ลงทุนอย่างไร...เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่อแววชะลอตัว

ลงทุนอย่างไร...เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่อแววชะลอตัว

เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นเคยกับเทศกาลชอปปิ้ง 11.11 หรือวันคนโสด ที่เริ่มต้นในประเทศจีน จนมาเป็นที่นิยมอย่างมากในไทย แต่สำหรับสหรัฐอเมริกา หนึ่งในเทศกาลชอปปิ้งสำคัญก็คือ Black Friday

ในช่วงวันหยุดขอบคุณพระเจ้า โดยยอดขายในวันดังกล่าว สามารถใช้ประเมินถึงความแข็งแกร่งของผู้บริโภค ซึ่งจะสะท้อนภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ เพราะ การบริโภคภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของ GDP

อ้างอิงจาก Adobe Analytics พบว่ายอดขายในเทศกาล Black Friday ช่องทางออนไลน์เติบโต 2.3% เมื่อเทียบปีต่อปี ส่วนยอดขายช่องทางออฟไลน์เติบโต 2.9% หากพิจารณาเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ถือว่าการเติบโตระดับนี้แพ้เงินเฟ้อไปมาก แม้ว่าผู้ขายในแต่ละช่องทาง ได้อัดฉีดโปรโมชั่นต่างๆ พร้อมมอบส่วนลดตั้งแต่ 30% ขึ้นไป แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากนั้น จากการสำรวจไปยังห้างสรรพสินค้าชั้นนำในสหรัฐฯ พบว่ามีคนเดินห้างมากกว่าวันหยุดสุดสัปดาห์ปกติเพียงเล็กน้อย ลูกค้าส่วนใหญ่เน้นซื้อสินค้าที่ลดราคา โดยเป็นการชะลอการจับจ่ายก่อนหน้านี้ มาซื้อในช่วงเทศกาลแทน ประกอบกับตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลงในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนว่าผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ด้านตลาดแรงงานก็บ่งชึ้ถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการแรงงาน (Initial Jobless Claim) รายสัปดาห์ (ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน) ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 240,000 ราย ส่วน Continuing claims หรือแรงงานที่ได้รับเงินชดเชยสะสม ก็ปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเลิกจ้างพนักงานในบริษัทเทคฯ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะมีการเลิกจ้างมากขึ้น และจะส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 4.9% ในปี 2024 จากปัจจุบันที่ 3.7%

นอกจากนั้นตลาดบ้านก็ส่งสัญญาณอ่อนแอเช่นเดียวกัน โดยไม่ใช่แค่กำลังซื้อที่หดตัว ด้านผู้ขายเองก็ชะลอการขายบ้าน จากข้อมูลล่าสุดในเดือนตุลาคมพบว่ามีการประกาศขายบ้านลดลง -24% YoY เป็นการหดตัว 4 เดือนติดต่อกัน และยอดการสร้างบ้านใหม่ปรับลงเร็วสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 หลังราคาบ้านปรับตัวลง ตามกำลังซื้อที่อ่อนแอกดดันจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่พุ่งสูงกว่า 2 เท่าในปีนี้ ไปอยู่ที่ระดับ 7%

ด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่อแววชะลอตัวลงเช่นนี้ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED มีโอกาสที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อ้างอิงจากทั้งแถลงการณ์ของคณะกรรมการหลายๆ ท่าน รวมถึงรายงานการประชุมเดือนตุลาคมที่ระบุว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าเงินเฟ้อ และค่าจ้างแรงงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ ถ้าหากเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอาจเพิ่มความเสี่ยงได้ ด้านนักวิเคราห์คาดว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ระดับ 5% ก่อนจะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2023

ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เท่านั้นที่ชะลอตัว ด้านเศรษฐกิจยุโรปเอง ก็มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งต่อมายังการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นให้ชะลอลงตาม ส่วนประเทศจีน ก็ยังดูไม่สดใสนัก เพราะ การผ่อนคลายนโยบาย Zero COVID และทิศทางการเปิดประเทศยังไม่มีกำหนดอย่างชัดเจน เราจึงมองว่ายังคงมีความเสี่ยงสูง ที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ณ ตอนนี้ แต่หากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เริ่มคลี่คลาย จึงค่อยกลับมาลงทุนในหุ้นเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี เรายังมองเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ด้วยการคาดการณ์ว่า FED จะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และ ณ บอนด์ยีลด์ระดับปัจจุบัน ถือว่าผลตอบแทนอยู่ในระดับน่าดึงดูด จึงมองว่าเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วโลก ที่มีการบริหารแบบเชิงรุกในการคัดเลือกพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีวินัยทางการคลังที่ดี และคัดเลือ

กหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่ผู้ออกมีฐานะการเงินมั่นคง มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำ และที่สำคัญต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารอายุคงเหลือเฉลี่ยของตราสาร (Duration) ให้สอดคล้องกับมุมมองของดอกเบี้ยในอนาคต เพื่อให้ผู้ลงทุนไม่เพียงแต่จะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของตราสารที่ถือในกองทุน แต่มีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนจากกำไรส่วนต่างราคาอีกด้วย