'New Development Bank คู่แข่งหน้าใหม่ของธนาคารโลก'

'New Development Bank คู่แข่งหน้าใหม่ของธนาคารโลก'

ระยะนี้มีการวิจารณ์ในสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียบ่อยครั้ง เรื่องความพยายามจัดระเบียบโลกใหม่

นอกเหนือจากการเมืองระหว่างประเทศและความมั่นคง ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการเงินและการธนาคาร ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีอิทธิพลผลักดันนโยบายให้ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ผลตอบแทนสูง สร้างความร่ำรวยทวีคูณขึ้นและเมื่อมีปัญหาก็สามารถตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะเดียวกันประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจระดับสูง เป็นแต่เพียงผู้ตามที่ขาดอำนาจในการต่อรอง เกิดความเหลื่อมล้ำเป็นต้น

ธนาคารโลก (World Bank) เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1944 พร้อมกับการก่อตั้ง International Monetary Fund (IMF) ซึ่งครั้งนั้นมีการประชุมของสหประชาชาติที่ Bretton Woods, รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นมาจาก 44 ประเทศในกลุ่มสัมพันธมิตร 

แต่ต่อมาประมาณปีค.ศ.1970 ธนาคารโลกได้ปรับเปลี่ยนแนวทางหันมาเน้นให้เงินกู้และเงินช่วยเหลือ ต่อรัฐบาลของประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ในโครงการพัฒนาต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่สุดคือลดความยากจน 

ปัจจุบันธนาคารโลกมีสมาชิก 189 ประเทศและสมาชิกที่มีเสียงลงคะแนนมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เยอรมนีและสหราชอาณาจักร ประธานของธนาคารโลกทุกคน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันเป็นชาวอเมริกัน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา 

วัตถุประสงค์ของธนาคารโลกเมื่อเริ่มต้น คือจัดระบบเตรียมพร้อมความร่วมมือระหว่างประเทศ ใช้กติกาที่ตกลงกันบริหารการเงินการธนาคารของสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาประเทศสมาชิก หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง

ถึงแม้ว่าธนาคารโลกซึ่งมี 5 องค์กรใหญ่ได้สร้างผลงานมากมาย และเป็นสถาบันหลักซึ่งประชาคมโลกให้ความเชื่อถือ แต่ก็ยังมีคำวิจารณ์เรื่องความเสียเปรียบของกลุ่มประเทศซึ่งกำลังพัฒนา และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเงินสกุลตราของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอเมริกันดอลล่าร์มีบทบาทในตลาดการเงินโลกสูงมาก เกินสัดส่วนที่ควรจะเป็น เมื่ออเมริกามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจหรือการธนาคาร ผลกระทบจะเป็นวงกว้างไปแทบทุกแห่ง 

สถาบันใหม่ New Development Bank (NDB) ถูกนำเสนอโดยอินเดีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพของการประชุมสุดยอดครั้งที่สี่ของกลุ่มประเทศ BRICS ( Brazil, Russia, India, China, South Africa) ที่กรุง Delhi เมื่อปีค.ศ. 2012 ต่อมาได้ตกลงเงื่อนไขการลงทุนในปีค.ศ. 2014 และเซ็นสัญญาสร้างสำนักงานใหญ่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในปีค.ศ. 2016 

ประเทศสมาชิกทั้งห้ารับผิดชอบเรื่องการลงทุนและการลงคะแนนเสียงเท่าเทียมกันที่ 20% ต่อประเทศ และไม่มีประเทศใดมีสิทธิ์วีโต้ ประธานของธนาคารจะรับตำแหน่งครั้งละ 5 ปี และหมุนเวียนกันใน 5 ประเทศ การบริหารจะเน้นที่ความรวดเร็วคล่องตัว โดยเอาบทเรียนของธนาคารโลกมาปรับปรุง และธนาคารนี้สร้างและบริหารโดยประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างกับธนาคารโลก ซึ่งควบคุมโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว 

ปัจจุบัน NDB อนุมัติเงินกู้ให้กับ 80 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 32,000 ล้านเหรียญ และมีสมาชิกเพิ่มอีก 4 ประเทศ คืออียิปต์ บังกลาเทศ อุรุกวัย และ UAE รวมเป็น 9 ประเทศ และมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนสมาชิกอีกเป็นจำนวนมาก

เรื่องสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามองคือความคิดที่จะสร้างเงินสกุลใหม่ จากความร่วมมือของห้าประเทศ BRICS เรียกว่าสกุล R5 (R เป็นอักษรแรกของสกุลตราแต่ละประเทศทั้งห้านี้) จุดประสงค์หลักคือต้องการหาสกุลตราใหม่ที่มั่นคง ทดแทนสกุลดอลล่าร์ของอเมริกาและหยวนของจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งกันในปัจจุบัน 

ปัจจัยที่จะช่วยให้สกุลตราใหม่นี้มีความเป็นไปได้คือ การค้าระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่ม BRICS นั้นมีปริมาณมากเพียงพอ และมีแนวโน้มจะขยายขึ้นเช่น ในปีค.ศ. 2022 การค้าระหว่างจีนกับบราซิลเกินกว่า 150,000 ล้านเหรียญ และตัวเลขนี้โตขึ้นมาต่อเนื่องห้าปี บราซิลกับอินเดียค้าขายระหว่างกัน 15,000 ล้านเหรียญ รัสเซียกับอินเดียค้าขายกัน 31,000 ล้านเหรียญ จีนกับรัสเซียค้าขายระหว่างกัน 190,000 ล้านเหรียญ ฯลฯ 

สิ่งท้าทายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสกุลตราใหม่นี้ มีหลายประเด็น เช่น

จีนกับอินเดีย : การเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันอาจสร้างความระแวงระหว่างจีนกับอินเดีย การโยกย้ายบริษัทเทคโนโลยีและสินค้ายุทธศาสตร์จากโรงงานในจีนมาที่อินเดีย ทำให้จีนเสียผลประโยชน์ และการที่อินเดียเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงทางทหารในกลุ่ม QUAD กับญี่ปุ่น อเมริกาและออสเตรเลีย เปรียบเสมือนการปิดล้อมจีน

จีนกับรัสเซีย : สถานการณ์ปัจจุบันทำให้จีนได้เปรียบ รัสเซียซึ่งกำลังมีปัญหารุมเร้าจากสงครามในยูเครนจึงตกในภาวะต้องพึ่งพาอาศัยจีน เพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องขายพลังงานในราคาถูก เงินหยวนเป็นสกุลหลักในการค้าขายระหว่างสองประเทศนี้

อินเดียกับรัสเซีย : แม้อินเดียพยายามวางตัวเป็นกลางเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และเพิ่มการซื้อสินค้าจากรัสเซีย เช่นปุ๋ยในราคาถูก หรือซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาตลาด โดยไม่ยอมรับการจำกัดราคาของตะวันตก แต่อินเดียก็กำลังรับรางวัลจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่นญี่ปุ่นเพิ่งเสนอเงินลงทุนในอินเดีย 75,000 ล้านเหรียญเป็นต้น

บราซิลกับจีน : ปัจจุบันบราซิลส่งออกไปจีนมากกว่าไปอเมริกาถึงสามเท่า แต่รัฐบาลอเมริกันชุดปัจจุบันพยายามปรับนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์ และเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสหรัฐฯต้องการรักษาอิทธิพลในทวีปอเมริกา 

ยินดีที่เห็นความพยายามจัดตั้งสถาบันการเงินใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะมีการบริหารโดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมาช่วยสร้างความสมดุลย์กับระบบในปัจจุบัน และถึงแม้ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของธนาคารใหม่นี้ และอาจยังไม่ได้รับการบริการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือโดยตรง แต่การมีแหล่งเงินกู้เพิ่มขึ้นในประชาคมโลก จะทำให้โครงการของประเทศซึ่งใช้บริการสถาบันใหม่นั้น มีโอกาสดำเนินงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ 

เมื่อมีการพัฒนาในภูมิภาค ก็จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างออกไป และการแข่งขันมักจะนำมาถึงการปรับปรุงการบริการของสถาบันเดิม ธนาคารโลกหรือธนาคารพัฒนาในภูมิภาคและในแต่ละประเทศก็จะกระตือรือร้นมากขึ้นครับ