10 ธีมที่กระทบการลงทุนในปี 2022 - ตอนที่ 2

10 ธีมที่กระทบการลงทุนในปี 2022 - ตอนที่ 2

ในตอนที่แล้วเราพูดถึงภาพใหญ่ของ 3 ธีมแรกที่กระทบการลงทุนในปี 2022 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่น่าจะเติบโตช้าลง เงินเฟ้อที่ยังคงกดดัน โดยล่าสุดเองธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยืนยันปัญหาเงินเฟ้ออาจจะไม่ใช่ชั่วคราวอีกต่อไป

และสุดท้ายคือเรื่องของบทบาทภาคการเมืองต่อนโยบายเศรษฐกิจที่น่าจะมีให้เห็นกันต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน ในสัปดาห์นี้เราจะมาพูดกันถึงธีมต่อๆ ไปกันครับ ..

ธีมสี่ บทบาทของ ESG, Net Zero และความยั่งยืน จะมีความสำคัญมากขึ้น

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ในช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นอีกความพยายามของประเทศต่างๆ

ในการทำงานที่มุ่งมั่นไปในเป้าหมายเดียวกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้โดยบทเรียนที่ผ่านๆ มาไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณะสุข บรรษัทภิบาล รวมถึงความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยย้ำเตือนให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวและมีส่วนร่วมต่อปัญหาในระยะยาวอย่างจริงๆ จังมากขึ้นเรื่อยๆ 

ภาคการเงินเองก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่น่าจะมีให้เลือกมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) หรือกลุ่มตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond)

ที่อัตราดอกเบี้ยสามารถปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงตามดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicators) ของผู้ออกตราสาร หุ้นยั่งยืน หรือกองทุนที่เน้นลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดีควบคู่ไปกับการแสวงหาผลกำไร

ทำให้ผู้ลงทุนสามารถมีส่วนต่อการผลักดันประเด็นต่างๆ เหล่านี้ทางอ้อมได้ โดยกลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องไปกับความยั่งยืนยังคงน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มในระยะยาว เช่น กลุ่มพลังงานสะอาด เทคโนโลยีสีเขียว และรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ธีมห้า ดอกเบี้ยขาขึ้น

ปี 2022 จะเป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินที่สำคัญอย่างแท้จริง โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 เราเริ่มเห็นหลายๆ ประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันไปบ้างแล้ว แต่ในปีหน้ากลุ่มประเทศหลักจะเริ่มทยอยลดความผ่อนคลายของนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญ และอาจต่อเนื่องไปถึงการขึ้นดอกเบี้ยด้วย นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ประกาศการแผนการลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรตั้งแต่เดือน พ.ย. และล่าสุดอาจจะลดวงเงินในอัตราที่เร็วขึ้นกว่าที่เคยสื่อสารไว้ หลังเงินเฟ้อยังพุ่งแรงต่อเนื่อง

 โดยแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ โดยเฉพาะตราสารหนี้ ทั้งในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน แม้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชน (Credit Spread) น่าจะยังแคบอยู่ สะท้อนความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จากวัฏจักรของเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวไปจนถึงขยายตัว แต่การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้ราคาของตราสารหนี้ลดลง และลดทอนผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน กลยุทธ์การถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นลงกว่าที่ผ่านมายังน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในปีหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่ยังคงมีแรงกดดันเงินเฟ้อ ที่จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในนโยบายการเงิน และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย

ธีมหก การกระจายการลงทุน และแหล่งรายได้

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่มีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องในปีหน้า การขึ้นดอกเบี้ย และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่น่าจะยังแคบอยู่ อาจผลักดันให้นักลงทุนกระจายการลงทุนเพื่อหากระแสเงินสดเพิ่มเติม หรืออาจะต้องเพิ่มระดับความเสี่ยงในการลงทุนมากขึ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เพียงพอและสร้างกระแสเงินสดที่มากขึ้น

โดยทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจในในปีหน้าอาจะรวมถึงกลุ่มหุ้นกู้อนุพันธ์ หุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำลงไป หรือแม้แต่กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ แต่ทั้งนี้ผู้ลงทุนจำเป็นจะต้องพิจาณาให้รอบคอบ ทำความเข้าใจความเสี่ยงและแหล่งที่มาของผลตอบแทน และเลือกการลงทุนที่ตอบโจทย์กับผู้ลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย

ธีมเจ็ด เงินเฟ้อกับระดับราคาซื้อขายของหุ้นที่เปลี่ยนไป

ในทางทฤษฏีแล้ว หุ้นนับเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยปกป้องอำนาจซื้อที่ต่ำลงในช่วงเงินเฟ้อสูงได้ดี เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงน่าจะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้นตาม และส่งผลดีต่อราคาหุ้นด้วย อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่สูงมักมาพร้อมกับดอกเบี้ยในอนาคตที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงแนวโน้มในปีหน้าด้วยเช่นกัน

โดยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ระดับราคาซื้อขายของหุ้นนั้นลดต่ำลง เนื่องจากดอกเบี้ยคิดลด (Discount Rate) ที่เพิ่มขึ้น หรือพิจารณาง่ายๆ ว่าราคาของหุ้นคือมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคตทั้งหมด ดังนั้นหากดอกเบี้ยสูงขึ้นมูลค่าในปัจจุบันของหุ้นก็จะลดต่ำลง ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวสะท้อนอยู่อย่างชัดเจนอย่างน้อยก็ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

นอกจากนั้นนักลงทุนยังคงจะต้องเลือกกลยุทธ์การลงทุนในสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินนปีหน้าด้วยเช่นกัน เช่น อาจพิจารณากลุ่มวัฏจักร (Cyclical) มากกว่ากลุ่มปลอดภัย (Defensive) กลุ่มมูลค่า (Value) มากกว่ากลุ่ม (Growth) รวมถึงการเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมด้วย โดยกลุ่มที่อาจจะเหมาะกับภาวะปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มพลังงาน สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงกลุ่มการเงิน เป็นต้น 

 ดังนั้นในปีหน้าภาพรวมของหุ้นอาจจะไม่สดใสเท่ากับปีที่ผ่านมา แม้จะไม่น่ากังวลเนื่องจากดอกเบี้ยมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวขึ้น แต่เงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงยังคงทำให้นักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกลงทุนเนื่องจากอาจไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมที่จะเป็นผู้ชนะในธีมเศรษฐกิจปีหน้า

ยังมีอีกหลายธีมที่น่าจะส่งผลกระทบกับการลงทุน ซึ่งเราจะมาว่ากันต่อในสัปดาห์หน้าซึ่งจะเป็นตอนสุดท้ายของ 10 ธีมการลงทุนรับปี 2022 กันครับ

 Disclaimer บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด