บีโอไอหนุนผู้ประกอบการ ร่วมมาตรการเศรษฐกิจฐานราก กู้วิกฤตน้ำท่วม

บีโอไอหนุนผู้ประกอบการ ร่วมมาตรการเศรษฐกิจฐานราก กู้วิกฤตน้ำท่วม

บีโอไอส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพช่วยเหลือองค์กรท้องถิ่นทั้งวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วยพื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากจากสถานการณ์น้ำท่วม

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้กิจการขององค์กรท้องถิ่นทั้งวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับผลกระทบจำนวนมาก บีโอไอเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เข้าร่วมช่วยเหลือองค์กรท้องถิ่นผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง

นอกเหนือจากนี้ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับกิจการขององค์กรท้องถิ่น โดยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต และการบริการขององค์กรท้องถิ่น ในกิจการด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูปกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเบาและกิจการท่องเที่ยวชุมชน

มาตรการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขอรับสิทธิและประโยชน์ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นมายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปีสัดส่วนไม่เกิน 120% ของเงินสนับสนุน หรือเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 120% ของเงินสนับสนุนแล้วแต่กรณี

 

โดยโครงการที่สามารถขอรับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานรากแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ กรณีที่ 1 โครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วไม่ว่าจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ก็ตาม จะต้องอยู่ในประเภทกิจการที่บีโอไอประกาศให้การส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน หรือโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม สิทธิและประโยชน์ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลงแล้วหรือเป็นโครงการที่ไม่ได้รับสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

ส่วนกรณีที่ 2 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิมโดยสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลยังไม่สิ้นสุดลง หรือเป็นโครงการลงทุนใหม่ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

“เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานรากจึงมุ่งเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าไปมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุนเทคโนโลยีหรือเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อช่วยบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม แก้ไขทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเช่นสถานการณ์นำท่วมที่หลายพื้นที่กำลังประสบอยู่ขณะนี้

โดยการช่วยเหลือเพื่อบริหารจัดการน้ำสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบตามสภาพพื้นที่ เช่น การก่อสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ การขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำ การสนับสนุนการสร้างพนังกั้นน้ำ การลงทุนและขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาล การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Recycle Plant) การนำเทคโนโลยีการบำบัดน้ำแบบReverse Osmosis (RO) มาติดตั้งในชุมชนเป็นต้น” เลขาธิการบีโอไอกล่าว