ATK…ใบเบิกทางของธุรกิจยุค Next Normal

ATK…ใบเบิกทางของธุรกิจยุค Next Normal

“ดร.รักษ์ เล่าเรื่อง” ฉบับนี้ถือเป็นฉบับปฐมฤกษ์ของปี 2565 ผมจึงขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ขอให้ทุกท่านประสบความสุข สุขภาพแข็งแรง และสามารถฟันฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปพร้อม ๆ กันนะครับ

 ปี 2565 ความหวังน่าจะเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่หลายฝ่ายคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ 3-4% แม้ปัจจุบันจะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ OMICRON แต่หากไม่มีการล็อกดาวน์ในวงกว้าง ผมเห็นว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจน่าจะน้อยกว่าการระบาดของสายพันธุ์ DELTA ในปีก่อน นอกจากนี้ การที่ประชาชนและภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวอยู่ร่วมกับ COVID-19 ได้ดีขึ้นก็ถือเป็น Soft Power ที่ช่วยให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้

โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราเปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้าที่จะอยู่ร่วมกับ COVID-19 ได้มากขึ้นคงหนีไม่พ้นชุดตรวจ COVID-19 ด้วยตนเอง หรือ “ATK” โดยปัจจุบันก่อนที่เราจะทำกิจกรรมอะไร ไม่ว่าจะไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน หรือติดต่อธุรกิจก็ต้องตรวจ ATK ก่อน จน ATK แทบกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตยุค COVID-19 และหากจะเปรียบแนวทางหรือ Mindset ในการดำเนินธุรกิจเพื่อต่อสู้กับความท้าทายใหม่ ๆ ในระยะถัดไป

ผมเห็นว่ามีความสอดคล้องกับตัวอักษร A.T.K.  เช่นกัน ดังนี้

   Awake…ตื่นให้เร็วเพื่อเกาะรถด่วนขบวนสุดท้าย ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายแล้วที่ผู้ประกอบการจะมีโอกาสเข้าถึงอัตราดอกเบี้ยที่ถูกที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 3-4 ครั้งในปีนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินทั่วโลกทยอยเข้าสู่ขาขึ้นอย่างเต็มตัวในระยะถัดไป

ดังนั้น ในปีนี้จึงถือเป็นจังหวะที่ดีของผู้ประกอบการในการลงทุนเพื่อขยายกิจการ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหา Supply Chain Disruption โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานและปัญหาคอขวดในการผลิต นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพยังถือเป็นโอกาสดีในการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงผ่านการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) ในธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งการทำ M&A ถือเป็นกลยุทธ์สุดฮิตในยุคนี้ก็ว่าได้ สะท้อนได้จากมูลค่า M&A ของโลกปี 2564 ที่มีกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์  

 

 

 Take Off…ก้าวให้ไวเพื่อกระโดดสู่เวทีโลก แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีสัญญาณดีขึ้น แต่ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรัง ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ประสบปัญหา Double Trouble ใน 2 มิติ
 

1. สังคมผู้สูงอายุ ปี 2565 จะเป็นปีแรกที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีสัดส่วนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% และคาดว่าอีก 9 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Hyper-Aged Society) ซึ่งเร็วกว่าญี่ปุ่นที่ใช้เวลาถึง 11 ปี

2. หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ต่อ GDP สูงสุดในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้กำลังซื้อในประเทศเริ่มอิ่มตัว สวนทางกับตลาดเกิดใหม่หลายแห่งที่กำลังซื้อจะกลับมาเปรี้ยงปร้างจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้เร็ว และคนหนุ่มสาวที่มีจำนวนมาก อาทิ เอเชียใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย ภาพดังกล่าวสะท้อนว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ต้องออกไปลุยตลาดโลก ปีที่แล้ว สสว. คาดว่ามูลค่าส่งออกของ SMEs จะขยายตัวได้ถึง 31-32%
     สูงกว่ามูลค่าส่งออกรวมที่คาดว่าจะขยายตัว 16% ขณะที่ปี 2565 ก็คาดว่ามูลค่าส่งออกของ SMEs จะยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 6-8% เห็นตัวเลขดังกล่าวแล้วผมแอบหวังว่าผู้ประกอบการ SMEs ของไทยที่เหลืออีก 99% ที่ยังขายอยู่แต่ในประเทศจะอยากก้าวออกไปคว้าโอกาสเหมือนเพื่อน ๆ SMEs 1% ที่เป็นทัพหน้าออกไปก่อนหน้านี้กันบ้างนะครับ

Keep Up-to-date…ตามให้ทันเทรนด์โลก Megatrends ที่ผมพูดถึงมาโดยตลอดอย่าง Green, Digital, Health (GDH) จะเกิดเร็วขึ้นในปีนี้ สิ่งที่ท่านผู้อ่านเห็นในภาพยนตร์และไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ได้ปรากฏให้เห็นผ่านตัวเร่งในหลายมิติ อย่างกระแส Green ที่ถูกเร่งผ่านภัยธรรมชาติที่เป็นข่าวกันรายวัน ความร่วมมือที่ชัดเจนมากขึ้นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties : COP26) ตลอดจนภาษีคาร์บอนที่จะถูกเริ่มนำมาใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว มีส่วนเร่งให้สินค้า Green ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อาทิ รถยนต์ EV, Plant-based Food กระแส Digital ที่จะไม่ใช่แค่การเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับชีวิตจริง แต่จะเป็นการเชื่อมโยงกับโลกเสมือนหรือ Metaverse ที่จะกลายมาเป็นเทคโนโลยีภาคต่อของ Social Media เราอาจเห็นตัวการ์ตูนตัวเองเข้าไปอยู่ในห้องประชุมหรือเข้าไปซื้อสินค้าใน Virtual Mall มากขึ้น กระแส Health ที่ถูกเร่งผ่าน COVID-19 จะยังมีต่อไปและเป็นรูปธรรมมากขึ้นผ่านมาตรการของประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่จะใช้ฉลากอาหารเพื่อแสดงปริมาณสารอาหารที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพตามสีไฟจราจรโดยสมัครใจตั้งแต่ปี 2565

            ท่ามกลางวิกฤตและความท้าทายที่เกิดขึ้น ธุรกิจที่จะอยู่รอดอาจไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจที่พร้อมทุกด้าน แต่ต้องเป็นธุรกิจที่ปรับตัวไว และกล้าที่จะเป็น First Mover ดังคำกล่าวของ Martin Luther King Jr. ที่ว่า “You don’t have to see the whole staircase. Just take the first step,” (คุณไม่จำเป็นต้องเห็นบันไดทั้งหมด แค่กล้าเริ่มก้าวแรกก่อน) รีบมาคว้าโอกาสจากดอกเบี้ยต่ำ ตลาดโลกที่โตกว่า และเกาะไปกับเทรนด์แห่งอนาคตด้วยกันนะครับ 

Disclaimer: คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK