กลไกของการเปลี่ยนแปลง (จบ)

กลไกของการเปลี่ยนแปลง (จบ)

คนที่เข้าใจในธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงจะมีโอกาสมากกว่าผู้อื่นเสมอ

เพราะความไม่แน่นอนคือความแน่นอนที่สุด ผลกระทบจากความไม่แน่นอนก็คือการเปลี่ยนแปลงที่ผมเคยย้ำใน “Think out of The Box ” มานานนับสิบปี ซึ่งคำพูดดังกล่าวดูจะเป็นจริงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นฉับพลันและรุนแรงมากจนหลายคนตั้งตัวไม่ถูก

ถ้าตระหนักได้แล้วว่าเราไม่มีทางเลือกใดๆ นอกจากต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เราก็ต้องทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งนั้นมีจุดเริ่มต้นและมีจุดสิ้นสุดเสมอ หากเราเคยสะดุดล้มลงในบางครั้งของการเปลี่ยนแปลง เราก็อาจกลับมาประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงครั้งหน้าได้เสมอ

และการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งนำมาซึ่งความยากลำบากในการปรับตัวเสมอ นั่นคือชีวิตของเราต้องเจอปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องปกติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทั้งสองข้อนี้ได้เกริ่นไว้ในบทความของฉบับวันอังคารที่แล้ว

ต่อกันในประเด็นที่สามคือ ไม่ว่าจะวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีแค่ไหนก็อาจปรับตัวไม่ทันกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น การปรับธุรกิจให้ทันกับโครงข่ายสื่อสายไร้สายที่ผ่านมาจากยุค 4จีได้ไม่ทันไรก็เข้าสู่ยุค 5จี แล้ว

นั่นหมายถึงระบบเดิมที่เคยวางแผนไว้อาจต้องปรับใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นไอโอที, บิ๊กดาต้า, เอไอ ที่ได้อานิสงส์จากเครือข่าย 5จี อย่างเต็มที่ และยังไม่ทันที่เราจะขยับตัวได้เท่าไรโลกก็ดูเหมือนจะมองยังอนาคตของเครือข่าย 6จี กันแล้ว

ข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอาจทำให้เราลังเล จนไม่กล้าลงทุนในระบบใหม่เพราะเห็นว่า อีกไม่นานเทคโนโลยีก็ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกแล้ว 

ดูจากการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายของยักษ์ใหญ่ในซีกอเมริกากับยุโรปที่ต้านทานจีนอย่างเต็มที่ทำให้มองไม่ออกว่ามาตรฐานในอนาคตจะอิงตามเทคโนโลยีจากประเทศใด

แผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดก็คือ การปรับเปลี่ยนแผนงานได้อยู่เสมอ นั่นคือต้องมีแผนที่ยืดหยุ่นพอที่จะปรับตัวไปตามสถานการณ์ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปทางไหน หรือมาตรฐานจะปรับไปอย่างไร เราก็ยังปรับแผนตามได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ

ประการที่สี่ การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทำให้เราไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรอีกต่อไป เพราะมิตรในวันนี้อาจกลายเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวได้เสมอ เช่นเดียวกับศัตรูในอดีตที่อาจเป็นพันธมิตรช่วยเราฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคในอนาคตก็เป็นไปได้

ในเวทีระดับโลกเราก็จะเห็นเรื่องนี้เป็นปกติ เช่น บทบาทของสหรัฐกับรัสเซียและจีนที่สลับกันเป็นพันธมิตรและศัตรูอยู่เสมอตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายได้รับ หากเป็นธุรกิจก็อาจต้องดูที่สังคมและประเทศชาติด้วยว่าพันธมิตรแต่ละรายช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคมได้มากน้อยเพียงใด

ประการที่ห้าการเปลี่ยนแปลงไม่สนใจความเท่าเทียมหรือความยุติธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นต่อให้เป็นพี่น้องเติบโตตามกันมาก็ยังไม่เหมือนกัน บางคนสูง บางคนเตี้ย บางคนเก่ง บางคนไม่เก่ง คนที่ได้โอกาสจากความพยายามล้วนต้องเป็นคนที่พยายามมากกว่าคนอื่นทั้งนั้น

และโอกาสก็มักจะตกเป็นของคนที่มีเนื้อหาสาระในตัวเอง และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงมองเห็นว่าตัวเองจะเข้าไปมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างไร ซึ่งคนที่เข้าใจในธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงก็มีจะมีโอกาสมากกว่าผู้อื่นเสมอ