญคริสมาสต์จากซานต้าคลอส หรือ Santa Claus Rally ที่โดยเฉลี่ยตั้งปีแต่ 1990 ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย +1.3% ในช่วงเวลา 7 วันทำการตั้งแต่ 24 ธันวาคม แต่ปี 2024 ดัชนี S&P500 ติดลบเล็กน้อยในช่วงเวลาดังกล่าว
ในปี 2025 คาดว่าสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกจะยังคงได้รับโมเมนตัมเชิงบวกต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หนุนจากเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่ำ พร้อมทั้งแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก แต่ด้วยหุ้นที่ปรับขึ้นมาค่อนข้างมาก ทำให้ Valuation อยู่ในระดับสูง และอาจจะตึงตัวในบางประเทศหรือบางอุตสาหกรรม นอกจากนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันชัดเจน ด้านการลดดอกเบี้ยจาก FED ก็มีโอกาสน้อยลง ทำให้ดอกเบี้ยอาจทรงตัวในระดับสูง อีกทั้งยังมีปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะนโยบายกีดกันการค้าจากประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะกดดันต่อการค้าโลก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง จึงประเมินว่าการลงทุนในปีนี้มีแนวโน้มที่จะมีความท้าทายมากกว่าปีที่แล้ว ต้องมีการเลือกเฟ้นสินทรัพย์ที่จะเป็นผู้ชนะ
ด้วยความเสี่ยงรอบด้านที่นักลงทุนอาจจะต้องเผชิญในปี 2025 นี้ สิ่งสำคัญที่จะพานักลงทุนผ่านคลื่นความผันผวนและเส้นทางขรุขระไปได้ก็คือการกระจายความเสี่ยง โดยแบ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในกองทุนผสมแบบจัดสรรเงินลงทุนโดยพิจารณาความเสี่ยง (Risk-based allocation) ที่กระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลก ตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนปรับตามเงินเฟ้อ (Inflation linked bonds) หุ้นกู้บริษัทเอกชน หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว หุ้นตลาดเกิดใหม่ สินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนค่าความผันผวน (VIX Index) ที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยเพิ่มผลตอบแทนแก่พอร์ตลงทุนในยามที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้จัดการกองทุนจะปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ต่างๆ ผ่านการพิจารณาความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ กล่าวคือ หากความผันผวนสูงขึ้นจะปรับลดสัดส่วนการลงทุน ในทางกลับกันเมื่อความผันผวนลดลง จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน
กองทุนผสมแบบ Risk based นี้ ให้ความสำคัญเสถียรภาพของเงินลงทุน ผ่านการบริหารจัดการความเสี่ยงขาลง หรือ Drawdown Management โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความผันผวนให้สินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ กองทุนจะลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์นั้นลงอย่างรวดเร็ว และเพิ่มเงินสด ทำให้กองทุนมีระดับขาดทุนสูงสุดที่น้อยกว่ากองทุนรวมผสมแบบดั้งเดิม เปรียบเสมือนการตกหลุมที่จะสามารถขึ้นมาจุดเดิมได้เร็วกว่าการตกเหวนั่นเอง
เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการลดผลขาดทุนในยามที่ตลาดเป็นขาลง มีความสำคัญมากกว่าการสร้างผลตอบแทนในยามที่ตลาดเป็นขาขึ้น และสิ่งนี้จะพานักลงทุนผ่านพ้นปี 2025 ไปได้อย่างราบรื่นได้