โอกาสลงทุน “อินโดนีเซีย” เสือเศรษฐกิจใหม่แห่งอาเซียน 

โอกาสลงทุน “อินโดนีเซีย” เสือเศรษฐกิจใหม่แห่งอาเซียน 

ท่ามกลางสถานการณ์การลงทุนที่ท้าทายเป็นอย่างมากในปีนี้ ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ในทิศทางที่ติดลบ สอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มถดถอยลง

อย่างไรก็ตาม มีประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้สูงกว่า5% อีกทั้งยังมีผลตอบแทนของตลาดหุ้นที่เพิ่มขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งถึง 9% นับตั้งแต่ต้นปี (ข้อมูล ณ 23 ส.ค. 2565 ) สวนทางกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆทั่วโลก นั่นก็คือ อินโดนีเซีย ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นอินโดนีเซียมีการเติบโตที่โดดเด่นเหนือประเทศอื่นๆและอนาคตการเติบโตของอินโดนีเซียมีความน่าสนใจอย่างไร?

ปัจจัยแรก คือ ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีการเติบโตที่รวดเร็ว ในปี2022 IMFได้คาดการณ์GDP Growthของอินโดนีเซียไว้สูงถึงระดับ5.4% และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องอีก6% ในปี 2566 ปัจจัยหลักที่สนับสนุนGDPของอินโดนีเซียให้เติบโตได้อย่างโดดเด่นก็คือ จำนวนประชากร 272 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับที่4ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน

 

โดยประชากรส่วนใหญ่ราว60% ของประเทศยังอยู่ในวัยแรงงานและมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 31 ปีเท่านั้น ด้วยระดับรายได้ต่อหัวที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องผนวกกับอัตราการเข้าถึงสินค้าบริการต่างๆที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การบริโภคภายในประเทศถือเป็นพลังขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่องทั้งนี้ IMF ยังได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 อินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน สหรัฐฯและอินเดีย

อีกปัจจัยหนึ่งที่ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ก็คือ ความเพียบพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ทั้งถ่านหิน นิกเกิล ดีบุกและน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้มีการปรับยุทธศาสตร์ระยะยาว ด้วยการลดการพึ่งพิงการส่งออกสินแร่ธรรมชาติและหันมาดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของบรรดาบริษัทชั้นนำระดับโลก

ยกตัวอย่างเช่นTeslaผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐฯ หรือCATLบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ให้เคลื่อนย้ายเม็ดเงินเข้าลงมาลงทุนตั้งฐานการผลิตในอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศและถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินแร่ธรรมชาติที่เป็นทรัพยากรหลักของประเทศ

ด้วยลักษณะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงกำลังเติบโตเร็ว อุตสาหกรรมหลักในตลาดหุ้นอินโดนีเซียจึงประกอบไปด้วย หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ (DomesticPlay) อย่างเช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงหุ้นกลุ่มที่อิงกับทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์และภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

นอกจากธุรกิจประเภทOld Economyแล้ว อินโดนีเซียถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นในการสร้างบริษัท Start-up ที่เป็น Unicornจำนวนมาก เพื่อเป็นการสร้างNew S-curveใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ยกตัวอย่างเช่นTraveloka บริษัทผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักชั้นนำJ&T Expressบริษัทผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนชั้นนำ หรือGotoผู้นำแพลตฟอร์มRide HailingและFoodDelivery

หากพูดถึงภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้น ปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นอินโดนีเซียซื้อขายอยู่ในระดับที่ไม่สูง สะท้อนจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิในช่วง12เดือนข้างหน้า (Forward P/E) ที่16.4เท่า ถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระยะยาว 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ระดับ17เท่า โดยนักวิเคราะห์ในBloombergConsensus คาดการณ์ว่ากำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอินโดนีเซียจะเติบโตได้สูงถึง 57.8%YoYในปี 2565 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องอีก 12.7%YoYในปี 2566

ในแง่ของความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูง ซึ่งอาจนำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด อินโดนีเซียถือว่ายังมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เมื่อพิจารณาจากตัวเลข Core CPI ซึ่งเป็นตัวเลขที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียใช้เป็นมาตรวัดเสถียรภาพทางด้านราคา ในเดือนก.ค. ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 2.86% ทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังสามารถคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ3.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป

โดยที่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหรือหลายประเทศในเอเชีย ในขณะที่ค่าเงินรูเปียห์มีเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค โดยได้รับแรงหนุนมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งและดุลบัญชีเดินสะพัดที่พลิกกลับมาเกินดุลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554

ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงและโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกในอนาคต ประกอบกับValuationของตลาดหุ้นที่ยังซื้อขายอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและมีการเติบโตของผลประกอบการที่โดดเด่น ปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าจับตามองที่สุดในอาเซียนและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมให้กับนักลงทุนได้ในระยะยาว