สร้างเกราะป้องกันพอร์ตลงทุน ท่ามกลางสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน

สร้างเกราะป้องกันพอร์ตลงทุน ท่ามกลางสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน

ต้องยอมรับว่าปีนี้ถือเป็นปีเสือดุ ผ่านไปเพียงไม่ถึง 2 เดือน ตลาดการเงินทั่วโลกก็เผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดจากธนาคารกลาง เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นจนอาจบั่นทอนกำลังซื้อ

ตลอดจนความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีพัฒนาการทั้งด้านบวกและลบรายวัน ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ผันผวนเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ แต่รวมไปถึงค่าเงิน และสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันและทองคำด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องรัสเซียและยูเครน เราประเมินว่ามีโอกาสสูงที่ความขัดแย้งจะยืดเยื้อ การเจรจาจะไม่ประสบความสำเร็จ มีความรุนแรงปะทุขึ้นมาเป็นระยะๆ โดยล่าสุดปธน.ปูติน ของรัสเซียได้ประกาศรับรอง 2 พื้นที่กบฏแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครนให้เป็นรัฐอิสระ ทำให้นานาประเทศไม่พอใจ นำไปสู่การคว่ำบาตรรัสเซีย จากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร

โดยเบื้องต้นยังเป็นการออกมาตรการแบบพุ่งเป้าไปที่บางบริษัท หรือบางบุคคลเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นมาตรการคว่ำบาตรเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันประเทศเยอรมนีได้ระงับท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อนำส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรป

แต่ทั้งนี้เชื่อว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้างยังมีจำกัด เพราะ ขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียคิดเป็นเพียง 1.7% ของ GDP โลก หรือราว 1.48 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะน้อย แต่ด้วยความที่รัสเซียกุมปัจจัยสำคัญของโลกด้วยการเป็นผู้ผลิตทรัพยากรอย่าง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าโภคภัณฑ์ โดยรัสเซียส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปริมาณ 8.4% และ 6.2% ของการผลิตทั่วโลก

ซึ่งกลุ่มประเทศที่พึ่งพารัสเซียมากที่สุดก็คือยูโรโซน ที่นำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึงราว 25% และ 45% ของการนำเข้าทั้งหมด ดังนั้นหากมีการยกระดับความรุนแรงของมาตรการคว่ำบาตร ย่อมส่งผลต่อราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลต่อไปยังต้นทุนสินค้าต่างๆ ให้สูงขึ้น กดดันให้เงินเฟ้อโดยรวมที่สูงอยู่แล้วให้สูงขึ้นไปอีก

เงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็จะส่งต่อมายังอีกหนึ่งประเด็นความเสี่ยง นั่นก็คือ การดำเนินนโยบายเข้มงวดจากธนาคารกลางหลักทั่วโลกดยในตอนนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้มากถึง 6-7 ครั้งในปีนี้ ไม่เพียงแค่นั้น ด้านธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ที่ก่อนหน้านี้เคยยืนยันหนักแน่นว่าจะดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายตลอดทั้งปี แต่ตอนนี้คณะกรรมการ ECB บางท่านได้เริ่มออกมาสื่อสารว่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงปลายปีนี้

ท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนรอบด้านเช่นนี้ การกลับไปใช้หลักการพื้นฐานของการลงทุน นั่นก็คือการกระจายความเสี่ยงในหลายๆ สินทรัพย์ยังคงเป็นคำตอบ เพราะเชื่อว่าในทุกๆ สถานการณ์ย่อมมีทั้งผู้ชนะ และผู้แพ้ โดยตั้งแต่ต้นปีสินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ซึ่งสินทรัพย์ที่ยังไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น Cryptocurrency หรือหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่ยังไม่มีกำไร

ในทางตรงข้ามผู้ชนะเป็นหุ้นกลุ่ม Cyclical อย่างกลุ่มพลังงานที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และหุ้นกลุ่มการเงินที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น นอกจากนั้นสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ และสกุลเงินเยนก็ปรับเพิ่มขึ้นได้ดีท่ามกลางความเสี่ยงที่ปะทุขึ้น

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสมกับภาวะตลาดช่วงนี้ไม่ใช่พิจารณาตามเงินลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยหลักการจัดสรรเงินลงทุนแบบคำนึงถึงความเสี่ยง หรือ Risk-based allocation นั่นหมายความว่าถ้าหากกำหนดให้สัดส่วนความเสี่ยงแต่ละสินทรัพย์เท่าๆ กัน สินทรัพย์ใดมีความเสี่ยงสูงกว่า ก็จะได้รับการจัดสรรเงินลงทุนที่น้อยกว่า ควบคู่กับไปกับการกำหนดค่าความเสี่ยงสูงสุดที่รับได้ ถือเป็นเกราะป้องกันพอร์ตลงทุนให้ไม่มีความผันผวนสูงเกินไปเพื่อลดโอกาสในการสูญเสียเงินต้น และนอกจากนั้นยังสามารถเสริมเกราะป้องกันอีกหนึ่งชั้น ด้วยการลงทุนในดัชนีความผันผวน หรือ VIX Index เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในยามที่ความผันผวนสูงขึ้น

คาดว่าต่อจากนี้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและนานาประเทศจะยังคงมีอยู่และอาจทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นนักลงทุนควรสร้างเกราะป้องกันให้พอร์ตด้วยการกระจายเงินลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ ผ่านหลักการจัดสรรเงินลงทุนแบบคำนึงถึงความเสี่ยง เพราะนอกจากจะลดความผันผวนแล้ว ยังเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวอีกด้วย