ICO แตกต่างจาก IPO อย่างไร

ICO แตกต่างจาก IPO อย่างไร

หลาย ๆ ท่านคงเคยจะได้ยินคำว่า ICO (Initial Coin Offering) ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซีมาบ้างแล้ว และคงสงสัยกันอยู่บ้าง ว่ามันแตกต่างกับ IPO (Initial Public Offering) อย่างไรบ้าง วันนี้เรามาเรียนรู้กันครับ

การเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน (IPO)

ปกติแล้ว เวลาที่บริษัทต้องการที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจะต้องผ่านกระบวนการการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน หรือ IPO ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นใหม่ แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ของบริษัทที่ต้องการเงินทุน และกระจายการถือครองหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ถือครองหุ้น โดยจะทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่รับทำหน้าที่จัดจำหน่ายหลักทรัพย์

      ส่วนในเรื่องการยื่นคำขอออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนและการพิจารณาเอกสารประกอบการขอระดมทุน ในเบื้องต้นบริษัทจะต้องมีคุณสมบัติเข้าข่ายตามเกณฑ์การนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องมีผลการดำเนินงานในอดีต และมีการเตรียมบริษัทให้มีความพร้อมที่จะเข้าจดทะเบียน หลังจากนั้นก็ต้องทำงานกับที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ รวมทั้งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และขอยื่นคำขอนำหุ้นเข้าจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 เอกสารชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญมากในกระบวนการนี้ คือ หนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน ซึ่งเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริษัทให้นักลงทุนทราบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลที่มากพอในทุก ๆ ด้าน เพื่อใช้ในการประเมินว่าราคาที่เสนอขายนั้นมีความเหมาะสมกับมูลค่าของกิจการในอนาคตหรือไม่

 

การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ICO)

   แต่สำหรับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนนั้นจะแตกต่างกับ IPO ในหลาย ๆ ด้าน เช่น 

- ICO จะทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือ ICO Portal ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ICO Portal จะทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีคุณสมบัติตามที่กำหนด รวมถึงแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน

- ICO เปิดโอกาสให้ผู้ออกสามารถระดมทุนในโครงการใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือบริการใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องมีผลการดำเนินงานในอดีต และไม่จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน เพียงแค่มีเอกสารการประกอบการเสนอขาย หรือ whitepaper และสัญญาอัจฉริยะ หรือ smart contract ซึ่งระบุเงื่อนไข และข้อตกลงต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับ whitepaper

- และจากการที่เกณฑ์ในการเสนอขายที่ไม่เข้มงวดเท่า IPO การที่ผู้เสนอขายอาจจะไม่มีผลการดำเนินงานในอดีต (track record) รวมไปถึงไม่ได้มีมาตรฐานของเกณฑ์เดียวกัน จึงมีการกำหนดประเภทนักลงทุนให้เข้มงวดกว่าปกติ โดยอนุญาตให้นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่พิเศษ นิติบุคคลร่วมลงทุนหรือกิจการเงินร่วมลงทุน ลงทุนได้โดยไม่จำกัดจำนวน แต่นักลงทุนอื่น ๆ จะสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อโครงการ

ส่วน whitepaper เป็นเอกสารที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับหนังสือชี้ชวนที่นักลงทุนจะได้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ใด ๆ โดย whitepaper จะระบุข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัล ผู้ออกโทเคนดิจิทัล และวัตถุประสงค์การใช้เงิน รวมทั้งข้อมูลแผนธุรกิจและข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น ทั้งนี้ whitepaper ของแต่ละโทเคนดิจิทัล อาจจะมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน 

ขึ้นอยู่กับลักษณะของโทเคนดิจิทัล เช่น บางโทเคนอาจมีลักษณะเป็น Utility Token แบบพร้อมใช้ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือโทเคนนำมาแลกเป็นสินค้าหรือบริการตามที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ตกลงไว้ หรืออาจเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือโทเคนในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการและจะได้รับผลตอบแทนตามที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ตกลงไว้ หรือบางโทเคนอาจไม่มีการนำไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรอง เป็นต้น ดังนั้น ก่อนการลงทุน นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลใน whitepaper เพื่อให้รู้ถึงสิทธิของผู้ถือโทเคนและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

ถึงแม้ ICO จะนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับผู้ต้องการระดมทุน และอาจเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูง หากโครงการประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงกว่ามากด้วยเช่นกัน จนอาจจะถึงขั้นสูญเสียเงินต้นทั้งหมด นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนการลงทุน และใช้วิจารณญาณ และความรับผิดชอบในการลงทุน รวมถึงถึงลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้

 

หมายเหตุ :บทความนี้จัดทำขึ้นโดยผู้เขียน บนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่เชื่อว่า มีความน่าเชื่อถือ และ/หรือ มีความถูกต้อง และถือเป็นลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในข้อมูลบทความแต่อย่างใด