สหรัฐสูงยาวไป จีน-ไทยอาจเห็นแสงปลายอุโมงค์

ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะสามารถลดลงได้ 2 ครั้งในปีนี้ โดยเริ่มในเดือน พ.ย. ท่ามกลางเงินเฟ้อที่จะเริ่มลดลงในช่วงต้นไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม สัญญาณดอกเบี้ยที่สูงยาวนานขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอลงจะเริ่มเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการลงทุนบ้าง

เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ประกาศออกมาเริ่มส่งสัญญาณแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในสหรัฐ เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอลงมากขึ้น ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย. ชะลอเกินคาด ท่ามกลางอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ตัวเลขภาคการผลิตและบริการ วัดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสถาบัน ISM ลดต่ำลงกว่าค่า โดยดัชนีย่อยสำคัญ เช่น กิจกรรมเศรษฐกิจ จ้างงาน และคำสั่งซื้อใหม่ ชะลอตัวทั้งหมด ด้านยอดค้าปลีกสหรัฐขยายตัวชะลอลงและต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาด ส่วนหนี้ครัวเรือนสหรัฐสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางหนี้ค้างชำระบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้กำลังซื้อของชาวอเมริกันเริ่มเสื่อมถอย ท่ามกลางภาระหนี้ที่มากขึ้น 

ภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่ปรับลดลงเกินคาดในเดือน เม.ย. จากต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าเดินทางชะลอลงเป็นหลัก ขณะที่องค์ประกอบเงินเฟ้อด้านอื่น ๆ ทรงตัว อย่างไรก็ตาม เรากังวลว่า แม้ราคาน้ำมันในปัจจุบันจะลดลงจากในเดือน เม.ย. แต่ก็ยังอยู่สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนมากขึ้น (ปัจจุบันน้ำมันดิบห่างกันถึงกว่า 5 ดอลลาร์/บาร์เรล) ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงยังมีอยู่ในระยะต่อไป

ภาพเช่นนี้สอดคล้องกับรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่ส่งสัญญาณดอกเบี้ยจะสูงยาวนานขึ้น (higher for longer) โดยแม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมก่อนที่ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุด (ที่ชะลอลงหลังจากสูงเกินคาดติดต่อกันมา 3 เดือน) จะประกาศ แต่ก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่า FOMC กังวลความเสี่ยงเงินเฟ้อมากขึ้น และมองว่าจะต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าที่จะเชื่อได้ว่าเงินเฟ้อจะกลับมาสู่เป้าหมายที่ 2% จริง 

เช่นเดียวกับเดวิด โซโลมอน CEO ของ Goldman Sachs วานิชธนกิจอันดับต้น ๆ ของโลก มองว่าเป็นไปได้มากขึ้นที่ดอกเบี้ย Fed จะไม่สามารถลดได้ในปีนี้ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังสูงและศักยภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้นจากการพัฒนาของ AI ขณะที่ประเทศอื่น ๆ อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่า ภาพเหล่านี้จะทำให้ดอลลาร์อาจแข็งยาวนานขึ้น

ในมุมมองของเรา ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะสามารถลดลงได้ 2 ครั้งในปีนี้ โดยเริ่มในเดือน พ.ย. ท่ามกลางเงินเฟ้อที่จะเริ่มลดลงในช่วงต้นไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม สัญญาณดอกเบี้ยที่สูงยาวนานขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอลงจะเริ่มเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการลงทุนบ้าง

ในฝั่งจีน สัญญาณเศรษฐกิจล่าสุดชะลอตัวยกเว้นภาคการผลิต โดยยอดค้าปลีกขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 2.3% ต่อปี ในเดือน เม.ย. ซึ่งช้าที่สุดตั้งแต่ปี 2022 ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วเป็น 6.7% เร็วกว่าคาด ผลจากการกดราคาส่งออกเป็นหลัก ซึ่งเป็นส่วนทำให้ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะ EV ที่ขึ้นถึง 4 เท่า 

อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากจีน ผ่านชุดมาตรการที่ทางการจีนออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ (1) รัฐบาลเริ่มประกาศขายพันธบัตรระยะยาวอายุ 20-50 ปี มูลค่า 1 ล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะขายหมดในเดือน พ.ย. และคาดว่าจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 1% จากกรณีฐาน (2) ประกาศยกเลิกอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขั้นต่ำ (3) ลดเงินดาวน์สินเชื่อที่อยู่อาศัย (4) ธนาคารกลาง (PBOC) เตรียมตั้งกองทุนมูลค่า 3 แสนล้านหยวน หรือ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อซื้อบ้านที่ขายไม่ออก และจะถูกแปลงเป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง และ (5) รัฐบาลท้องถิ่นเริ่มมีแผนเพื่อส่งเสริมให้บริษัทและครัวเรือนต่างๆ อัพเกรดเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าของตน โดยจะใช้มาตรการภาษีอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ 

เรามองว่า จีนจะผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นผ่านการส่งออกสินค้าราคาถูก และสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนสินค้าให้ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก โดยใช้งบประมาณภาครัฐอุดหนุน ด้านภาคอสังหาฯ กองทุนที่จะจัดตั้งโดยธนาคารกลาง (ซึ่งมีขนาดประมาณ 10% ของมูลค่าบ้านคงค้างทั้งประเทศ) จะช่วยรับอุปทานส่วนเกินของตลาดบ้านได้บ้าง 

ในส่วนของไทย ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัว 1.5% สูงกว่าที่เราคาดที่ 0-1% และที่ตลาดคาดที่ 0.8% เป็นเพราะ (1) การบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัวดีจากภาคบริการจากการท่องเที่ยว (2) การลงทุนภาคเอกชน และ (3) สินค้าคงคลังที่เริ่มเพิ่มขึ้น แต่ภาคเศรษฐกิจที่ยังแย่ต่อเนื่องจาก (1) การลงทุนภาครัฐที่หดตัว ผลจากงบประมาณที่ล่าช้า (2) ปริมาณการส่งออกสินค้า ที่หดตัวจากสัดส่วนการผลิตสินค้าขั้นสูงของไทยที่ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน และจากการที่สินค้าจีนตีตลาด และ (3) ปริมาณการนำเข้าสินค้า ที่ขยายตัวจากสินค้ากลุ่มวัตถุดิบโดยเฉพาะน้ำมันดิบ

อย่างไรก็ตาม เรามองว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณบวกขึ้นได้บ้าง จาก (1) การปรับ ครม. โดยเฉพาะการได้ รมว. คลังท่านใหม่ ซึ่งมีท่าทีรอมชอมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เห็นโอกาสในการประสานนโยบาย (2) การประกาศงบกลางปี 1.22 แสนล้านบาท ทำให้ความต้องการใช้เงินของภาครัฐที่ต้องดึงจากงบเก่าคือ 5.3 หมื่นล้านบาท ทำให้มีโอกาสที่งบลงทุนจะสามารถเบิกจ่ายออกมาได้มากขึ้น และ (3) เริ่มมีแนวคิดในการนำกองทุน LTF กลับมา ซึ่งอาจทำให้ความน่าสนใจของตลาดทุนไทยมีมากขึ้น 

ในส่วนกลยุทธการลงทุน เราแนะนำ “Selective Buy” ใน 3 ธีมหลัก ดังนี้ 1) หุ้น Big Cap. ได้แก่ MINT ADVANC TU BEM CPF 2) สําหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการเก็งกําไรหุ้น Mid-Small Cap. ซึ่งคาดกําไร 2Q67 จะมีแนวโน้มเติบโตดี เลือก KCE BTG OSP HMPRO TIDLOR 3) สถานการณ์ในตะวันออกกลางเริ่มเบาบางลง ทําให้ราคาน้ำมันดิบ เริ่มปรับตัวลดลง เรามองว่า ยังสามารถมีหุ้นน้ำมันสําหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ได้ ดังนันนักลงทุน ที่รับความเสี่ยงได้สูง จึงยังคงเลือกหุ้นน้ำมันขันต้นอย่าง PTTEP

ขอให้นักลงทุนโชคดี