ปรับพอร์ตเพิ่มน้ำหนักลงทุนตราสารหนี้

ปรับพอร์ตเพิ่มน้ำหนักลงทุนตราสารหนี้

ผ่านไปแล้วเดือนสุดท้ายของปี2565 นะครับ อาจจะบอกได้ว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะมีผลงานดีกว่าตลาดหุ้นต่างประเทศ แต่ก็ยังแค่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนจากตราสารหนี

ในฉบับนี้ผมขอให้มุมมองการลงทุนควบคู่กับคำแนะนำการปรับพอร์ตซึ่งพอร์ตปีนี้ผมให้ลักษณะของ พอร์ตการลงทุนออกมาแนวบุกนิดๆ นะครับ ทั้งหมดนี้ เพื่อรับกับบรรยากาศการลงทุนในช่วงต้นปี​

ขอเล่าเรื่องแบบไม่แยกประเด็น เพราะอยากให้ดูรายละเอียดในมิติของห้วงเวลา จะได้เห็นภาพรวมกันชัดๆ ในช่วงต้นของเดือนธ.ค.ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น ทั้งหมดก็มาจากการรับข้อมูลในเรื่องของทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่เตรียมจะชะลอลงในการประชุมกลางเดือน และการส่งสัญญาณของรัฐบาลจีนต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในประเทศมากขึ้น อันนี้ก็ถือเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญมาก 

ถัดมาก็เป็นเรื่องของตัวเลขเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของไทยประจำเดือนพ.ย.ชะลอกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ คือออกมา 5.5% น้อยกว่าที่คาดการไว้ก่อนหน้าที่ 5.80% และชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดกัน โดยหากดูในแบบเดือนต่อเดือน ก็อาจจะสบายใจกันบ้างเพราะ พบการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ถัดมาก็การายงานตัวเลขต่างประเทศ เริ่มจากสหรัฐฯรายงานตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนพ.ย.ปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนและมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งในภาพของ Headline และ Core CPI และทั้งในช่วงเวลาแบบ ปีต่อปี และ เดือนต่อเดือน ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต ปรับตัวลดลง พอมาถึงกลางเดือนตลาดหุ้นเริ่มย่อตัวลง รับความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย สะท้อนผ่าน ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี และ 10 ปี ของสหรัฐฯที่ปรับตัวผกผัน หรือ Inverted yield curve มากขึ้น ส่วนหนึ่งจากตัวเลขส่งออกและนำเข้าของจีนที่ออกมาอ่อนแอและแย่กว่าคาด 

นอกจากนั้น ผลการประชุม Fed ยัง ออกมาในทางลบเล็กน้อย แม้ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตามคาด แต่ได้มีการปรับเพิ่มค่ากลางของ Dot plots ปี 2566 ขึ้นมาจากเดิมและสูงเกินกว่า 5% ซึ่งเป็นระดับที่นักลงทุนส่วนใหญ่รับรู้ไว้ก่อนหน้านี้ มาดูทางด้านเอเชียกันบ้าง ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจขยายกรอบการเคลื่อนไหวของ พันธบัตร อายุ 10 ปี ตามโครงการ Yield curve control (YCC) จากเดิม +/-0.25% เป็น +/-0.50%

ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกผันผวนระยะสั้น ก็คือเด้งขึ้นชนขอบบนหมดละครับ อันนี้ก็ทางญี่ปุ่นยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินแต่อย่างใด คือ ยังเน้นผ่อนคลายเหมือนเดิมแต่เป็นการปรับกรอบเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการเงินของโลก ในช่วงปลายเดือนตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น รับข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ออกมาทั้ง ‘ช้อปดีมีคืน’ และ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ รวมถึงความคาดหวังเชิงบวก หลังจีนเตรียมยกเลิกบังคับให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศต้องกักตัวเฝ้าระวังอาการโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.เป็นต้นไป

มาลองดูกันว่าเดือนมกราคมจะเป็นอย่างไร ในแง่ของบรรยากาศการลงทุนน่าจะดูดีขึ้นทั้งโลกจากการคลาย lock down ของจีน สำหรับทิศทางของ Fed อาจจะต้องมาดูผลของ Winter effect ในรอบนี้เพราะสภาพอากาศที่หนาวเกินความคาดหมายน่าจะทำให้เกิดการชะลอตัวในภาคธุรกิจบางภาค และสถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยยุโรปน่าจะหนักหน่วงสุดเพราะมีสถานการณ์ รัสเซีย- ยูเครน ทำให้ธุรกรรมทางการค้าทั่วโลกชะลอตัวลง สรุปก็คือในเชิงบรรยากาศการลงทุนน่าจะดีแต่ในแง่ของข้อมูลอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ในส่วนของการลงทุนในประเทศ เริ่มมีประเด็นการไถ่ถอนกองทุนLTF แล้วจะมีผลกับตลาดหุ้นอย่างไร กรณีนี้ผมมองว่าไม่มีอะไรน่ากังวลใจมากนัก โดยแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นจากการไถ่ถอนกองทุน LTF นั้นมองว่าไม่มีนัยสำคัญ โดยน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าหมื่นล้านบาท หลังนักลงทุนส่วนใหญ่ที่มีการเข้าซื้อกองทุนนี้ในปี 2017 ยังคงประสบผลขาดทุนอยู่

จึงอาจจะไม่ได้มีแรงจูงใจในการขายกองมากนัก ในส่วนของปัจจัยกระตุ้นอื่น มองไปยังมาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ ที่น่าจะช่วยเข้ามาสร้างสีสันให้กับการจับจ่ายใช้สอยในประเทศได้บ้าง ส่วนทางภาคการคลังสหรัฐฯ จับตาความคาดหวังของนักลงทุนเชิงบวกต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ภายหลังจากการเข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการของ Congress ชุดใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนขั้วเสียงข้างมากจากพรรคเดโมแครตไปเป็นรีพับลิกัน

สำหรับการปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดรับกับปี 2566 ผมปรับน้ำหนักการลงทุนเกี่ยวกับตราสารหนี้เล็กน้อย โดย 50% แรกที่เป็นหุ้นจะเป็นของหุ้นไทย 20% และอีก 30% จัดน้ำหนักโดยแบ่งเป็น สหรัฐ จีน และ ญี่ปุ่น ประเทศละ 10% เท่าๆกัน อีก 50% ที่เหลือ แบ่งเป็นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น 20% เป็นตราสารหนี้ระยะกลางโดยเน้นที่เป็นตราสารที่มีระดับความเสี่ยงที่สามารถลงทุนได้ investment grade ประมาณ 15% ที่เหลืออีก 15% แบ่งเป็น ทองคำ น้ำมัน และ REITs อย่างละเท่าๆกัน 

สำหรับผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงและมีความสนใจเฉพาะตราสารทุน ก็ยังคงแนะนำแบบไม่ให้แตกแถวจากเดิม คือ เน้นกลุ่มที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน และกลุ่ม ท่องเที่ยว ครับ