สถานะของ NFT ตามกฎหมายไทยคืออะไร?

สถานะของ NFT ตามกฎหมายไทยคืออะไร?

ตาม พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายรวมของสถาบันการเงินประเภทต่าง ๆ โดยในมาตรา 4 คำว่า “ธุรกิจสถาบันการเงิน” หมายความว่า “ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และให้มายความรวมถึงการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ”

คำว่า “ธุรกิจธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า “การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ก็คือธุรกิจเกี่ยวกับเงิน ซึ่งคำว่า “เงิน” เราได้เคยพูดถึงมาแล้วใน พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 ในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกเอกสารทิศทางและแนวนโยบาย (directional paper) เรื่อง “การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่มธนาคารพาณิชย์: แนวทางการกำกับและการบริหารความเสี่ยงต่อระบบการเงิน” ขึ้น เพื่อนำเสนอรายละเอียดของ (1) หลักคิดของการกำกับดูแล (2) เป้าหมายและแนวทางกำกับดูแล และ (3) ความคาดหวังจากแนวทางการกำกับดูแลโดยต้องการให้ระบบเศรษฐกิจการเงินได้รับประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พร้อมกันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออก “ร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)” ที่อนุญาตให้กลุ่ม ธพ. ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยขอรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณชนต่อร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 โปรดสังเกตว่า แนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทย มิได้มุ่งหมายจะให้สถาบันการเงินเช่น ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง แต่จะให้ทำผ่านบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์

“กลุ่มธุรกิจทางการเงิน” หมายความว่าอย่างไร? ในมาตรา 53 ของ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงินได้ให้ความหมายของ “กลุ่มธุรกิจทางการเงิน” ไว้ว่า“กลุ่มธุรกิจทางการเงิน” ประกอบด้วยสถาบันการเงินและบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือธุรกิจที่เป็นการสนับสนุนธุรกิจทางการเงินที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) กลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบด้วยสถาบันการเงินเป็นบริษัทแม่และมีบริษัทอื่นเป็นบริษัทลูกบริษัทเดียวหรือหลายบริษัท หรือ

(2) กลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบด้วยบริษัทแม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินแต่มีสถาบันการเงินเป็นบริษัทลูก โดยจะมีบริษัทลูกเพียงบริษัทเดียวหรือหลายบริษัทเป็นบริษัทร่วมก็ได้

กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ “กลุ่มธุรกิจทางการเงิน” ก็คือ บริษัทในเครือหรือบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจการเงิน ดังนั้น ตัวธนาคารพาณิชย์เองก็จะไม่สามารถประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ แต่สามารถประกอบธุรกิจผ่านบริษัทลูกได้

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะธนาคารพาณิชย์เกี่ยวข้องกับการรับเงินฝากของประชาชนโดยตรง การที่จะไปทำอะไรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินฝากตามหลักก็จะทำไม่ได้ แต่เพื่อไม่ให้เป็นการทำให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ก็จะทำได้โดยไปตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำธุรกิจนั้นแทน

อย่างไรก็ตามแต่ เพื่อป้องกันไม่ให้การประกอบธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการรับฝากเงินนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทลูกแล้วโยงมาถึงธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะต้องกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจให้กับบริษัทลูกด้วย