ถัดจากโอมิครอน น่าจะเป็น “น้องพาย”

ถัดจากโอมิครอน น่าจะเป็น “น้องพาย”

ขณะที่ โอมิครอน กำลังระบาดหนัก ไวรัสกลายพันธ์ตัวใหม่ ได้ปรากฏตัวขึ้นแล้ว เธอมีชื่อว่า “B.1.640.2” หรือ “IHU” และถ้าหากอาละวาดมากยิ่งขึ้น วันหนึ่งก็อาจจะได้ชื่อใหม่ว่า“น้องพาย”

สายพันธุ์นี้ ถูกค้นพบใน ปารีส เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เมื่อชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ซึ่งไปประเทศคาเมรูนแล้วติดเชื้อกลับมาขณะนี้มีผู้ติดเชื้อในฝรั่งเศส 12 คน เมื่อรวมกับประเทศอื่นๆแล้วมีผู้ติดเชื้อเพียง21คนเท่านั้น 

ถือว่ายังมีผู้ติดเชื้อน้อยมากและนักวิทยาศาสตร์ คงเฝ้าดูพัฒนาการของ IHU ต่อไปเพราะยังไม่ถึงขั้นเป็นสายพันธุ์ที่“น่าสนใจ” (Variant of Interest) หรือ“น่ากังวล” (Variant of Concern)ในความหมายของ WHO

ที่เรียกสายพันธุ์นี้ว่า IHUก็เพราะสถาบัน IHUของฝรั่งเศส เป็นผู้รายงานเรื่องนี้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม นี้

บางรายงานบอกว่า เจ้า IHU ถูกค้นพบก่อน Omicron เล็กน้อยด้วยซ้ำไป แต่ Omicron ออกอาละวาดก่อนอย่างจริงจัง WHO เลยตั้งชื่อให้ส่วนIHUยังอยู่ในขั้นที่เรียกว่า “ระยะเฝ้าดู" (Variant under Monitoring) เท่านั้น

ผมบอกไว้ในบทความครั้งก่อน(https:// www. bangkokbiznews. com/blogs/columnist/976553)ว่า  WHO ตั้งชื่อสายพันธุ์ต่างๆ ตามลำดับอักษรกรีก ซึ่งขณะนี้มาถึงลำดับที่ 15 คือโอมิครอนแล้ว  ถัดไป ลำดับที่ 16 ก็จะเป็น “pi”

ออกเสียงว่า “พาย”แบบเดียวกับ “pie”ครับ

ครั้งที่แล้ว มีประเด็นว่าWHO ได้ข้ามตัวอักษรกรีกไป 2 ตัวคือ Nu ที่อ่านว่า “New” เพราะกลัวว่าผู้คนจะตื่นตระหนก และยังข้าม Xi ตัวถัดไป เพราะกลัวกระทบ Xi Jinping

สมมติว่า ไวรัส IHUพัฒนาไปจนถึงระดับ “น่าติดตาม” (Variant of Interest) และ WHO ตั้งชื่อว่า “pi”...จะมีประเด็นอะไรหรือไม่?

ผมว่าไม่น่าจะมีนะครับ เพราะ พาย ฟังดูอร่อยออก ถ้าเป็นภาษาไทยก็มีเพียง 2 ความหมาย คือพาย ที่เป็นเครื่องมือสำหรับพุ้ยน้ำ เพื่อให้เรือเคลื่อนที่ และ พายที่เอาไว้กวนขนมให้อร่อย 

ทั้งสองความหมายไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ที่ WHO เขาต้องคำนึงถึงมีนับร้อยๆประเทศเราก็ไม่รู้ว่าชื่อว่า “พาย”จะไปกระทบผู้นำ หรือวัฒนธรรมประเทศไหน บ้างหรือไม่

งั้นวันนี้ เรามาคุยกันว่า “pi” มีความหมายอย่างไร ดีไหมครับ? 

ในทางคณิตศาสตร์ pi มีค่าชัดเจน ถ้าวาดวงกลมวงหนึ่งแล้ววัดความยาวของเส้นรอบวงและความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลาง

เอาความยาวเส้นรอบวงเป็นตัวตั้ง เอาความยาวเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นตัวหารคำตอบที่คุณจะได้แน่ๆ และเท่ากันเสมอ (ไม่ว่าวงกลมของคุณจะใหญ่ หรือเล็ก) ก็คือ 3.141592653589793238 

ถ้าอยากรู้ว่าเส้นรอบวงของโลกยาวเท่าใด และเรารู้ความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลางโลก เราก็คำนวณเส้นรอบวงได้ง่ายๆ ด้วยการคูณเส้นผ่าศูนย์กลางด้วย 3.1415926535...

แล้วเราจะรู้ความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลางโลกได้อย่างไรล่ะครับเออจริงนะ จะเอาสายวัดอะไรมาวัดล่ะ?แต่สมัยนี้ไม่ยากแล้วครับ ถามอาจารย์กู กดปุ๊บรู้ปั๊บ ไม่ต้องพึ่งพาพาย...เลย 

เอาเป็นว่าถ้าเลือกได้ เราอยากให้ไวรัสจบลงที่โอมิครอน แต่ถ้าโชคร้ายมี น้องพายตามมาแล้วเลยไปถึง ซิกม่าหรือ โอเมก้า แบบนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกคงสาหัสสากรรจ์อีกนาน

พูดถึง “พาย” ผมว่าโดยทั่วไปความหมายในภาษาไทยของเราดีนะครับออกเสียงสบายๆไม่ว่าจะพายเรือ หรือพายกวนขนม ผลออกมาก็ล้วนเป็นบวก 

ถ้าเรามีพายไว้พายเรือ เราก็พายกันจนถึงเป้าหมาย คนพายและคนโดยสารได้ขึ้นฝั่ง ส่วนพายที่กวนขนม ก็จะได้ขนมอร่อย กลิ่นหอมหวนชวนรับประทาน

แต่ใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะถ้าพายไม่เป็นเรือก็วนเวียนอยู่แถวนั้นไปไหนไม่ได้สักทีหรือกวนไม่เป็นขนมก็ใหม้ที่ก้นกระทะ ไม่หอมหวนชวนทาน

เฉกเช่นการบริหารองค์กรหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งบริหารประเทศเราพยายามจะไปข้างหน้าด้วยการพายไปสู่เป้าหมายแต่บางครั้งกระแสน้ำเชี่ยวกรากไปลำบากยิ่งนัก

บางครั้งผักตบชวาลอยมาจากไหนก็ไม่รู้พายแทบตายเรือก็ขยับไปได้ยากเหมือนยามนี้ที่โคโรน่าไวรัสกระหน่ำทั่วโลกลุงตู่ของเรา หาทางพายไปทางไหนก็ยากไปหมด

นำเรือออกท้องทะเล ย่อมมีโอกาสเจอคลื่นลมและมรสุม บริหารประเทศหรือองค์กร ย่อมต้องพบแรงต้านต่างๆเป็นธรรมดา แต่ที่สำคัญก็คือ ฝีพายในเรือ อย่าต้านกันเองก็แล้วกัน

เพราะถ้าเป็นแบบนั้นนาวาก็จะไปข้างหน้าไม่ได้ เหมือนนาวาสยามของเราที่ฝีพายรวมตัวกันมาจากค่ายต่างๆ แม้จะพูดว่า “ลงเรือลำเดียวกัน”แต่บางทีก็ไม่ได้พายในจังหวะ หรือทิศทางเดียวกัน จึงไปได้ช้า วนไปวนมา ไม่ถึงไหนสักที 

แต่บางทีเราเจอร้ายกว่านั้นเสียอีก คือ“มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ…..”

แบบนั้น ล่มทั้งลำ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วและเมื่อไม่กี่เดือนนี้เรือลุงตู่ก็เกือบล่มเหมือนกัน

ครั้งต่อไป ฝีพายทั้งหลายจะเป็นใคร เลือกให้ดีนะครับ อย่าเอาพวกประวัติไม่ดี หรือพวกที่ก้าวร้าวในสภา หรือที่หาแสงไปวันๆ เข้ามาอีกเลย 

พวกนี้ เป็นพวกพายเหมือนกัน คือ “ไม่เป็นโล้เป็นพาย”ครับ