ESG Rating การจัดอันดับองค์กรที่สะท้อนเป้าหมายความยั่งยืน

ESG Rating การจัดอันดับองค์กรที่สะท้อนเป้าหมายความยั่งยืน

สวัสดีครับ ในปัจจุบันหลายท่านคงเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า การดำเนินงานธุรกิจอย่างยั่งยืนในมิติของ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, Governance

และเป็นที่ทราบกันดีว่าแนวคิดด้าน ESG นี้ ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดสวยหรูเพื่อสร้างภาพพจน์องค์กรให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ได้กลายเป็นกระแสหลักของโลกไปในชั่วระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก  บรรดาองค์กรใหญ่ระดับบรรษัทข้ามชาติต่างพยายามแสดงบทบาทผู้นำด้วยความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนผ่านมุมมองด้าน ESG

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ESG เป็นแนวคิดที่บริษัทและองค์กรต่างๆ ไม่สามารถมองข้ามได้คือ ความคาดหวังจากนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่ไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะผลการดำเนินงานทางการเงินเท่านั้น แต่ยังได้ให้ความสำคัญโดยนำประเด็นด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบเกณฑ์การพิจารณาลงทุนในบริษัทต่างๆ  

สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการลงทุนอย่างยั่งยืนของธุรกิจเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จากพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมทั้งค่านิยมทางสังคม ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของแต่ละอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนอย่างยั่งยืนได้รับความสนใจจากจากนักลงทุนสถาบันเป็นอย่างมาก บริษัทจัดการกองทุนหลายแห่งได้ออกกองทุนยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากข้อมูลล่าสุดของมอร์นิ่งสตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการข้อมูลและวิจัยเกี่ยวกับการลงทุนระดับโลก พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2564   กองทุนยั่งยืนทั่วโลกมีมูลค่าทรัพย์สินรวมสูงถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ จากจำนวนกองทุนมากกว่า 7,000 กองทุน ขณะที่กองทุนยั่งยืนในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 70 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท

 

กองทุนเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นมากโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาในปี 2563-2564 ที่ส่งผลให้ตลาดการลงทุนทั่วโลกมีความผันผวน  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผลตอบแทนที่สูงเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG  เพื่อช่วยให้มองความเสี่ยงได้รอบด้านมากยิ่งขึ้น

ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของทั้งอุปสงค์และอุปทานในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG  ตัวช่วยในการพิจารณาเลือกสินทรัพย์หรือบริษัทที่จะลงทุนโดยมุ่งเน้นที่ตัวชี้วัดด้าน ESG โดยเฉพาะ คือการจัดอันดับด้าน ESG (ESG Rating) โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อช่วยนักลงทุนแจกแจงถึงผลการดำเนินงานและความมุ่งมั่น ในการนำประเด็นทางด้าน ESG มาพิจารณาในกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัท โดยนำปัจจัยในเชิงคุณภาพมาเป็นตัวชี้วัดเพื่อทำให้เข้าใจแต่ละบริษัทในแง่มุมที่สมบูรณ์มากขึ้น และยังพิจารณาครอบคลุมถึงผลลัพธ์และผลกระทบ มากกว่าการพิจารณาในด้านนโยบายของบริษัทเท่านั้น

ESG Rating ได้รับการออกแบบเพื่อช่วยให้ผู้เล่นในตลาดทุนได้เห็นถึงความแตกต่างในด้านคุณภาพในเรื่องของ ESG ของแต่ละบริษัท อาทิ ฟิทซ์เรทติ้ง ได้จัดอันดับองค์กรในด้าน ESG โดยมีระดับ 1-5 โดย ระดับ 1 จะหมายถึงมี ESG Rating ที่สูงที่สุด โดยมีการระบุระดับคะแนน 0 – 100 เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำข้อมูลมาใช้พิจารณาเชิงปริมาณได้ละเอียดมากขึ้น โดยมีเกณฑ์การจัดอันดับดังนี้

1) Entity Information วิเคราะห์ด้านกลยุทธ์ในการดำเนินงานอย่างยั่งยืน พันธสัญญา และการรายงานของบริษัท

2) Business Activities วิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สอดคล้องกับเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ซึ่งสะท้อนวัตถุประสงค์ของโครงการ (Taxonomy) ที่เป็นสากล

3) Environmental Profile วิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ อาทิ นโยบาย การเปิดเผยข้อมูล วิวัฒนาการ เป้าหมายและห่วงโซ่อุปทาน และผลจากการดูแลทางด้านสิ่งแวดล้อม

4) Social Profile วิเคราะห์ด้านสังคมในมิติต่างๆ อาทิ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ความหลากหลาย สังคมและลูกค้า เป้าหมายและห่วงโซ่อุปทาน และผลจากการดูแลทางด้านสังคม และ

5) Governance Profile วิเคราะห์ในด้านการกำกับดูแลกิจการในด้านต่างๆ อาทิ การรายงานทางการเงิน ผู้บริหารระดับสูงและการควบคุม ค่าตอบแทน การบริหารความเสี่ยง และการจัดการทางด้านภาษี

การจัดอันดับบริษัทในด้านESG นี้ช่วยสะท้อนถึงความพยายามและประสิทธิภาพในดำเนินการธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ช่วยปรับปรุงภาพลักษณ์ขององค์กร อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่สถาบันการเงิน บริษัทจัดการการลงทุนนำมาพิจารณาในกระบวนการคัดกรองการลงทุน การจัดอันดับ ESG ที่ดีสามารถช่วยบริษัทต่างๆ ดึงดูดการลงทุนและลดต้นทุนการจัดหาเงินทุนได้ จึงถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ให้ประโยชน์แก่ทั้งผู้ลงทุนและบรรดาธุรกิจเองในยุคที่ความยั่งยืนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ขาดไม่ได้ครับ