“ใครเป็นใคร บนรถไฟขบวนนั้น”

  “ใครเป็นใคร บนรถไฟขบวนนั้น”

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวน่าประทับใจของผู้หญิง 2 คน แพร่สะพัดในโลกออนไลน์

เป็นเรื่องของ “จิตรา” เด็กสาวชาวอินเดียผู้ยากจน แต่ชีวิตพลิกผัน เมื่อเธอขึ้นรถไฟโดยไม่มีเงินซื้อตั๋ว พอถูกจับได้ ก็มี “ครูผู้หญิง” คนหนึ่งในรถไฟขบวนนั้นช่วยซื้อตั๋วให้

เวลาผ่านไปนับสิบปี ครูคนนี้ ได้ไปบรรยายที่ซานฟรานซิสโก ขณะที่ครูจะจ่ายค่าอาหาร แคชเชียร์บอกว่ามีคนจ่ายเงินให้เรียบร้อยแล้ว เธอหันไปมอง จึงพบว่าผู้ที่จ่ายให้ก็คือ “จิตรา” นั่นเอง 

“จิตรา” บอกว่า นับจากวันที่พบกันบนรถไฟขบวนนั้น ชีวิตของเธอได้พลิกผันไปอย่างมาก ปัจจุบันเธอไม่ได้ชื่อจิตราแล้ว แต่เธอคือ “สุดา เมอร์ดี้” จาก อินโฟซิส 

ใครๆก็รู้ว่า “สุดา เมอร์ดี้” คือมหาเศรษฐี ประธานกรรมการมูลนิธิอินโฟซิส อินโฟซิส บริษัทไอทีที่ใหญ่สุดในอินเดีย และสามีของเธอคือ “นารายัน เมอร์ดี้” เป็นประธานของบริษัทนี้

“จิตรา” เด็กยากจน วันนี้กลายเป็นมหาเศรษฐี เธอขอบคุณครูที่ซื้อตั๋วให้เธอในวันนั้น และบอกว่าค่าอาหารที่จ่ายให้ครูในวันนี้ ช่างน้อยนัก เมื่อเทียบกับตั๋วรถไฟจาก “Mumbai to Bangalore” ที่ครูได้จ่ายให้เธอบนรถไฟขบวนนั้น 

เรื่องจบอย่างน่าประทับใจผู้อ่าน และ ผมก็ประทับใจเช่นกัน รู้สึกดีใจที่ชีวิตของจิตรา ไปไกลถึงขนาดนั้น แต่ผมก็อยากรู้ว่าเรื่องนี้ มีความจริงเพียงใด?

คำตอบสั้นๆคือ “จริง และ ไม่จริง” ครับ

“จริง” คือเรื่องราวบนรถไฟขบวนนั้น ได้เกิดขึ้นจริง แต่ที่ “ไม่จริง” ก็คือ “จิตรา” ไม่ได้ร่ำรวยในภายหลัง และกลายเป็นมหาเศรษฐี “สุดา เมอร์ดี้” 

สุดา เมอร์ดี้ ต่างหาก ที่เป็นผู้หญิงบนรถไฟขบวนนั้น และให้ความช่วยเหลือจิตรา

สรุปคือ เรื่องจริงนั้น... ตัวคนสลับกันครับ 

สุดา เมอร์ดี้ ตัวจริง เธอมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี เป็นบุตรสาวของศัลยแพทย์ มีพี่ชายเป็นนักดาราศาสตร์ชั้นนำ ตัวเธอเอง เป็นวิศวกรหญิงคนแรกของอินเดีย 

ใครที่ยังไม่รู้จักเธอ ขอบอกว่า สุดา เป็นผู้หญิงที่มีชื่อเสียงมาก เก่ง และ เอื้ออาทรต่อคนในสังคม เธอมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ บริษัทอินโฟซิส เติบโตและยิ่งใหญ่มาจนทุกวันนี้

สุดา ทุ่มเทกับงานช่วยเหลือสังคม อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ผ่านมูลนิธิที่เธอเป็นประธาน เธอเป็นผู้หญิงที่มากด้วยความสามารถ จิตใจดี และสังคมยกย่อง 

บุตรสาวแสนสวยของเธอ ก็แต่งงานกับ Rishi Sunak ซึ่งกำลังทำท่าว่าจะมีโอกาส ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอังกฤษ

ที่น่าทึ่งมากสำหรับผมก็คือ เธอเป็นนักเขียน ที่เขียนหนังสือไว้มากมาย ทั้งภาษาท้องถิ่น และ ภาษาอังกฤษ 

เพียงดูรายชื่อหนังสือภาษาอังกฤษที่เธอเขียน และจำนวนหนังสือที่เขียน ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า  เธอเอาเวลาที่ไหน มาเขียนหนังสือได้มากขนาดนี้

หนึ่งในหนังสือที่เธอเขียน มีชื่อว่า “The Day I Stopped Drinking Milk” ซึ่งเธอตั้งชื่อมาจาก ประสบการณ์ที่เธอได้เห็นครอบครัวชาวบ้านพยายามปันนมมาให้เธอดื่ม ทั้งๆที่ยังกังวลว่านมที่เหลือ จะเพียงพอให้ทารกน้อยในบ้านดื่มหรือไม่

จากวันนั้น เธอเลิกดื่มนมเลยครับ

หนังสือเล่มนี้ รวมเรื่องสั้นๆ ที่เธอเขียนจากเหตุการณ์ ที่เธอได้ประสบมาด้วยตัวเอง หรือ ได้สังเกตเห็น หรือ มีผู้เล่าให้เธอฟัง แล้วนำมาถ่ายทอดง่ายๆ โดยใช้สรรพนามว่า “I” 

เรื่องของจิตรานั้น สุดาก็เขียนถึงในหนังสือเล่มนี้ โดยใช้ชื่อเดียวกันว่า “Mumbai to Bangalor” แต่ในเล่มนี้ สุดา เป็นคนเล่าเรื่องเองนะครับ 

สาระสำคัญ คล้ายกับเวอร์ชั่นที่ส่งต่อๆกันทางออนไลน์นั่นแหละ แต่อย่างที่บอกแล้วว่า จิตรา ไม่ใช่ สุดา เพราะ สุดาคือผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ ซื้อตั๋วรถไฟให้จิตรา 

สุดาเล่าว่า เมื่อถึงบังกาลอร์ เธอพาจิตราขึ้นรถหรูที่ไปรอรับเธอ แล้วพาไปฝากไว้ที่ศูนย์ดูแลเยาวชน พร้อมทั้งให้ทุนการศึกษา จนจิตราเรียนจบ

จิตรา มีอาชีพการงาน และวันหนึ่งก็โทรศัพท์ไปอำลาเธอ บอกว่าจะไปทำงานที่ซานฟรานซิสโก เมื่อเวลาผ่านไปสิบกว่าปี สุดาได้ไปประชุมที่นั่น ขณะกำลังจะจ่ายเงินค่าโรงแรม เจ้าหน้าที่บอกว่า มีคนจ่ายเงินแทนเธอแล้ว

พอหันกลับไปดู สุดาเห็นผู้จ่ายเงินคือจิตรา ยืนคู่กับสามีชาวอเมริกัน แล้วจิตราก็โผเข้ามากอดเธอ ก้มลงสัมผัสเท้าของเธอ นั่นแหละครับ เรื่องราวจริงๆที่น่าประทับใจ

เวอร์ชั่นที่อยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ทราบว่าใครเขียน และการเปลี่ยนคนสลับกัน เจตนาเพื่อหักมุมจบให้น่าทึ่ง หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ผมเชื่อว่าสุดา เมอร์ดี้ คงไม่ติดใจอะไรหรอกครับ ที่เอาตัวเธอไปเป็นจิตราบนรถไฟขบวนนั้น 

ธอจิตใจดีงามออกอย่างนี้ และเวอร์ชั่นออนไลน์ ก็จบลงอย่างน่าประทับใจเช่นกัน ผมคิดว่าสุดา น่าจะดีใจด้วยซ้ำ ที่มีคนอ่านเรื่องนั้นมากมายและผู้อ่านรู้สึกดี... ถึงแม้ว่าจะสลับคนกันก็ตาม

สุดา เมอร์ดี้ มีทุกอย่างอยู่แล้ว เธอคงไม่ต้องออกมาเรียกร้องเครดิตอะไรจากเรื่องนี้หรอกครับ