พร้อมไหม สังคมสมองเสื่อม? | วิทยา ด่านธำรงกูล

พร้อมไหม สังคมสมองเสื่อม? | วิทยา ด่านธำรงกูล

เชื่อหรือไม่ว่าทุกๆ 3.2 วินาที จะมีคนถูกวินิจฉัยว่าเป็น "โรคสมองเสื่อม" เพิ่มขึ้นหนึ่งคนในโลกใบนี้ ข่าวร้ายกว่านั้นคือพบว่าเริ่มมีคนที่มีอาการสมองเสื่อมก่อนอายุ 65 ปีเพิ่มมากขึ้น

โรคสมองเสื่อม (Dementia) กลายเป็นวิกฤตระดับโลกไปแล้ว ปี 2020 มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้กว่า 55 ล้านคน ประมาณว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเป็น 152 ล้านคนในปี 2050 จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่ผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเช่น จีน อินเดีย และอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งไทย

โรคสมองเสื่อมเป็นคำที่ครอบคลุมอาการทั้งปวงที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง อาการที่อยู่ในข่ายมีตั้งแต่การสูญเสียความทรงจำ สติปัญญา การเรียนรู้ การรับรู้ การพูด การเคลื่อนไหว การแก้ปัญหา การตัดสินใจ การจดจ่อ ไปจนถึงการสมาคมกับคนรอบตัว ความผิดปกติเหล่านี้ส่งผลให้อารมณ์และพฤติกรรมแปรปรวนยากจะควบคุม โรคสมองเสื่อมสร้างผลกระทบกับผู้ป่วย สมาชิกในครอบครัวและสังคมในวงกว้าง ที่สำคัญยังไม่มีวิธีการป้องกันหรือรักษาที่ทรงประสิทธิภาพในปัจจุบัน ข่าวร้ายกว่านั้นคือพบว่าเริ่มมีคนที่มีอาการสมองเสื่อมก่อนอายุ 65 ปีเพิ่มมากขึ้น 

ปี 2019 ทั้งโลกเสียค่าใช้จ่ายไปกับโรคนี้ราว 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  เป็นค่าใช้จ่ายทางการแพทย์โดยตรง ค่าใช้จ่ายเชิงสังคมสงเคราะห์ผ่านชุมชนและหน่วยงานรัฐ รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่ครอบครัวช่วยกันดูแลเอง คาดว่าค่าใช้จ่ายนี้จะเพิ่มเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2030 ยิ่งประเทศก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยมากเท่าไร จะยิ่งสร้างปัญหาทั้งเศรษฐกิจและสังคมเป็นเงาตามตัว 

ประเทศที่น่าจะนำมาเป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการปัญหาเรื่องนี้คือ "ญี่ปุ่น"  รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนระยะ 5 ปีที่เรียกว่า Orange Plan เพื่อจัดการกับโรคสมองเสื่อมเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2012 โดยสร้างระบบดูแลแบบบูรณาการคนป่วยและคนในครอบครัว เพราะว่าโรคนี้บั่นทอนทั้งคนป่วยเองและคนในครอบครัวทั้งทางร่างกาย จิตใจ และเงินทองด้วย แผนที่ว่านี้ใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน เพราะต้องการให้คนที่เป็นโรคสมองเสื่อมได้อยู่ในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มด้วยการสร้างความเข้าใจว่า โรคสมองเสื่อมเป็นโรคธรรมดาที่เกิดได้กับทุกคน มีการระดมฝึกอบรมให้คนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องที่จะสามารถช่วยผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม และสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยทั้งในชุมชนและในที่ทำงานได้ ตั้งเป้าอบรมคน 12 ล้านคนภายในปี 2020 มีการอบรมแพทย์ดูแลทั่วไป (primary care doctors) เพื่อยกระดับความรู้ให้ช่วยผู้ป่วยสมองเสื่อมได้ หรือสามารถพัฒนาเป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองเสื่อมโดยเฉพาะในอนาคต จัดตั้งศูนย์การแพทย์ด้านโรคสมองเสื่อมในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้บริการในชุมชน 

ทุกเขตเทศบาลมีการสร้างระบบทีมนำร่อง ที่มีทั้งแพทย์ พยาบาล นักกายภาพ และอื่นๆ ออกเยี่ยมคนไข้สมองเสื่อม หรือผู้สงสัยว่าจะเป็นสมองเสื่อมตามบ้าน เพื่อประเมินอาการ ให้คำแนะนำหรือความช่วยเหลือแก่ครอบครัวตามสภาพของคนไข้  ทำการกำหนดเส้นทางการดูแลรักษาผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม เพื่อประสานหน้าที่ของทีมงานบนพื้นฐานทรัพยากรที่มีและพัฒนาการของอาการคนไข้ มีการตั้งศูนย์สนับสนุนประจำชุมชน เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือ รับแจ้งเหตุ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม ผู้ที่จะเข้ามาทำงานในศูนย์ต้องมีความรู้หรือประสบการณ์ในระดับวิชาชีพทางการแพทย์หรือด้านสังคมสงเคราะห์เป็นอย่างน้อย

มีการตั้งคอลล์เซ็นเตอร์และเคาน์เตอร์ให้คำปรึกษาสำหรับคนที่กำลังเริ่มต้นมีอาการโรคสมองเสื่อม ให้การสนับสนุนครอบครัวผู้มีอาการ ผู้ดูแล ไปจนบริษัทนายจ้างของผู้มีอาการด้วย รัฐทำคู่มือโรคสมองเสื่อมแจกจ่าย

มีการจัดงานอีเว้นต์ทั่วประเทศอย่างคึกคักที่เรียกว่า “อัลไซเมอร์ คาเฟ่” เป็นงานที่ให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้มาพูดคุยสังสรรค์กับทุกฝ่ายเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม จัดประกวดชุมชนที่ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกบ้านให้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้เป็นโรคสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสออกมาทำงานและพบปะผู้คนมากขึ้น

ภายใต้มาตรการทั้งหลายข้างต้น สิ่งสำคัญที่สุดคือมุมมอง มุมคิดของผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมาเป็นอันดับแรก การจัดกิจกรรม การเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้แลกเปลี่ยนความคิด ความต้องการ ปัญหา อุปสรรคกับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยอื่นๆ เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องและกว้างขวาง  ผู้ป่วยสมองเสื่อมไม่ใช่ผู้ป่วยติดเตียง ขอเพียงมุมมองของผู้ดูแลและสังคมทั่วไปเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยสมองเสื่อมก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของชีวิต

ปีหน้าหรือปีถัดไป หากจะมีการเลือกตั้ง ควรจะมีพรรคการเมืองเอาเรื่องสังคมสมองเสื่อมมาเป็นนโยบายด้วย เรื่องนี้ไม่ได้ไกลตัวเลย มีญี่ปุ่นเป็นต้นแบบให้แล้ว วางแผนกันแต่เนิ่นๆ โรคสมองเสื่อมจะได้ไม่เป็นปัญหากัดกร่อนบ้านเมืองในอนาคต ว่าแต่นักการเมืองอย่าทำสมองเสื่อมจนลืมเรื่องสำคัญอย่างนี้ก็แล้วกัน.