De-dollarization กับบทบาทของเงินหยวนจีนในตลาดการเงินโลก

De-dollarization กับบทบาทของเงินหยวนจีนในตลาดการเงินโลก

การเปลี่ยนแปลงบทบาทของประเทศต่างๆ และกลไลระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับได้ว่าเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าจะส่งกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันทางการค้าและด้านเทคโนโลยี การนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ในหลากหลายรูปแบบ

ส่งผลกระทบไปจนถึงกลยุทธ์ทางการค้า ที่เลือกเน้นทำธุรกรรม และเพิ่มปริมาณการค้าขายสินค้า และบริการกับประเทศหรือกลุ่มประเทศที่เป็นพันธบัตรทางการเมืองเป็นหลักก่อน เรื่องของปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) นั้นนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ข้อขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ส่งผลต่อการไหลของเงินลงทุนในสินทรัพย์และการลงทุนโดยตรงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คือ เรื่องของกระบวนการ De-Dollarization ซึ่งหมายถึงความพยายามของประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะใช้เงินสกุลอื่นๆ ในการซื้อขายสินค้าและบริการ (Cross-Border Trade) หรือ การกระจายความเสี่ยงของการถือสินทรัพย์โดยเฉพาะเงินสำรองทางการออกจากสกุลเงินดอลลาร์ และสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปของดอลลาร์ เช่น การหันมาถือทองคำมาก 

ข้อตกลงการซื้อขายสินค้าและบริการเป็นเงินอื่นๆ ที่ไม่ใช่ดอลลาร์ เช่น เงินหยวนระหว่างหลายๆ ประเทศ หรือแม้แต่การหันมาใช้สกุลเงินดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ สำหรับบางประเทศในสหรัฐใต้ก็นับเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะลดการพึ่งพิงดอลลาร์ได้เช่นกัน โดยการพึ่งพิ่งสกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่งมากจนเกินไปนั้นนับเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินในประเทศด้วยเช่นกัน จากการส่งผ่านนโยบายการเงินและผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นๆ ผ่านช่องทางต่างๆ

จากข้อมูล Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserve (COFER) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งแสดงสัดส่วนการ คือครองสินทรัพย์และสกุลเงินของเงินสำรองทางการของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก นั้นสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามที่จะกระจายความเสี่ยงของจากสหรัฐฯ ทั้งสกุลเงินและสินทรัพย์นั้นมีมานานหลายปีแล้ว โดยจากข้อมูลจะพบว่า ณ สิ้นปี 2000 นั้นเงินสำรองทางการของประเทศต่างๆ รวมอยู่ในรูปของเงินดอลลาร์ สูงถึง 71.1% ถัดไป คือสกุลเงินยูโรที่ 18.3% และสกุลเงินเยนญี่ปุ่นที่ 6.1% ซึ่งทั้งสามสกุลเงินหลักคิดเป็นกว่า 95% ของสินทรัพย์ในเงินสำรองทางการของธนาคารกลางทั่วโลก

 ในขณะที่ ณ สิ้นปี 2010 นั้นเงินสัดส่วนของดอลลาร์ ลดลงมาอยู่ที่ 62.2% และยูโรที่ 25.7% และเยนที่ 3.7% ซึ่งในภาพรวมก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเนื่องจากทั้งสามสกุลเงินหลักยังรวมกันกว่า 95% ของสินทรัพย์ในเงินสำรองทางการ แต่จะเห็นได้ชัดว่าเริ่มมีการลดการถือดอลลาร์ไปถือครองยูโรมากขึ้น ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้นจะเริ่มเด่นชัดขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2020 เงินสำรองทางการในรูปของดอลลาร์ ลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ 48.9% ยูโร 17.7% และ เยน 5.0% ทั้งสามสกุลเงินหลักรวมกันลดลงมาอยู่ที่เพียงราว 70% และเงินหยวนจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.8% ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากการที่จีนเร่งเปิดประเทศและปฏิรูประบบการเงินภายในประเทศด้วย

จากข้อมูลจะพบว่า ความพยายามที่จะกระจายความเสี่ยงออกจากเงินดอลลาร์นั้น มีมานานหลายปีแล้ว เนื่องจากบทบาทที่ดูเหมือนจะมากจนเกินไปในตลาดการเงินโลก ทำให้ทุกคนต้องพึ่งพิงเงินดอลลาร์ เป็นหลัก โดยในสมัยก่อนสหรัฐฯ เองก็มีประเด็นที่สร้างความกังวลเรื่องของ Twin Deficit คือ การขาดดุลการคลัง (Fiscal Deficit) และขาดดุลดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Deficit) ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงและความไม่มีเสถียรภาพได้ในระยะยาว

ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกกระจายความเสี่ยงออกจากเงินดอลลาร์ มากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเงินยูโรหรือเยน แต่ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาเองก็ประสบกับปัญหาภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Sovereign Debt Crisis ในกลุ่มประเทศ PIIGS (Portugal, Italy, Ireland, Greece and Spain) ที่ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างมากในช่วงปี 2011-2013 ในขณะที่ญี่ปุ่นนั้นแม้ค่าเงินเยนจะอยู่ในสถานะ Save-Haven Currency จากเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัดที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่น แต่จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ติดลบมาอย่างยาวนานก็ลดทอนความน่าสนใจของการกระจายการลงทุนไปยังญี่ปุ่นลง

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนั้นคงไม่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน และมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า โดยจากข้อมูล Triennial Central Bank Survey ของBank International Settlement (BIS) ที่สำรวจปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่า ณ สิ้นปี 2022 สกุลเงินดอลลาร์ ยังถูกใช้มากที่สุดคิดเป็น 88.5% ของ Turnover ทั้งหมด (นับทั้งซื้อและขาย และในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนการซื้อหนึ่งสกุลเงินหมายถึงการขายอีกสกุลเงินหนึ่งทำให้ Turnover ทั้งหมดรวม 200%) มากกว่าลำดับรองลงไปอย่างสกุลเงินยูโรที่ถูกใช้เพียง 30.5% ในขณะที่ค่าเงินหยวนจีนอยู่ที่ 7.0% และไม่น่าแปลกใจว่าสกุลเงินที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ EUR/USD ที่คิดเป็น 22.7% ของปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศทั้งหมด ในขณะที่ USD/CNY อยู่ที่ 6.6%

โดยเราจะเห็นได้ว่า เรื่องของการ De-Dollarization นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และบทบาทของเงินหยวนในระบบการเงินโลกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หนทางก็อาจจะยังคงอีกยาวไกลสำหรับเงินหยวนจีนที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทในตลาดการเงินโลกทัดเทียมกับเงินดอลลาร์ แต่ก็ทำให้นักลงทุนพอจะมองเห็นภูมิทัศน์ตลาดการเงินโลกที่จะเปลี่ยนแปลงสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจโลกในระยะยาวได้ครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด