ตัวกลางและความกดดัน

ตัวกลางและความกดดัน

การคิดบวกจะทำให้มีมุมมองที่เป็นบวก และมีกำลังใจให้ก้าวเดินต่อไป

ความกดดันที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริหารระดับกลางส่วนมากมักจะหนีไม่พ้นเรื่องของการเป็นตัวกลางระหว่างผู้บริหารระดับสูงสุดหรือเจ้าของกิจการ กับทีมงานที่เป็นพนักงานทั่วไป ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ล้วนมีความคาดหวังให้ผู้บริหารช่วยจัดการให้ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด

เช่นเดียวกับบทบาทการเป็นคนกลางภายในครอบครัว ซึ่งบ้านเรายังมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายที่อยู่รวมกันทั้งครอบครัวเดิมกับครอบครัวใหม่ คือมีทั้งพ่อแม่ของเรา อยู่ร่วมกับครอบครัวปัจจุบันที่มีสามี ภรรยาและลูกๆ ผู้บริหารคนเดิมนอกจากรับบทเป็นตัวกลางในที่ทำงานแล้วจึงต้องเป็นตัวกลางในครอบครัวด้วยอีกบทบาทหนึ่ง

การเป็นตัวกลางในทั้ง 2 มิติเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรกับแซนด์วิชที่ตัวกลางต้องถูกประกบทั้งด้านล่างและด้านบน คือมีความคาดหวังจากทั้ง 2 ฝ่าย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ผู้บริหารในระดับนี้ที่อายุอานามอยู่ระหว่าง 30 กว่าๆ - 50 ปีจะมีความเครียดและความกดดันสูงกว่าคนในวัยอื่น

หากย้อนเวลากลับไปสมัยวัยรุ่น ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนอยากเป็นผู้ใหญ่เพราะไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ในกรอบที่ต้องตื่นแต่เช้ามาเรียนหนังสือ ต้องทำตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียน ฯลฯ แต่พอมาเป็นผู้ใหญ่แล้วหลายคนอยากขอกลับไปเป็นเด็กเหมือนเดิมเพราะภาระรับผิดชอบเยอะเกินกว่าที่คิดไว้มากและยังต้องเจอกับภาวะแซนด์วิชข้างต้นซึ่งมีความรับผิดชอบคล้ายๆ กันนั่นคือ

ประการแรก ต้องดูแลพ่อแม่ซึ่งเริ่มเข้าสู่วัยชรา จึงต้องการทั้งเวลาในการพาไปรักษารวมถึงรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เพราะคนวัยนี้มักจะมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่าเดิมมาก เวลาว่างจึงมักไม่ค่อยจะมี

ยิ่งเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาหากไม่ได้มีเงินออมสะสมไว้ก็จะยิ่งเป็นภาระมากยิ่งขึ้น หรือถ้าพ่อแม่ของเรามีลูกช้า ก็ยิ่งมีอายุมากจนอาจมีหลายโรครุมเร้า ภาระรับผิดชอบในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สร้างความกดดันให้ไม่น้อย

ผมไม่อยากให้มองเรื่องการดูแลพ่อแม่เป็นปัญหาแต่อยากให้มองเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ และหากมองในแง่บวกก็จะเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเรามาจนโต การคิดบวกจะทำให้เรามีมุมมองที่เป็นบวก และมีกำลังใจให้ก้าวเดินต่อไป

ประการที่สองคือ ด้านเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเติบโตมาถึงระดับผู้บริหารภาระค่าใช้จ่ายก็จะมากขึ้นตามไปด้วย นอกเหนือจากการผ่อนบ้าน ผ่านรถ ค่าเล่าเรียนลูก ฯลฯ และต้องดูแลพ่อแม่ตามข้อแรก ทุกอย่างล้วนต้องใช้เงินเป็นปัจจัยสำคัญ

แต่ละปีที่ผ่านไปแม้จะได้เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นก็ยังดูเหมือนจะไม่พอสำหรับค่าใช่จ่ายที่สูงขึ้นตามไปด้วย ยิ่งวัยนี้ยิ่งต้องคิดถึงชีวิตหลังเกษียณอายุก็ต้องวางแผนเรื่องเงินออม ซึ่งหมายถึงต้องมีเงินเก็บมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่ได้เตรียมไว้เลยก็จะกลายเป็นความกดดันในชีวิตทีละน้อยๆ โดยไม่รู้ตัว

ปัญหาด้านการเงินด้านเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องมีวิธีบริหารจัดการให้ดี อย่าปล่อยให้กลายเป็นดินพอกหางหมู การออมต้องมีกลยุทธ์ที่ดี รวมถืงการใช้ประกันชีวิตและการประกันสุขภาพ มาเป็นตัวช่วยทั้งในด้านการกระจายความเสี่ยงและการออมระยะยาว

เมื่อเราจัดการปัญหาได้ทีละน้อยๆ ความกดดันในชีวิตก็จะลดลง ทำให้เราได้ความสุขกลับคืนมาในที่สุด 

...ติดตามประเด็นอื่นๆ ต่อ ในสัปดาห์หน้าครับ ...