Crypto กับการกำกับดูแล

Crypto กับการกำกับดูแล

ในระยะหลัง หน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศโลกเสรี เริ่มแสดงท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับ Crypto Currency รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ

 โดยล่าสุด Binance ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคริปโตที่มีมูลค่าซื้อขายต่อวันสูงที่สุดในโลก ได้ตัดสินใจยุติการให้บริการแพลตฟอร์มการซื้อขายคริปโตในประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัทได้แจ้งว่าจะถอนคำขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และปิดการให้บริการในสิงคโปร์ลงโดยสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

      ซึ่งคาดว่าการตัดสินใจครั้งนี้ น่าจะมีผลมาจากการที่หน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore -MAS) ได้สั่งให้ Binance Singapore ยุติการโอนคริปโตระหว่างแพลตฟอร์มของสิงคโปร์กับแพลตฟอร์มของ binance.com เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ว่าการดำเนินงานของบริษัทนั้นอาจละเมิดกฎหมายของสิงคโปร์

ในเวลาใกล้เคียงกันรองผู้ว่าการธนาคารกลางของอังกฤษก็ออกมาย้ำว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของคริปโตนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพกับระบบการเงินของประเทศได้ แม้ว่าความเสี่ยงดังกล่าวในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่จำกัดก็ตาม

         และเมื่อย้อนกลับไปที่ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯก็ได้ออกแถลงการณ์ว่า ในปี 2022 ที่จะมาถึงนี้ หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯได้มีแผนที่จะให้ความชัดเจนที่มากขึ้น ว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการ มีอะไรบ้างที่ทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงความคาดหวังของหน่วยงานกำกับในด้านความปลอดภัย ระดับการคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึงการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบในปัจจุบันที่เกี่ยวเนื่องกับ การเก็บรักษาคริปโต การอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของธนาคารในการซื้อขายคริปโต การใช้คริปโตเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการปล่อยกู้ การออก และแจกจ่าย Stablecoins (เหรียญที่มีมูลค่าผูกติดกับเงินที่ใช้อยู่ในระบบ) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการถือคริปโตของธนาคาร

       แม้ว่าประธานธนาคารกลางสหรัฐฯจะแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะไม่ประกาศให้คริปโตเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่จากคำแถลงข้างต้นก็มีแนวโน้มสูงว่าธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตโดยสถาบันการเงินนั้นน่าจะถูกจำกัดขอบเขตอย่างแน่นอน

   การออกมาสกัดดาวรุ่งของหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศต่างๆในโลกเสรีนี้ไม่เข้าขั้นโหดเหมือนจีน ที่หน่วยงานกำกับดูแลตั้งแต่ธนาคารกลาง หน่วยงานกำกับสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ และการแลกเปลี่ยนเงินตรา จับมือกันขุดรากถอนโคนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโต โดยสั่งห้ามสถาบันการเงินทุกประเภทรวมถึง Alipay และ WeChat Pay ให้บริการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายคริปโตโดยเด็ดขาด รวมถึงห้ามการขุดเหรียญคริปโตด้วย ส่งผลให้กิจกรรมการขุดเหรียญที่จีนเคยครองแชมป์มาโดยตลอด ลดลงเป็นศูนย์ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา (ที่มา: the Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index (CBECI))

แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกจะเริ่มมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อคริปโต แต่นักลงทุนก็ยังคงแห่แหนเข้ามาลงทุนในคริปโตอย่างต่อเนื่อง ขนาดที่ว่า Jamie Dimon ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคาร JPMorgan Chase ซึ่งมีจุดยืนที่ต่อต้านการลงทุนในคริปโตมาโดยตลอด แต่ธนาคารกลับเปิดบริการให้ลูกค้ากลุ่ม Wealth สามารถลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในคริปโตได้เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขากลืนน้ำลายแต่อย่างใด เพราะเขายังคงความเห็นเดิมว่า bitcoin (คริปโตสกุลหนึ่ง) นั้น “ไม่มีมูลค่าที่แท้จริง” และ “ผมเชื่อมาโดยตลอดว่ามันจะต้องถูกทำให้เป็นของผิดกฎหมายในบางแห่ง อย่างที่ประเทศจีนได้ทำไปแล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ทองปลอมก็เท่านั้น” ส่วนเหตุผลที่ธนาคารอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการลงทุนในคริปโตนั้น เขามองว่า “ลูกค้าของธนาคารเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว พวกเขาไม่เห็นด้วยกับผม ซึ่งนั่นถึงทำให้ตลาดเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าลูกค้าเหล่านี้ต้องการช่องทางที่จะลงทุนใน bitcoin ให้กับตนเอง แม้ว่าธนาคารจะไม่สามารถเก็บรักษาทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับลูกค้า แต่สามารถให้มีช่องทางการลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และสะอาดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้กับลูกค้าได้”

ดังนั้น หากนักลงทุนสนใจที่จะลงทุน ควรที่จะกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์พร้อมกันไปด้วย ก็จะเป็นการดีไม่น้อย