5 คำถามชวนคิด สำหรับเศรษฐกิจโลกและการลงทุนปีหน้า

5 คำถามชวนคิด สำหรับเศรษฐกิจโลกและการลงทุนปีหน้า

หลังจากพยายามสื่อสารเรื่องความ “ชั่วคราว” ของแรงกดดันเงินเฟ้อมาตลอด ในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องชั่วคราวที่เกิดจากแรงดันของอุปทาน (Supply Push) เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

แต่มีส่วนของอุปสงค์หรือความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภค (Demand Pull) รวมถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation Expectation) เข้ามามีส่วนด้วย โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดในสัปดาห์ก่อน คณะกรรมการปรับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ขึ้นเป็น 3 ครั้งในปี 2565 และ 2 ครั้งในปี 2566 และอีก 2 ครั้งในปี 2567

ในขณะที่จากเดิม คณะกรรมการส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นจำนวน 2 ครั้งในปี 2565 เท่านั้น โดยแม้ตลาดการเงินจะตอบรับค่อนข้างดีภายหลังการประชุม เนื่องจากมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ และลดความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินลง อย่างไรก็ตามยังคงเร็วเกินไปนักที่จะสรุปได้ว่าการเร่งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าจะส่งผลดีต่อตลาดการเงิน

รวมกับประเด็นในด้านอื่นๆ วันนี้เรามาลองไล่เรียง 5 คำถามสำคัญที่จะกำหนดแนวโน้มตลาดการเงินในปีหน้ากันครับ

1. ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานจะลดลงเมื่อไร

การขาดแคลนกำลังการผลิต แรงงานและวัตถุดิบต่างๆ ส่งผลให้เกิดคอขวดในกระบวนการผลิต ยังคงไม่มีทีท่าจะหมดไปง่ายๆ ฝั่งผู้ผลิตเมื่อตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวก็เริ่มมีการเพิ่มระดับของสินค้าคงคลังมากขึ้น ทำให้กระบวนการผลิตสินค้าบางชนิดยังคงมีความเปราะบาง และปัญหายังคงไม่ทุเลาลง เสริมด้วยอุปสงค์คงค้าง (Pent-up Demand) ที่ก่อให้เกิดการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ล่าสุดทางผู้บริหารของ Intel บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ก็ออกมายอมรับว่าปัญหาการขาดแคลนชิบอาจจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย โดยหากปัญหาดังกล่าวยังคงมีอยู่ แน่นอนว่าแรงกดดันเงินเฟ้อก็คงไม่ชะลอง่ายๆ ในช่วงหลายเดือนหลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อในส่วนของต้นทุนวัตถุดิบของกลุ่มประเทศหลัก (Global Manufacturing PMI Input Price) ก็ยังคงทรงตัวในระดับสูง และเป็นตัวสะท้อนว่ากลุ่มผู้ผลิตเองก็ยังคาดว่าราคาต้นทุนวัตถุดิบยังน่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงต้นทุนการขนส่งต่างๆ ที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ในขณะที่การขยายกำลังการผลิตต้องอาศัยระยะเวลาและอาจไม่สามารถทำได้รวดเร็วนัก ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ยังคงสร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดการเงิน

2. แรงกดดันเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงเร็วแค่ไหน

สถานะการณ์แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงไม่ชะลอตัวลงง่ายๆ ในกลุ่มประเทศหลัก ซึ่งหากแรงกดดันเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง นอกเหนือจากกำลังซื้อของคนที่ถดถอย ลดการใช้จ่าย เพิ่มต้นทุนให้กับภาคธุรกิจแล้ว ยังก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องของนโยบายการเงินและส่งผ่านไปยังตลาดการเงินในท้ายที่สุด ในปัจจุบันหลายฝ่ายคาดกันว่าเงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในครึ่งหลังปี 2022 ส่วนหนึ่งมากจากปัจจัยเรื่องปีฐานและปัญหาคอขวดที่น่าจะทุเลาลง แต่ก็ยังน่าจะเร็วเกินไปที่จะคาดว่าจะชอลอตัวลงแต่ๆ ล่าสุดทาง Goldman Sachs เผยราคาน้ำมันน่าจะทรงตัวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย จากความต้องการใช้น้ำมันที่ยังคงสูงต่อเนื่อง ซึ่งก็น่าจะทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มไม่ชะลอตัวลงง่ายนัก

3. การปรับท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจและตลาดเงิน

การลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปยังนโยบายการเงินแบบตึงตัวในปีหน้าย่อมส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินอย่างแน่นอน แม้การปรับครั้งล่าสุดจะเป็นถอนคันเร่งให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ตลาดคาดไว้ และยืนยันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้ดำเนินนโยบายการเงินที่ล่าช้า (Behind-the-Curve) แต่การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยและสภาพคล่องที่ลดลงย่อมส่งผลต่อสภาพคล่องในตลาดและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นก็อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งไม่ว่าจะในกรณีใดผลลบต่อตลาดการเงินน่าจะมีขึ้นอยู่กับว่าจะมากหรือน้อย และนักลงทุนปรับตัวได้ทันหรือไม่

4. ผลกระทบของการลดความผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีมากแค่ไหนกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

แม้แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยจะยังมีความแตกต่างกันบ้างในกลุ่มประเทศหลัก โดยสหรัฐฯ และอังกฤษลดความผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงชัดเจน สิ่งที่อาจจะทำให้เกิดความกังวลคือผลกระทบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่วัฏจักรเศรษฐกิจยังตามหลังกลุ่มประเทศหลักอยู่ เนื่องจากความล่าช้าของการฉีดวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา ต้นทุนทางการเงินมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก และหากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ย่อมได้รับผลกระทบในเชิงลบเป็นอย่างมาก

5. เงินทุนเคลื่อนย้ายจะไปในทิศทางใด

เงินทุนส่วนใหญ่มักจะเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงทั้งในเรื่องของดอกเบี้ย หรือการลงทุนในตลาดเงินอื่นๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ นับตั้งแต่กลางปี 2020 เป็นต้นมา ประเทศที่ดูเหมือนจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ คือ สหรัฐฯ โดยเฉพาะเงินที่ไหลไปลงทุนในพันธบัตร ในกลุ่มหุ้นเติบโต และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างๆ แต่ในปีหน้าแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่มูลค่าของสินทรัพย์เริ่มลดความน่าสนใจลง ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีภูมิต้านทานต่อวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยและแรงกดดันเงินเฟ้อน้อย รวมถึงหุ้นที่มูลค่าอาจจะแพงขึ้นโดยอัตโนมัติหากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเริ่มชะลอลง หรือหากเงินทุนเคลื่อนย้ายจะหันมาลงทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็อาจจะก่อให้เกิดความผันผวนได้ โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมยังคงเปราะบาง และการส่งผ่านของผลกระทบของต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในกลุ่มประเทศหลักก็ยังไม่ชัดเจนนักในปัจจุบัน ดังนั้นในภาพรวมปีหน้าน่าจะเป็นปีที่มีความผันผวนค่อนข้างมากในส่วนนี้ และยังคงต้องระมัดระวังกันต่อเนื่องครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด